×
SCB Omnibus Fund 2024

ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ‘แสนสิริ’ ประกาศทำ ‘คอนโดแมส’ ราคา 1 ล้านต้นๆ ถึง 2 ล้าน เจาะ 4 ทำเล รัชดา, เกษตรฯ, รามคำแหง และบางนา

21.01.2021
  • LOADING...
ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ‘แสนสิริ’ ประกาศทำ ‘คอนโดแมส’ ราคา 1 ล้านต้นๆ ถึง 2 ล้าน เจาะ 4 ทำเล รัชดา, เกษตรฯ, รามคำแหง และบางนา

ปกติแล้วเวลา ‘แสนสิริ’ พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ มักจะเน้นจับตลาดกลาง-บน ราคา 3-10 ล้านบาท จึงถือเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุด แต่สำหรับปี 2564 ซึ่งยังมีความท้าทายครั้งใหญ่คือ ‘วิกฤตโควิด-19’ ที่ยังส่งผลกระทบและกดดันธุรกิจต่อไป ทำให้แสนสิริได้ปรับแผนใหม่ โดยสิ่งที่น่าจับตามากที่สุดคือประกาศทำ ‘คอนโดแมส’ ในระดับราคา 1 ล้านต้นๆ ถึง 2 ล้าน

 

“แสนสิริจะเปิดตัวโครงการในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบ้านของคนทุกกลุ่ม” เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมักจะปรากฏตัวอย่างเป็นทางการปีละครั้งในงานแถลงข่าวประจำปีกล่าว

 

ในปี 2564 แสนสิริได้วางเป้าหมายพัฒนาโครงการใหม่ไว้ 24 โครงการ รวมมูลค่า 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งเปิดตัวโครงการใหม่ไปทั้งสิ้น 12 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ในแผนปีนี้แบ่งเป็นการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว 7 โครงการ มูลค่ารวม 12,300 ล้านบาท และทาวน์โฮมและมิกซ์โปรเจกต์ 12 โครงการ มูลค่ารวม 9,600 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ สิริ เพลส, อณาสิริ, สราญสิริ และ บุราสิริ อีกทั้งยังจะมีการขยายฐานลูกค้าในเซกเมนต์ลักชัวรีด้วยสินค้าใหม่ ทั้งทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว 3 ชั้นภายใต้แบรนด์ใหม่

 

ด้านคอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่ารวม 4,100 ล้านบาท อยู่ในเซกเมนต์ Affordable และ Medium เป็นหลัก ซึ่งโครงการคอนโดถือเป็นไฮไลต์ที่สำคัญในปีนี้เพราะจะมีการเปิดตัวภายใต้แบรนด์ใหม่ เจาะกลุ่ม Young Generation หรืออายุ 18-30 ปีในทำเลคอมมูนิตี้เมือง อาทิ รัชดา, เกษตรฯ, รามคำแหง และบางนา ในระดับราคาที่เข้าถึงง่ายเริ่มต้นเพียง 1.xx ล้านบาทเท่านั้น

 

“เราไม่ได้ทำโครงการระดับราคานี้ (1 ล้านต้นๆ ถึง 2 ล้าน) มาเป็น 10 ปีแล้ว” เศรษฐา กล่าว และแม้การทำโครงการแมสจะทำให้แสนสิริเข้าถึงฐานลูกค้ามากขึ้นก็จริง แต่ก็แลกมากับความท้าทายครั้งใหญ่คือ ‘ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ’ ซึ่งในปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้นเป็น 30% และปีนี้ตัวเลขก็คงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เผลอๆ จะมากขึ้นด้วยกัน แต่เศรษฐาก็เชื่อว่าความต้องการยังมีอยู่ต่อเนื่อง

 

และถึงแม้ว่าตั้งแต่ต้นปีนี้แสนสิริจะนำนำโปรโมชันผ่อนให้ 24 เดือนกลับมาอีกเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ถึงกระนั้นแสนสิริก็วางเป้าหมายยอดขายปี 2564 ไว้ที่ 26,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเป้ายอดขายแนวราบ 16,000 ล้านบาท และเป้ายอดขายคอนโดมิเนียม 10,000 ล้านบาท 

 

รวมทั้งวางเป้าหมายการโอนไว้ 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเป้าโอนโครงการแนวราบ 16,000 ล้านบาท และเป้าโอนคอนโดมิเนียม 11,000 ล้านบาท ขณะที่แสนสิริยังมียอดขายรอโอนรองรับการเติบโตระยะยาวในอีก 3 ปีอีกถึง 27,700 ล้านบาท 

 

ด้านงบซื้อที่ดินอยู่ที่ 5,000-8,000 ล้านบาท ความน่าสนใจอยู่ที่เศรษฐาระบุว่า วิกฤตโควิด-19 จะทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีสายป่านไม่ยาวบางแห่งอาจจะต้องนำโครงการที่มีอยู่ในมือหรือที่ดินเปล่าออกมาขาย ซึ่งจะเป็นโอกาสให้รายใหญ่เข้ามาซื้อ ดังนั้นแสนสิริจึงพร้อมเข้าซื้อโครงการเหล่านี้ซึ่งมีติดต่อมาบ้างแล้ว และได้ซื้อที่ดินเปล่าไปบางแห่งด้วย 

 

สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นปีที่เศรษฐายกให้เป็น ‘อภิมหาวิกฤต’ ที่กระทบไปทั่วโลก และทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวกว่า 6.6% ถึงจะน้อยกว่าปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เศรษฐาบอกว่าวิกฤตนี้สร้างผลกระทบเยอะกว่า แก้ไขได้ยากกว่า ทั้งหนี้ครัวเรือนในระดับสูง กำลังซื้อที่หดตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าจนกระทบการส่งออก

 

กระนั้นด้วยการวาง 3 แกนหลัก ‘Speed to Market-Customer Centric Strategy-Cash Flow Strategy’ ก็ทำให้แสนสิริปิดปีแห่งความยากลำบากด้วยยอดขายที่ทำได้ตามเป้าหมาย 35,000 ล้านบาท สร้างผลงานปิดการขายโครงการที่อยู่อาศัยไปถึง 35 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 64,600 ล้านบาท มียอดโอนโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่สร้างเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าไปถึง 45,000 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนถึง 45% เกินเป้าหมายและสร้างประวัติศาสต์การโอนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของแสนสิริที่เคยทำได้ในรอบ 36 ปี

 

และทำให้มีเงินสดกลับมาในมือ (Cash is King) ลดอัตราหนี้สินและมีสภาพคล่องในมือกว่า 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้ Gearing Ratio ลดลงจาก 1.7 อยู่ที่ 1.3

 

อย่างไรก็ตามเศรษฐากล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งยังมีการระบาดของโควิด-19 จึงยังมีความน่าเป็นห่วง เพราะถ้าไม่มีการซื้อขายบ้าน ธุรกรรมหลายๆ อย่างก็จะหยุดชะงักไปด้วย ทั้งการซื้อวัสดุก่อสร้าง สี อิฐ หิน ปูน ทราย เฟอนิเจอร์ เครื่องครัว หลอดไฟ สุขภัณฑ์ ฯลฯ ก็จะโดนกระทบทั้งหมด อสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ให้ Multiplier Effect สูงสุด

 

ทางรัฐจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ โดยการใช้มาตรการกระตุ้นในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน หักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยค่าใช้จ่ายจากการผ่อนบ้านในอัตราที่สูงขึ้น ขยายระยะเวลาการเช่าระยะยาวจาก 30 ปีเป็น 99 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมไปถึงเสนอให้มีการยกเลิกมาตรการ LTV อีกด้วย 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising