×

PAUL กับ 6 สิ่งที่คนไทยควรเรียนรู้จากแบรนด์เบเกอรี่ระดับโลก 130 ปี

24.01.2019
  • LOADING...

เบื้องหลังกลิ่นหอมฟุ้งของเบเกอรีจากร้าน PAUL มาจากความมุ่งมั่นของชายคนหนึ่งที่พยายามเฟ้นหาเบเกอรีที่ดีที่สุดมาให้คนไทยได้ลิ้มลอง

 

แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ครั้งแรกที่เขายื่น Proposal ไปเสนอ PAUL ที่ฝรั่งเศส เขาต้องโดนปฏิเสธมาไม่รู้กี่สิบครั้ง โดนวิจารณ์ว่าเด็กมหาวิทยาลัยยังทำ Proposal ได้ดีกว่า ต้องแข่งกับบริษัทอื่นที่อยากได้สิทธิมาเปิดอีก 16 เจ้า ใช้เวลาอีก 3 ปีทำแผนธุรกิจจนได้สิทธิมาเปิดในเมืองไทยในที่สุด

 

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ PAUL ประเทศไทย ที่ทำได้ดีจนเป็นแบบอย่างให้กับอีก 750 สาขาทั่วโลก และสำหรับคนที่อยากซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดในไทยนี่คือบทเรียนที่คุณควรรู้

 

เคน-นครินทร์ คุยกับ ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ Chief Brand & Communication Officer and Executive Assistant to President/CEO บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ในรายการ The Secret Sauce

 


 

 

ร้านเบเกอรีสัญชาติฝรั่งเศส ก่อตั้งมาแล้ว 130 ปี ผ่านการบริหาร 5 รุ่น เปิดในประเทศไทยเข้าสู่ปีที่ 5 โดยการนำเข้าของทรู คอร์ปอเรชั่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 สาขา และกำลังขยายแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ PAUL LE CAFE คาเฟ่แนว Grab and go ที่เน้นให้ลูกค้าได้ลองดื่มกาแฟอาราบิก้า 100% เพื่อทานคู่กับเบเกอรีระดับคุณภาพ

 

 

PAUL ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ถึงขั้นได้รับความไว้วางใจจากบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศส ผันสถานะจากแฟรนไชส์ซีหรือผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ สู่การเป็น Joint Venture ถูกยกให้เป็น PAUL ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวอย่างให้กับร้าน PAUL อีก 750 แห่งทั่วโลก มีโอกาสเข้าไปดูแลธุรกิจในสิงคโปร์ กลุ่มประเทศ CLMV และกำลังบุกเข้าตลาดจีน

 

เคล็ดลับความสำเร็จของ PAUL Thailand

 

1. เป็นนักเรียนที่ดี

แม้คุณปพนธ์จะเป็นถึงผู้บริหารระดับสูง แต่เขาก็พร้อมเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในโลกธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยอยู่เสมอ

 

ครั้งแรกที่เริ่มสนใจธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คุณปพนธ์เดินทางไกลไปถึงประเทศฝรั่งเศส เพื่อหาโมเดลร้านเบเกอรีที่น่าสนใจมาปรับใหม่ให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าคนไทย แต่ท้ายสุดเขากลับติดใจรสชาติครัวซองต์ของร้าน PAUL ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนร้านไหน จนอยากได้แบรนด์นี้มาเปิดในเมืองไทยในที่สุด

 

เขาเริ่มเข้าหาแบรนด์ต้นตำรับด้วยการส่งแผนธุรกิจไปนำเสนอ แผนแรกเน้นที่สเกลธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างความหวือหวาด้วยแผนเปิด PAUL ในประเทศไทยถึง 500 สาขา แต่กลับโดนปฏิเสธกลับมาว่า “ยูอย่าทำดีกว่า เพราะว่า PAUL ไม่ได้เป็นอย่างที่ยูคิด Proposal ที่ยูเขียนมา จริงๆ เด็กมหาวิทยาลัยยังทำได้ดีกว่าเลย”

 

แต่คุณปพนธ์ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เขาบินไปรอพบผู้บริหาร PAUL ด้วยตัวเองอีกครั้ง พร้อมขอเรียนรู้วิชาเหมือนว่าตัวเองเป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่กำลังทำธีสิสส่งอาจารย์

 

ผู้บริหาร PAUL จึงเล่าให้คุณปพนธ์เข้าใจถึง 3 หัวใจสำคัญได้แก่

1. Passion of bread มีความหลงใหลในการทำเบเกอรีอย่างลึกซึ้ง

2. Quality at heart ใส่ใจทุกคุณภาพการผลิต

3. French traditional ไม่ลืมรักษาความเป็นฝรั่งเศสดั้งเดิมไว้

 

จากจุดนี้ทำให้เขาเริ่มเข้าใจแบรนด์ PAUL มากขึ้น และตั้งใจวางแผนอย่างละเอียดไปนำเสนออีกครั้ง

 

 

2. ทำมาสเตอร์แพลนอย่างละเอียด

แผนพิชิตใจ PAUL ฝรั่งเศส คือการสร้างโรดแมปให้เห็นภาพชัดเจนว่าถ้า PAUL ได้มาเปิดในประเทศไทย ภายใน 10 ปีจะเติบโตไปในทิศทางไหน ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการตั้งราคาสินค้า โลเคชัน รวมไปถึงวิธีการจัดการ

 

ตัวอย่างเรื่องโลเคชัน มาสเตอร์แพลนบอกไว้ละเอียดแล้วว่าต้องเปิดร้าน 12 แห่งที่ไหนบ้าง พร้อมอธิบายเหตุผลชัดเจนว่าต้องเปิดในแต่ละที่เพราะอะไร โดยเน้นด้วยว่าทุกที่ต้องเปิดเรียงจาก 1 ไป 2 สู่ 3, 4, 5 จนถึง 12 ห้ามสลับ เนื่องจากเป็นเรื่องการรับรู้ของกลุ่มลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

การตั้งราคาก็เป็นอีกเรื่องที่ PAUL ใส่ใจในรายละเอียด ถึงขั้นมีการศึกษาเรื่องราคาถึง 5 ครั้ง เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละชิ้นเหมาะสมในราคาเท่าไร ครัวซองต์ธรรมดาควรราคากี่บาท ครัวซองต์เคลือบช็อกโกแลตต้องตั้งราคาขึ้นมาเท่าไร รวมถึงราคาของการซื้อแซนด์วิชชิ้นเดียวกันกินที่ร้านกับซื้อกลับบ้าน ก็ตั้งราคาต่างกัน เนื่องจากเป็นเรื่องประสบการณ์ที่จะได้รับต่างกันนั่นเอง

 

3. ลดอีโก้ เชื่อมั่นในแบรนด์ดั้งเดิม

“สิ่งแรกที่เราคิดคือ PAUL ที่นี่กับ PAUL ที่ฝรั่งเศสต้องเป็น PAUL เดียวกัน”

 

คุณปพนธ์เชื่อในแบรนด์ดั้งเดิม เพราะพวกเขาทำกันมาถึง 130 ปี ผ่านมือผู้บริหารมาแล้ว 5 รุ่น มีความเป็นธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน ฉะนั้นสินค้าของ PAUL จึงนำเข้า 100% มีเมนู Must have เหมือนที่ฝรั่งเศสทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องการตกแต่ง ที่นำเข้าเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นจากฝรั่งเศส ยกเว้นขวดเกลือและขวดพริกไทยที่ซื้อในประเทศไทยเท่านั้น

 

 

4. ทำสิ่งเล็กที่สุด เพื่อมองเห็นภาพใหญ่

เวลาทำอะไรผิดพลาดจากกฎที่ตกลงกันไว้ในเอกสารของ PAUL สิ่งที่คุณปพนธ์ต้องทำคือการไปล้างจานที่ร้านด้วยตัวเอง หลัง 5 โมงเย็น เขาจะต้องเข้าหลังครัวเตรียมตัวล้างจานที่ลูกค้าเพิ่งกินเสร็จทีละใบ เพื่อศึกษาและตอบคำถามให้ได้ว่า เขาได้อะไรจากการทำสิ่งนี้

 

มันทำให้เขารู้ว่าลูกค้ากินอะไรเหลือ คนเข้าร้านเยอะช่วงกี่โมง พนักงานเหนื่อยไหม อะไรเป็นสินค้าขายดี รวมถึงทำให้ลูกน้องรักและเคารพเขามากขึ้น จากการเห็นเขาลงมือทำด้วยตัวเอง ถือเป็นการลงมาทำสิ่งเล็กที่สุด เพื่อให้เห็นทุกจุดของปัญหาที่อาจคาดไม่ถึง

 

5. Fix it right over night มีปัญหาอะไรต้องแก้ไขทันที

ในโลกของ PAUL สิ่งที่ต้องจำเสมอคือ You have to fix it right over night หรือหากมีปัญหาอะไรต้องแก้ไขให้เสร็จภายในคืนเดียว เพราะลูกค้าคนเดิมจะกลับมาในวันรุ่งขึ้นได้เสมอ ฉะนั้นต้องรวดเร็ว และทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อเตรียมต้อนรับลูกค้า

 

“เราจ้าง General Manager ที่เก่งที่สุดมาดูแลสาขาที่กำลังจะเปิดใหม่ เขาต้องเตรียมตัวล่วงหน้า 6 เดือน เราส่งเขาไปเทรนทุกสิ่งทุกอย่าง พอคนจากฝรั่งเศสมาดูที่ร้าน เขาบอกให้ไล่คนนี้ออกทันที เพราะคนนี้ไม่รีบทำอะไรด่วนแค่วันเดียว ถ้าไม่รีบไล่ออกในวันนี้ ก็จะเป็นปัญหาของคุณในวันหน้าอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเขาไม่มีแพสชัน ช้าเกินไป ก็ให้ออกเลย ”

 

6. เคารพคน

ท้ายสุดคุณปพนธ์เชื่อในเรื่องของการเคารพคน ถึงแม้พนักงานคนอื่นจะเรียกเขาว่า ‘นาย’ หรือ ‘คุณปพนธ์’ แต่เขาเชื่อเสมอว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมโลก ที่เก่งในทางของตัวเอง ฉะนั้นเขาจึงให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน และรักพนักงานที่ทำงานกับตัวเองเสมอ

 



 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Guest ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

FYI
  • True Smart Merchant ดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://bit.ly/TSM_fb
    #ขายดีร้านแตก #TrueSmartMerchant
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising