×

โค้งสุดท้ายปี 63 ตลาดอสังหาฯ ยังซึม ชี้ทำเลกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่-บางนา น่าจับตา ประตูเชื่อมสู่ EEC

24.10.2020
  • LOADING...
63 ตลาดอสังหาฯ ยังซึม ชี้ทำเลกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่-บางนา น่าจับตา ประตูเชื่อมสู่ EEC

จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนา พลัส พร็อพเพอร์ตี้ คาดว่าไตรมาสที่ 4/63 ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับทั้งปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและแนวสูงต่างต้องปรับแผนธุรกิจ 

 

โดยการเลื่อนแผนการพัฒนาโครงการใหม่ออกไปและหันมาเร่งระบายอุปทานคงค้างในตลาดด้วยการแข่งขันทางด้านราคาในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ นอกจากนี้ภาวะการแข่งขันในตลาดแนวราบจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดระดับราคาปานกลางอย่างเช่นทาวน์โฮม เนื่องด้วยผู้ประกอบการเล็งเห็นว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในขณะนี้มีทีท่าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าออกมาในราคาถูกลงเพื่อให้เข้าถึงผู้ซื้อได้มากขึ้น

 

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงครึ่งปีแรกยอดขายโดยรวมลดลง ในส่วนของบ้านเดี่ยวพบว่าอุปทานเสนอขายรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 14,082 ยูนิต ลดลง 8% อุปสงค์มีจำนวนทั้งสิ้น 5,115 ยูนิต ลดลง 4% คิดเป็นอัตราการขายเท่ากับ 36% ขณะที่ทาวน์โฮมมีอุปทานเสนอขายรวมที่ 31,211 ยูนิต ลดลง 6% ในขณะที่อุปสงค์มีจำนวนทั้งสิ้น 12,248 ยูนิต ลดลง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราการขายเท่ากับ 39% และคอนโดมิเนียมมีอุปทานเสนอขายรวมลดลง 8% หรือมีจำนวนทั้งสิ้น 104,094 ยูนิต ในขณะที่อุปสงค์ลดลง 28% หรือเกิดขึ้นเพียง 17,074 ยูนิต คิดเป็นอัตราการขายเท่ากับ 16% จากตัวเลขดังกล่าวพบว่าโครงการแนวราบได้รับการตอบรับที่ดีกว่าโครงการแนวสูง ทำให้ช่วงปลายปีเราจะเห็นการนำเสนอสินค้าที่เจาะไปยังกลุ่มตลาดแนวราบมากขึ้น

 

สุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดว่าการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จะขึ้นอยู่กับการบรรเทาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สภาวะเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติ รวมทั้งเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้มองว่าตลาดแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดต่อไป โดยมองว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวไปเปิดโครงการที่ตอบโจทย์กลุ่มเรียลดีมานด์มากขึ้น ส่วนทาวน์โฮมมองว่าน่าจะมีกำลังซื้อจากกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนใจจากคอนโดมิเนียมมาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ เนื่องจากการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หลังจากการระบาดของโควิด–19 รวมถึงได้อานิสงส์จากรถไฟฟ้าหลายเส้นทางที่จะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อของการเดินทางที่สะดวกขึ้น

 

ส่วนทำเลที่มีความโดดเด่นน่าจับตาคือย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ เนื่องจากเป็นทำเลเปิดใหม่และมีถนนทางเชื่อมการเดินทางเข้าสู่พื้นที่รามคำแหง-พระราม 9 อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิได้สะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บริเวณบางนาซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และบริเวณรามอินทรา รวมไปถึงทำเลแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและแนวรอบนอกวงแหวน ซึ่งสามารถเดินทางเข้าเมืองได้สะดวก เนื่องจากมีทางเชื่อมพิเศษเข้าสู่เมือง

 

“อย่างไรก็ตาม ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หากตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาก็น่าจะเป็นโอกาสให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีการกระจายรายได้ขึ้นมา และหากมีมาตรการมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อหรือแบ่งเบาภาระของผู้ซื้อจะเป็นผลบวกต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ขยายการลดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองให้เหลือ 0.01% ให้ครอบคลุมทุกระดับราคา จากปัจจุบันกำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ตลอดจนมาตรการดอกเบี้ยพิเศษคงที่ รวมทั้งหากมีมาตรการจูงใจด้านการลดหย่อนภาษี เช่น โครงการบ้านหลังแรก ก็น่าจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างได้มากขึ้น”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising