×

ส.ส. ประชาธิปัตย์ เผยที่ราชบุรีเลื่อนฉีดวัคซีน 3 วัน แนะรัฐใช้เงินกู้อุดหนุนงบฉีดวัคซีนให้กับ อบจ. ทุกจังหวัด

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2021
  • LOADING...
ราชบุรี เลื่อน ฉีดวัคซีน

วันนี้ (9 มิถุนายน) อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดและติดเชื้อของโรคไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม โดยระบุว่า 

 

ขอพูดถึงการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาลในการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ของสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะมีกลุ่มการเมืองนำไปบิดเบือนในโซเชียลมีเดียว่า การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลได้อภิปรายติติงและให้ข้อเสนอแนะแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาล แล้วได้ลงมติผ่านความเห็นชอบให้พระราชบัญญัติงบประมาณฯ นั้น ส่วนตัวขอชี้แจงว่าเป็นการติเพื่อก่อ เพื่อให้ทางรัฐบาลได้รับไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ส่วนเรื่องการลงมติที่จะพิจารณาให้ผ่านหรือไม่ผ่านนั้น เป็นการพิจารณาโดยดุลพินิจเพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญต่อบ้านเมือง มีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชน และเพื่อให้รัฐบาลสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 

 

สำหรับในเรื่องของ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมานั้น มีการแบ่งเป็น 3 ก้อน ในส่วนของงบเยียวยา ถือว่ารัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินไปตามโควตาของกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และได้มีการขอต่อสภา ส่วนที่มีปัญหาก็คือในส่วนของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลนั้นได้ตั้งกรอบวงเงินไปแล้วมีการเบิกจ่ายช้า ตนในฐานะที่เป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณติดตามเงินกู้ จึงขอชี้แจงไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึง ครม. และสภาพัฒน์ ที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลงบประมาณก้อนนี้โดยตรงว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ เพราะว่าหากยังบริหารจัดการเหมือนเดิมปัญหาก็จะเกิดเหมือนเดิม กล่าวคือ นอกจากโครงการล่าช้าแล้ว เม็ดเงินก็จะไม่ไปถึงระบบเศรษฐกิจ แล้วจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร

 

“ในฐานะ ส.ส. ได้เคยนำปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำปัญหาความเดือดร้อนเข้าไป ซึ่งคณะกรรมาธิการก็มีความเห็นว่าสามารถที่จะใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจงบฯ โควิด-19 นี้ได้ แต่พอไปถึงคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของสภาพัฒน์ก็ไม่ผ่าน ทำให้เสียเวลาพี่น้องประชาชนในการที่จะนำงบประมาณไปช่วยเหลือ เพื่อที่จะนำงบตรงนี้ไประบายน้ำนมดิบของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สุดท้ายก็ต้องใช้เงินงบกลางของทางสำนักนายกรัฐมนตรี จึงอยากจะฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาว่า อยากให้เปลี่ยนวิธีในการบริหารจัดการงบก้อนนี้” อัครเดชกล่าว

 

อัครเดชกล่าวต่อไปว่า  ขอให้รัฐบาลรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่าน ส.ส. เนื่องจาก ส.ส. อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน เมื่อมีความเดือดร้อนของประชาชนส่งมาถึง ส.ส. แล้ว ก็อยากให้ได้รับฟังความเดือดร้อนนั้น เพื่อให้นำไปทำเป็นโครงการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ใช่มีสภาแล้วท่านก็ฟังพอถึงเวลามาท่านก็ไปทำอะไร มองสภาเป็นตรายาง มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” 

 

สำหรับเรื่องที่ 2 ในส่วนแผนงานกระทรวงสาธารณสุข จาก พ.ร.ก. กู้เงินที่ผ่านมาที่ได้อนุมัติไป ก็มีการเบิกจ่ายแบบล่าช้า เพราะหากใช้ได้เร็วและตรงประเด็นก็จะทำให้เกิดการจัดหาวัคซีนมาให้กับพี่น้องประชาชน และรัฐบาลสามารถกระจายวัคซีนได้ตามเวลาที่นัดหมายกับพี่น้องประชาชน ระบบเศรษฐกิจก็จะสามารถกลับมาสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว พี่น้องประชาชนสามารถทำมาหากินได้ และเงินกู้ที่จะกู้เพื่อไปฟื้นฟูก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาก 

 

“ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อ 2 วันที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนตามแผนก็คือวันที่ 7, 8 แต่ 9-11 มิถุนายนนี้ 3 วัน มีการประกาศยกเลิกการฉีดวัคซีนไปแล้ว ทั้งๆ ที่จังหวัดราชบุรีมีกลุ่มคลัสเตอร์อยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แต่วันนี้วัคซีนยังไปไม่ถึงโรงพยาบาลที่เป็นจุดนัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ดังนั้น ขอให้ทางรัฐบาลได้ปรับแผนในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน” 

 

นอกจากนี้ อัครเดชยังเสนออีกด้วยว่า เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีความพร้อมที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชน มีบุคลากร มีงบประมาณ รัฐบาลไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำว่าจังหวัดไหนมีงบเยอะจังหวัดไหนมีงบน้อย หรือเป็นห่วงว่าจะไม่ทั่วถึง ดังนั้น จึงขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมาช่วยในการฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนอีกช่องทางหนึ่ง และให้เชื่อมฐานข้อมูล เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนระยะเวลาในการฉีดวัคซีน ที่จะผ่านกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว จาก 6 เดือนก็ได้กลายเป็น 3 หรือ 4 เดือน เพื่อที่จะได้ให้พี่น้องประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และสภาพเศรษฐกิจและสังคมจะได้กลับมาเร็ว 

 

“เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดใช้เงินงบประมาณไป ท่านกลัวเรื่องความเหลื่อมล้ำในจังหวัดที่มีงบประมาณไม่เพียงพอ ท่านก็ใช้งบ 3 หมื่นล้านบาทที่ขอไปมาอุดหนุนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด คืนงบประมาณให้เข้าไป เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้เป็นช่องทางในการฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนได้ หากกังวลว่าจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ใน พ.ร.ก. นั้น ก็ไม่เชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ท่านจะแก้หรือไม่แก้ เงินก้อนนี้สามารถอุดหนุนเงินสำหรับฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนผ่านองค์การทั่วประเทศได้” อัครเดชกล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising