×

คุยเรื่องเงินกับ รวิศ หาญอุตสาหะ ในฐานะลูกเถ้าแก่ อดีตพนักงานแบงก์ และเจ้าของกิจการ

02.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:10 ลูกเถ้าแก่ถูกเข้มงวดเรื่องเงินไหม

05:52 คำสอนเรื่องเงินจากพ่อแม่

12:06 นิสัยทางการเงินตั้งแต่เด็กจนโต

15:36 ทำไมถึงกลับมาช่วยกิจการที่บ้าน  

18:39 บริหารเงินอย่างไรเมื่อมีรายได้น้อยลง

24:57 ใช้เงินเยอะที่สุดกับการกินและซื้อหนังสือ

27:58 เอาเวลาที่ไหนไปเขียนลงเพจ

29:57 รวิศเป็นคนลงทุนสไตล์ไหน

มันนี่โค้ช ชวน รวิศ หาญอุตสาหะ นักธุรกิจผู้พลิกแบรนด์ ศรีจันทร์ และนักเขียนที่มีแฟนๆ เหนียวแน่นจากเพจ Mission To The Moon มาคุยกันเรื่องเงินในแบบที่ไม่เคยคุยที่ไหนมาก่อน ทั้งเรื่องการเงินส่วนตัว การบริหารจัดการ การลงทุน รวมถึงมุมมองแนวคิด ที่ต่อให้คุณไม่ทำธุรกิจก็ควรค่าแก่การติดตาม      

 


 

เรื่องเงินในวัยเด็ก

ครอบครัวผมเป็นครอบครัวคนจีน ซึ่งจะไม่ค่อยปล่อยลูกเรื่องเงิน จริงๆ เข้มงวดด้วยซ้ำ และสอนอะไรผมเยอะ ผมเหมือนเด็กทั่วไปที่ได้รับค่าขนม แต่ก็ต้องทำงานช่วยพ่อแม่ แล้วเขาจะให้เงิน เช่น ช่วยล้างรถ หรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ พอตอนอยู่ ป.3 จำได้ว่ามีขายของให้เพื่อนบ้าง จะทำการ์ดตามเทศกาล ทั้งวาเลนไทน์ ปีใหม่ ลอยกระทง มันไม่ได้สวยหรอก แต่ว่าคนซื้อเพราะเราเด็ก ผมขายอยู่หลายปีเหมือนกัน เดินขายรอบหมู่บ้าน เคาะประตูบ้านแต่ละหลังเลย คนในหมู่บ้านเขาก็เอ็นดู

 

ทำไมตอนนั้นคิดอยากจะหาเงิน

เอาเงินไปซื้อการ์ตูนครับ เพราะติดการ์ตูนกับขนมโดราเอมอนที่แถมสติกเกอร์ Saint Seiya เราก็เอารูปลอกนั้นมาชิงแชมป์กัน จุดเริ่มต้นอยู่แค่นั้น ไม่ได้คิดไปไกลกว่านั้นเลย

 

ที่บ้านให้ใช้เงินเต็มที่ไหม

ถ้าเงินที่หามาเองเขาก็ไม่ว่าอะไร ส่วนค่าขนมรายสัปดาห์เขาจะให้มาจัดการเอง ถ้าต้นอาทิตย์ใช้เยอะปลายอาทิตย์ก็ซวยหน่อย ที่โรงเรียนสมัยก่อนเขาจะมีของขาย โดยเฉพาะขนมตอนเลิกเรียน มันคือไฮไลต์สำหรับผมมาก ถ้าเงินเหลือน้อยก็จะรู้สึกเซ็ง

 

ค่าขนมที่ได้ถือว่ามากกว่าเพื่อนๆ ไหม

ไม่เลย จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งทำเงินหาย 40 บาท ยังร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรอยู่เลย

 

ที่บ้านสอนอะไรเรื่องเงินเป็นพิเศษไหม

จริงๆ มีไม่เยอะ ที่จำได้แม่จะสอนว่า หนึ่ง ถ้าอยากได้อะไรให้นอนคิด 1 คืน แล้วพรุ่งนี้กลับมาซื้ออีกครั้ง แม่จะไม่ซื้อของให้ทันทีเลย ส่วนใหญ่ 70% พอกลับมานอนคิดเราก็ไม่อยากได้แล้ว แม้แต่ตอนนี้ผมอยากซื้ออะไรในอินเทอร์เน็ตผมมักจะนึกถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ ถามตัวเองว่าอยากได้จริงไหม จะเอาไปทำอะไร ตอนนี้หลอนเหมือนกันนะครับ เพราะมันยิงโฆษณามาหาเราทุกวัน

 

เรื่องที่สองที่แม่สอนคือ ห้ามค้ำประกันให้ใครเด็ดขาด แม้จะเป็นพี่น้องตัวเองก็ตาม เพราะแม่เขาเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการค้ำประกัน ผมจำเหตุการณ์ได้ไม่ชัดเพราะว่าเด็กมาก แต่ว่าแม่เขาทุกข์มาก ซึ่งแม่เขาเน้นเรื่องนี้จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังพูดเรื่องนี้อยู่

 

ส่วนพ่อผมเป็นคนพูดน้อย เลยสอนเฉพาะเวลากินข้าว ตอนเด็กๆ เขาจะเล่าเรื่องงานของเขาให้เราฟัง เขาไม่ได้สอนตรงๆ แต่ค่อยๆ ถ่ายทอดประสบการณ์ สอดแทรกวิธีคิดเรื่องการใช้เงิน อันนี้ไปถึงการบริหารเงินทางธุรกิจด้วย เช่น การลงทุน พ่อจะสอนเสมอว่า การลงทุนฟังตอนแรกจะดูดีกว่าของจริงเสมอ แล้วเราจะตกหลุมได้ง่าย คือถ้าเราชอบไปแล้วเราจะหาหลักฐานมาสนับสนุนเรื่องนี้ว่ามันถูก ว่ามันดี แต่หลายครั้งมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น พ่อให้ลองสังเกตว่า ถ้าเราอยากได้รถยี่ห้อนี้ สีนี้ เราจะเห็นรถยี่ห้อนี้ สีนี้บ่อยขึ้นทันที มันเป็นวิธีการทำงานของสมอง เราก็จะรู้สึกว่าคนอื่นเขาใช้กันเยอะแยะ

 

อย่างเรื่องดอกเบี้ย พ่อสอนว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว สมัยผมเด็กๆ ดอกเบี้ยมันสูงมาก พ่อบอกว่าถ้าฝั่งเราเก็บดอกเบี้ย มันจะเร็ว เช่นเดียวกันถ้าเราเป็นหนี้มันก็จะเร็วมากเหมือนกัน โดยเฉพาะพลังของดอกเบี้ยทบต้นจะสูงเป็นพิเศษ พ่อจะสอนทำนองนี้อยู่เสมอ นอกจากนั้นก็จะเล่าเรื่องต่างๆ เช่น สมัยก่อนพ่อทำงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานที่ไม่ตรงไปตรงมาพอสมควร เขาสั่งของกับคนนั้นคนนี้แล้วโดนโกงก็จะเล่าให้ฟัง เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ ทุกวันนี้พ่อเกษียณแล้วก็กลายเป็นผมเล่าให้พ่อฟังแทน แล้วพ่อก็ให้คำปรึกษาว่าควรทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมได้มาตั้งแต่เด็ก

 

นิสัยทางการเงินในวัยที่โตขึ้นเป็นอย่างไร

ไม่ค่อยได้เก็บเงิน เพราะไม่มีให้เก็บ จนกระทั่งเรียนจบ ก็ยังไม่ได้เก็บเงินเป็นเรื่องเป็นราว พอทำงานสักพักก็ลองเก็บดู ซึ่งยากมาก เพราะเงินเดือนน้อย สิ่งล่อใจมันเยอะ มาเก็บจริงๆ จังๆ ตอนจะแต่งงาน ประมาณอายุ 25 ปี ตอนนั้นทำงานแบงก์ เทรดเงินให้แบงก์เยอะมาก แต่เงินตัวเองไม่ค่อยรู้เรื่อง เทรดกันวันละหลักร้อยล้าน พันล้าน ตอนนั้นเริ่มศึกษาเรื่องหุ้น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เทรดหุ้นจริงจังมาก แล้วค้นพบว่ามันเจ๊ง แล้วก็เสียเวลางานด้วย ในที่สุดเลยตัดสินใจให้มืออาชีพทำดีกว่า หลังจากนั้นผมก็ซื้อแต่กองทุน เลิกซื้อหุ้นเอง นอกจากบางตัวที่ชอบจริงๆ รอเก็บปันผล แต่จะไม่เทรดแบบเปิดเช้าเปิดเย็น เลิกทำแบบนั้นเลย

 

จุดพลิกผันให้มาช่วยธุรกิจที่บ้าน

ผมอยากกลับมาเองครับ จริงๆ พ่อแม่ไม่ได้อยากให้กลับมาทำงานที่นี่ด้วยซ้ำ เขาปล่อยเราตามสบาย อยากทำอะไรก็ทำ ผมก็คิดว่าจะทำงานอยู่ข้างนอกตลอดไปด้วยซ้ำ โดยเฉพาะงานแบงก์ แต่อยากกลับมาเพราะอยากช่วยคุณปู่ จริงๆ คิดอีกด้วยว่า ถ้าเราลาออกมาทำแล้วมันไม่เวิร์ก ก็จะกลับไปสมัครงานแบงก์ใหม่เขาคงรับ

 

ตอนนั้นสถานการณ์ที่แบงก์เป็นอย่างไร

มันนิ่งๆ ครับ ทรงๆ เรื่อยๆ แต่ไม่ได้ชิลล์แบบดีนะ คือปล่อยไปเรื่อยๆ คงไม่ดีแน่

 

จากที่ทำงานแบงก์มาเงินเดือนเยอะ กลับมาอยู่บริษัทตัวเองรายได้เป็นอย่างไร

นี่ออกมา 10 ปีแล้ว เงินเดือนผมตอนนี้พอๆ กับตอนที่อยู่แบงก์เลย คือเพิ่งโตเท่า (หัวเราะ) แรกๆ กรอบมาก ไม่ไปไหนเลย แต่โชคดีอยู่อย่างคือ พอผมทำงานอยู่ศรีจันทร์มันก็ไม่เจอใคร รายจ่ายทางสังคมหายไปเยอะเลย ไม่ต้องไปกินบุฟเฟต์กับเพื่อน กินข้าวที่บ้านทุกวัน

 

ที่เล่าให้ฟังว่าเพิ่งมาเริ่มเก็บเงินตอนจะแต่งงาน แล้วตอนที่รายได้หายไปเหลือ 1 ใน 3 ตอนนั้นเก็บเงินได้ไหม

เก็บได้พอๆ กับตอนอยู่แบงก์เลยครับ ดีไม่ดีอาจจะเยอะกว่าเพราะไม่ได้ใช้ทำอะไร อยู่แบงก์ผมต้องแต่งตัวหล่อ ต้องซื้อเสื้อ ตัดเสื้อราคาสูงมาก ความคิดทางการเงินผมเปลี่ยนไปเยอะหลังจากที่โตขึ้น เมื่อก่อนผมใช้ของแพง ตอนนี้เลิกใช้หมดแล้ว

ผมเริ่มเข้าใจว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนเราไม่ได้มีความสุข เพราะเงินเยอะอย่างเดียว แต่มีความสุข เพราะความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมันดี อันนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

แล้วความสุขส่วนใหญ่ที่เราชอบ จริงๆ มันราคาไม่แพงมาก เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง นอนหลับสนิท แล้วกลายเป็นว่าการเก็บเงิน พอเราเห็นเงินในบัญชีเพิ่มขึ้นเราก็มีความสุข มันชาเลนจ์ตัวเองเหมือนเราวิ่งเก็บระยะทาง เหมือนเราเห็นผลงานตัวเอง เห็นการสะสมที่เพิ่มขึ้นมา แล้วก็มีกำลังใจมากขึ้น

 

ตอนที่เข้ามาที่ศรีจันทร์เป็นอย่างไรบ้าง เพราะในมุมมองคนข้างนอก ศรีจันทร์เหมือนปฏิวัติทุกอย่าง ตั้งแต่รูปลักษณ์จนถึงลักษณะองค์กร ตอนนั้นทำงานหนักแค่ไหน

ชั่วโมงการทำงานไม่ได้หนักกว่าตอนอยู่แบงก์ครับ เพราะตอนอยู่แบงก์งานก็เรียกว่าใช้คุ้มเลย แต่หนักใจกว่าเยอะ คือตอนอยู่แบงก์พอเดินออกจากประตูเราก็ไม่คิดอะไร เสร็จงานกลับบ้านแล้วนอน แต่ที่ศรีจันทร์งานมันอยู่กับเราตลอด แม้แต่เสาร์อาทิตย์ก็ไม่เว้น ก็เครียดบ้าง และกดดันด้วยภาระมากกว่า

 

พ่อแม่ปล่อยเลยไหม

ปล่อยเลยครับ ผมทำอยู่คนเดียว แต่เขาก็บอกว่ามีอะไรให้คุยกัน ปรึกษากันได้ เวลามีเรื่องใหญ่ๆ ผมก็ไปคุยนะ แต่มักจะคุยหลังจากเกิดเรื่องไปแล้ว (หัวเราะ)

 

พอมาดูแลกิจการที่บ้าน ดูแลการเงินตัวเองแล้ว ตอนนั้นลูกเพิ่งคลอด ได้บริหารจัดการชีวิตอย่างไรบ้าง

ผมแบ่งเงินเก็บให้ลูกตั้งแต่ลูกคลอดเลยครับ เอาจริงๆ ผมเหมือนเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ต่อให้บริษัทเรากำลังโต เราก็มีปันผลน้อยมาก เพราะจะเอาไป re-invest อยู่ตลอด ผมก็เหมือนลูกจ้าง เราต้องบริหารจัดการเงินที่เราได้วันนี้ อย่าคิดว่าวันข้างหน้าบริษัทเราจะได้เงินใหญ่โต วันนี้เราต้องเก็บก่อน อย่างผมเก็บเงินให้ลูกทั้งเก็บยาว และส่วนที่เป็นทุนการศึกษา

 

พอเป็นเจ้าของกิจการเราไม่กล้ากันเงินเดือนให้ตัวเองมหาศาลหรือเปล่า

เงินเดือนผมน้อยกว่าลูกน้องหลายคนก็มี เราต้องขับเคลื่อนองค์กรใหญ่มากกว่า จะเห็นผู้บริหารต่างประเทศหลายคนไม่รับเงินเดือนยังมี ผมคิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบมากกว่า แต่ว่าเงินที่เราได้มา ซึ่งก็ประมาณหนึ่งนั้น ผมเอาให้ลูกคนละ 10% ตัดบัญชีก่อนเลย อย่าไปคิดว่ามันจะเหลือสิ้นเดือน เพราะมันไม่เคยเหลือ และหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 15% ถ้าเหลือสิ้นเดือนอีกก็ค่อยจัดสรรอีกครั้ง แต่พูดจริงๆ ว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยเหลือ

 

รายจ่ายที่เยอะที่สุดตอนนี้คืออะไร

คิดว่าเรื่องกิน มันต้องซื้อของกินของเรา ของลูก

 

ใช้เงินซื้อหนังสือเยอะไหม เพราะเห็นเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก

เยอะครับ เพราะผมถือเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างหนึ่งที่ดีและไม่แพงมาก ผมซื้อ 10 เล่ม อ่านของใหม่ได้สัก 3 เล่ม แล้วก็อ่านของเก่าที่ค้างอยู่ จะเป็นอยู่แบบนี้ ภรรยาผมจะรู้เลยว่าผมผ่านร้านหนังสือไม่ได้ บางครั้งตั้งใจซื้อเล่มเดียวแต่ได้กลับมาเป็นตั้งทุกที

 

การซื้อหนังสือในยุคนี้เป็นอย่างไร

ผมว่ามันโอเคนะ เพราะผมอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าได้ใช้ในการทำงานด้วย ได้ใช้เอามาเขียนเพจ ตอนนี้ต้องบอกว่าการเขียนเพจเป็นสิ่งที่ผมมีความสุขมาก ผมเขียนให้คนติดตามอ่านเรื่องหนึ่ง แต่เขียนเพื่อตัวเองด้วยเพราะเรามีความสุข เราเลยอยากทำ จึงต้องหาความรู้ใหม่ๆ มาเขียนเลยต้องอ่านหนังสือ เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเติมเต็มความรู้สึกตัวเอง

 

แล้วเอาเวลาไหนเขียนเพจ

ถ้าสมัยก่อนผมบอกตัวเองว่า เอาที่เราสบายๆ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่มืออาชีพ วันไหนอยากเขียนก็เขียน บางครั้งไม่ได้เขียนเป็นเดือนเพราะเขียนไม่ออก แต่ตอนนี้ผมเอาใหม่ ตั้งใจให้ตัวเองเขียนทุกวัน เป็นเวลาประจำ คือผมไปอ่านเจอมาว่า นักเขียนที่เป็นมืออาชีพทุกคนบนโลกใบนี้เขียนหนังสือทุกวัน ไม่ว่าจะเขียนออกหรือไม่ก็ตาม เขียนไปก่อน ผมก็ลองทำดู มันก็อาจจะมีบางชิ้นที่ไม่ดีบ้าง แต่เราก็จะได้ชิ้นที่ดีมากๆ อันหนึ่ง เป็นวิธีการที่ดีในการเขียน อย่างตอนเช้าผมออกกำลังกายเสร็จก็จะอ่านหนังสือประมาณ 45 นาที แล้วทำเป็นประจำทุกวัน เราจะไม่จับโทรศัพท์แต่จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านก่อน ส่วนใหญ่ผมอ่านตอนกินอาหารเช้าในร้านกาแฟก่อนเข้าไปทำงาน

 

เราควรจัดสรรค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาตัวเอง

ควรอย่างยิ่งครับ ผมว่าสมัยนี้มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พอไม่รู้ก็คือไม่รู้จริงๆ เรียกว่าหลุดวงโคจรไปเลย เราจะเป็นล้าหลังได้เร็วมาก

 

รวิศเป็นนักลงทุนสไตล์ไหน

ผมลงทุนกึ่งๆ Agressive นิดหน่อยเวลาเลือกกองทุน เพราะคิดว่าตัวเองยังอายุน้อยอยู่ และจะมีหุ้นบางตัวที่ถือมานานมาก ซื้อเพิ่มบ้างเวลาราคาดี แล้วจะซื้อพันธบัตรบ้างนิดหน่อยเวลาจังหวะมันได้ อันนี้ไม่ได้ชี้นำ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผมชอบเรื่องเทคโนโลยี ผมก็ลงทุนใน Crypto Currency นิดหน่อย ด้วยความอยากรู้อยากลองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังดอยอยู่แต่ว่าไม่เป็นไร คอยดูระยะยาว

 

ตั้งเป้าหมายการลงทุนของตัวเองอย่างไร

อันดับแรกทำไว้สำหรับครอบครัว และเลือกที่คิดว่ามันต้องโตทุกปี ไม่ว่าจะไปทำอะไรเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม จะมีทั้งพันธบัตร หุ้น ที่ต้องโตตลอดแล้วจะไม่ไปยุ่งกับมัน เพราะตั้งใจเอาไว้เก็บสะสม ส่วนภรรยาเขาก็มีพอร์ตหุ้นของเขา ซึ่งมีวิธีการลงทุนที่ไม่ได้ก้าวก่ายกัน ต่างคนก็ต่างลงทุนส่วนของตัวเอง และสำหรับลูกก็เตรียมไว้แล้ว

 


ฟังรายการ The Money Case by The Money Coach พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 



 

Credit

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

The Guest รวิศ หาญอุตสาหะ

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising