×

การเมืองเรื่องบังเอิญใน ‘กากแคดเมียม’ รัฐบาลตรวจสอบรัฐบาล เรื่องนี้ต้องมีผู้ร้าย?

โดย THE STANDARD TEAM
18.04.2024
  • LOADING...

เสมือนกับภารกิจวัดใจรัฐบาล สำหรับการขนย้ายกากแร่แคดเมียมออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ไปฝังกลบที่จังหวัดตาก กระบวนการนี้กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่าย ทว่าผู้ที่ตื่นตัวกับประเด็นนี้ที่สุดกลับไม่ใช่ฝ่ายค้าน แต่กลายเป็น สส. ฝ่ายรัฐบาลมาตรวจสอบรัฐบาลอย่างแข็งขันเสียเอง!

 

วานนี้ (17 เมษายน) อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ใช้ฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจเก็บกู้แคดเมียมให้มาชี้แจงด่วนที่รัฐสภา

 

ไม่ว่านี่จะเป็นการทำหน้าที่ถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติตามปกติ หรือจะมีเงื่อนงำทางการเมืองก็ตาม THE STANDARD ชวนมาดูว่าเรารู้อะไรมากขึ้นบ้างหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ

 

แผนขนย้ายยังบกพร่อง?

 

ในห้องประชุม อัครเดชเปิดฉากด้วยการซักถาม ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมาชี้แจงในนามของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าเหตุใดจึงยังไม่จัดเก็บกากแร่แคดเมียมกว่า 12,400 ตันที่อายัดไว้ บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างรอขนย้าย ซึ่งจะมิดชิดและสร้างความสบายใจให้กับประชาชนในพื้นที่มากกว่า

 

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามชี้แจงว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วแคดเมียมไม่ได้มีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี เพียงแต่ความอันตรายอยู่ที่ ‘การฟุ้งกระจาย’ ของกากแร่ ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนเหตุที่ไม่ใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ เพราะจะมีความยุ่งยากเรื่องการขนย้ายเข้า-ออก แต่จะนำกากแร่บรรจุในถุงสองชั้น (Double Bag) และปิดทับ (Seal) อีกชั้น เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ซึ่งเป็นวิธีตามมาตรฐานของสหประชาชาติ

 

อัครเดชจี้ถามต่อไปว่า เหตุใดการเริ่มขนย้ายจึงต้องรอถึงวันที่ 7 พฤษภาคม และไม่ใช่วันที่ 17 เมษายน ตามที่ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยแถลงไว้ก่อนหน้านี้

 

โดย อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า กระบวนการในการขนย้ายกากตะกอนกลับต้องมีการอนุญาตและเตรียมดำเนินการ ซึ่งต้องเผื่อระยะเวลาในการตรวจสอบและซ่อมแซมบ่อสำหรับฝังกลบในจังหวัดตากให้เรียบร้อยก่อน และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ ก็ยังคงไถ่ถามและตั้งข้อสังเกตกับแผนการขนย้ายของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างไม่ลดละ ทั้ง สส. จากพรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แม้แต่ตัวอัครเดชเองก็ซักไซ้ประเด็นนี้อยู่พักใหญ่ 

 

ที่สำคัญ น่าสังเกตว่าการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดนี้ อัครเดชในฐานะประธานได้อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมฟังการประชุมอยู่ในห้องโดยตลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดทั่วๆ ไปที่มักจะเชิญสื่อมวลชนออกไปก่อน

 

ต้องมี ‘ผู้หวังดี’ และ ‘ผู้ร้าย’

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการฯ อัครเดชได้ออกมาให้ข่าวว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่มั่นใจได้ว่ามี ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้แน่นอน จึงสามารถขนย้ายกากแร่อันตรายจากจังหวัดตากมาเก็บไว้ที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วกระจายไปยังจุดต่างๆ ทั้งจังหวัดชลบุรี และกรุงเทพฯ ได้

 

และเมื่อสื่อมวลชนสอบถามไปอีก อัครเดชก็เผยว่ามี ‘บุคคลผู้หวังดี’ จากหน่วยงานภายในร้องเรียนเรื่องนี้ต่อคณะกรรมาธิการฯ มาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นยังไม่รู้ชื่อกากแร่นี้ด้วยซ้ำ กระทั่งได้สอบสวนเบื้องต้นว่าอยู่ที่จังหวัดตาก จึงได้มีการแถลงข่าวให้รัฐบาลไปดำเนินการ ซึ่งอัครเดชก็ได้กล่าวขอบคุณบุคคลผู้หวังดีที่ไม่ประสงค์ออกนามนี้ด้วย

 

“ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่เราเจอเร็ว ไม่ใช่ว่าต้องให้พี่น้องประชาชนล้มป่วยก่อนเหมือนในต่างประเทศ แล้วเราค่อยมาสืบหากันว่าพี่น้องประชาชนล้มป่วย เสียชีวิตเพราะอะไร” อัครเดชกล่าว

 

แต่เมื่อถามรายละเอียดของ ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ผู้ถูกกล่าวหานั้น อัครเดชเปิดเผยเพียงว่า ในเอกสารที่ส่งมาร้องเรียนเบื้องต้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาจากกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นเจ้าหน้าที่ต้นทาง ปลายทาง หรือระดับไหน ขอรอให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง

 

สำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนย้ายกากแคดเมียมดังกล่าวแล้ว 

 

“ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมย้ำว่าจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดโดยไม่เกรงกลัวใคร” อัครเดชกล่าวในการแถลงข่าวหลังประชุม

 

นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายเช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รับเข้ามาเป็นคดีพิเศษด้วย

 

การเมืองเรื่องบังเอิญ

 

ท้ายสุดแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นกระบวนการปกติที่คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล โดยไม่สำคัญว่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่ก็สามารถตั้งข้อสังเกตถึงวาระทางการเมืองที่อาจตามมาเป็นผลสืบเนื่องได้ด้วยเช่นกัน

 

อาจเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ ที่มี ‘ผู้หวังดี’ แจ้งเบาะแสเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐพัวพันกับการขนย้ายแคดเมียมในช่วงต้นปี ก่อนที่คณะกรรมาธิการฯ จะมาเร่งเครื่องจี้รัฐบาลเอาในช่วงเดือนเมษายน ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่หนาหูขึ้นทุกวัน

 

“ถึงแม้เราจะมาจากพรรคเดียวกัน แต่บทบาทหน้าที่ก็ต้องทำ เพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเรื่องนี้ทั้งผมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้พูดคุยกันเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งเฉย และลงพื้นที่ติดตามปัญหาจนได้คืนกากแคดเมียมเกือบครบแล้ว” อัครเดชระบุ

 

และเมื่อสื่อมวลชนจี้ถามอัครเดชในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ถึงกระแสข่าวที่อาจปรับรัฐมนตรีบางคนของพรรคออก และแต่งตั้งคนใหม่นั้น อัครเดชกล่าวว่า “ข่าวก็คือข่าว” แต่ถ้าเป็นจริงก็ต้องฟังจากหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือโฆษกพรรคที่ได้รับมอบหมาย และ “เมื่อวันที่ 16 เมษายน ตอนคุยกันยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

 

ก่อนที่สื่อมวลชนจะถามเชิงกระเซ้าว่า ในอนาคตจะมีชื่อของอัครเดชเองติดโผรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ เจ้าตัวถึงกับหัวเราะและตอบว่า “ผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ก็โอเคแล้ว”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising