×

จรีพร WHA นอสตราดามุสที่ทำนายอนาคตจาก Data และเชื่อว่าเอเชียต้องเติบโต

06.09.2020
  • LOADING...

จรีพร จารุกรสกุล ตอบคำถามสารพัดเรื่อง ตั้งแต่การรับมือกับวิกฤตโควิด-19 สงครามการค้าระหว่างประเทศ อนาคตต่อไปของเอเชีย การพัฒนาคนในยุคดิจิทัล และเหตุผลที่ทำให้ WHA เริ่มจากศูนย์จนกลายเป็นผู้นำโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมนิคม

สุทธิชัย หยุ่น คุยกับ จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในรายการ The Alpha

 


 

รับชมเอพิโสดนี้ในรูปแบบวิดีโอสัมภาษณ์

 

 



โควิด-19 คือเครื่องพิสูจน์

สำหรับคุณจรีพรแล้ว วิกฤตการณ์โควิด-19 ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าแผนการที่เคยวางไว้ และกลยุทธ์ที่เลือกนั้นถูกต้อง “ผู้บริหารต้องมองเห็นอนาคตตลอดเวลา แต่ละปีมันมีข่าวร้ายตลอด แต่จะผ่านมันไปได้อย่างไร นำองค์กรไปอย่างไร ข้างหน้ามีวิกฤตหรือเปล่าเราไม่รู้ แต่กลยุทธ์ที่เราวางต้องเตรียมแผน 1 2 3 เอาไว้รองรับหมดแล้ว” เนื่องจากมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่เติบโตแบบ Exponential ของเทคโนโลยีต่างๆ มาแล้วก่อนหน้านี้ 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดับบลิวเอชเอได้ดำเนินการปรับองค์กรภายในอย่างจริงจัง 

อะไรที่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เราต้องเปลี่ยน ต้องขับเคลื่อน Business Model เราใส่เข้าไปใน KPI Top Level เพื่อหาคนที่พร้อมที่จะวิ่งไปกับเราก่อน  เรียกว่า Digital Innovation พอธุรกิจเริ่มไปตามนี้แล้ว จึงมาปรับการทำงานภายในองค์กร เป็น Digital Transformation จากที่เป็น Linear ให้มันกลายเป็น Exponential Organization

ช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอได้รับผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน ธุรกิจโลจิสติกส์ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากอีคอมเมิร์ซเติบโตตรงตามการคาดการณ์ที่เธอมองเห็นก่อนหน้านี้

 

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม คุณจรีพรเชื่อมั่นว่าไม่ได้มีสถานการณ์เลวร้ายอย่างที่หลายคนกังวล เพราะมองเห็นสัญญาณของสงครามการค้า ที่จะทำให้เกิดการย้ายฐานลงทุนจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกค้าของดับบลิวเอชเอราว 800 กว่าราย มีหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม จึงมีการเปิดปิดโรงงานในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน มีบางส่วนที่ต้องปิดโรงงานบ้าง ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กับเหล็ก มีงานเพิ่มขึ้น 3 เท่าเนื่องจากอู่ฮั่นปิดเมือง ทำให้ซัพพลายเชนเข้ามาในไทยแทน 

 

สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำ แม้ต้นปีนี้ไทยจะเจอปัญหาภัยแล้ง แต่หลายปีที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอได้ทำนวัตกรรมเกี่ยวกับน้ำรองรับไว้ มีระบบ Reclamation Water ไปจนถึงการนำน้ำทะเลมาทำ Desalination Water จึงขายน้ำสำหรับอุตสาหกรรมให้ลูกค้าได้  ส่วนของด้านพลังงาน มีการวางแผนเตรียมการไว้อย่างรัดกุม เพื่อทำให้นิคมอุตสาหกรรมในเครือเป็น P2P Trading และเตรียมเข้าสู่ Smart Micro Grid เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

โควิด-19 คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

“เราไม่ได้มองว่าเราจะชนะโควิด-19 เรามองว่ามันคือสิ่งหนึ่งที่จะกลายเป็นชีวิตประจำวันของเรา มันคือสิ่งหนึ่งซึ่งมีความเสี่ยง แต่ไม่มีโควิด-19 มันก็มีเรื่องอื่น จะทำอย่างไรให้มันเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งเราต้องผ่านมันไป”

 

คุณจรีพรมองว่า GDP ของประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 20% ขณะที่อีคอมเมิร์ซมีมูลค่าสูงถึง 19.6% ของ GDP โดยที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล ตัวเลขเหล่านี้มีโอกาสอยู่มากมาย การที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้าน Healthcare Infrastructure มาก จะทำอย่างไรให้เราไปถึง Digital Healthcare ทำอย่างไรให้เป็น Healthcare E-commerce Platform นี่คือสิ่งที่ดับบลิวเอชเอกำลังตั้งคำถามและพยายามไปให้ถึง ผ่านการทำ Digital Transformation ในองค์กรมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 

 

ตั้งคำถามกับการจัดการวิกฤต

คุณจรีพรตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางการอัดฉีดเงินเข้าระบบนับล้านๆ บาทของรัฐบาลนั้นไม่มีตัวเลขกลับมาให้คนทำธุรกิจมองเห็นภาพว่าเงินจะกลับมาอย่างไร รวมถึงอธิบายให้เห็นโอกาสในการดึงเงินเข้ามาในประเทศโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ผ่านการสร้างความเชื่อมั่นให้ Foreign Direct Investment อยากเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้เกิดการซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน สร้างแรงงาน ดึงซัพพลายเชนเข้ามาได้อย่างมหาศาล 

 

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ยังไม่คืบหน้านั้นไม่เพียงแต่ความล่าช้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่เกิดคำถามเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานให้เกิดผลจริง เนื่องจากแรงงานราคาถูกในไทยนั้นไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามซึ่งดึง Foreign Direct Investment ไปได้เยอะมาก เพราะต้นทุนถูก และค่าแรงถูก รวมถึงการที่เป็นเมืองท่าส่งออกได้ง่าย รัฐบาลของเวียดนามสามารถออกกฎหมายกระจายโรงงานไปในส่วนต่างๆ ที่ต้องการได้ แต่ในขณะเดียวกันกฎระเบียบก็เปลี่ยนบ่อยจนสร้างความกังวลให้ต่างชาติที่เข้าไปลงทุน ดังนั้นการที่ Panasonic ย้ายไปตั้งที่เวียดนาม 2 โรงงานนั้นต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าโรงงานที่ย้ายไปเป็นโมเดลการผลิตที่เน้นปริมาณ ไม่ได้เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง และอีก 18 โรงงานยังอยู่ในไทย นี่จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอันน่าเป็นห่วงอย่างที่หลายคนกังวลกัน หรือการเข้ามาของ Great Wall บริษัทยานยนต์ของจีน ก็เลือกประเทศไทยเป็นฐานในด้านชิ้นส่วนยานยนต์ 

 

เราจึงควรมุ่งเน้นไปที่แนวทางพัฒนาเทคโนโลยี แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า เรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้มากพอหรือยัง แม้เราจะมี Skilled Labor ที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่อนาคตนั้นต้องอาศัยการ Reskill Upskill Change Skill คนให้ได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ Digitize Government และปรับวิธีคิดของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในไทยว่าจะทำอย่างไรให้ขยายไปเป็น Corporate ได้ ไม่ใช่แค่ SMEs 

 

การที่รัฐบาลยังไม่กล้าเปิดประเทศส่งผลให้การลงทุนชะงักงัน ทั้งที่จริงเราสามารถนำจุดเด่นเรื่อง Healthcare มาเพิ่มความมั่นใจ ออกแบบระบบรองรับที่รัดกุมได้ไปพร้อมกับการดำเนินนโยบายการลงทุนทางเศรษฐกิจ โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้ความมั่นใจเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19 ได้ดีของเราเป็นกลยุทธ์ที่ดึงคนเข้ามาได้ด้วย

 

ตัดสินใจลงทุน ตอนที่แย่ที่สุด

ธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ มองภาพใหญ่ไม่เพียงในประเทศไทยแต่เป็นทั่วโลก ซึ่งคุณจรีพรมองในแง่ดีว่าจะกระทบไม่กินเวลานานถึง 2-3 ปี “ส่วนมากคนเราตัดสินใจอะไร จะตัดสินใจจากบางสิ่งที่มันแย่ที่สุด แล้วชอบไปลงทุนตอนที่มันดีที่สุด แต่เราเองจะทำ Scenario ต่างๆ ออกมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แย่ที่สุดคืออะไร ตอนตัดสินใจลงทุน เราตัดสินใจตอนที่มันแย่ที่สุด ตอนที่มันดีที่สุดเราจะระวัง”

 

แม้จะเป็นในช่วงเวลาของโรคระบาด ที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดจนส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งหมด แต่ดับบลิวเอชเอยังเชื่อมั่นใน Business Model ที่วางไว้ ธุรกิจโลจิสติกส์ซึ่งได้นำเอาเทคโนโลยีมาปลั๊กอินเข้าไปก่อนแล้ว ช่วงเวลาที่คนไม่สามารถออกจากบ้านได้ การซื้อขายออนไลน์ยิ่งเติบโต การค้าขายออนไลน์พึ่งพาโลจิสติกส์ถึง 95% ทำให้ธุรกิจนี้ยังไปต่อได้อย่างไม่น่ากังวล

 

ส่วนการแบ่งค่ายแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องเจอกันมาตลอด กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ยังคงต้องมีสิ่งเหล่านี้มารองรับ ดับบลิวเอชเอจึงปรับตัวให้เป็น Smart IE ด้วยความเชื่อว่า Future is Asian เพราะเอเชียเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต มีคนที่มีพลังในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีโอกาสทางการลงทุนที่มากมายมหาศาล 

 

พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน

“เราชอบทำในสิ่งที่เราไม่รู้ หลายปีมานี้สนใจในเรื่องเทคโนโลยีมาก มีคำบอกว่าคนเรามันต้องเรียนรู้ตลอดนะ ไม่อย่างนั้นมันไปต่อไม่ได้ ถ้าตื่นมาแล้ววันไหนเรารู้ทุกเรื่องมันเซ็งนะ อะไรที่เราไม่รู้ ตรงนี้น่าสนใจ เป็นจุดที่ทำให้เราเปลี่ยนไปได้เร็ว” แม้จะเรียนทางด้านสาธารณสุขมา แต่เมื่อเรียนต่อ MBA แล้วก็มาสนใจเรื่องโลจิสติกส์และเทคโนโลยี คอยมองหาความท้าทายมาเติมให้ชีวิตเสมอ 

 

การซื้อบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นก้าวที่สำคัญและน่าติดตามอย่างยิ่ง ต้องมีกระบวนการ Blend Culture การทำงานของคนที่เจเนอเรชันแตกต่างกันหลายสิบปีเข้าหากัน ผ่านการจัดสัมมนา กำหนดหลักสูตรโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย เพื่อช่วยดึงความสามารถของคนในองค์กรออกมามากที่สุด ฝั่งผู้ใหญ่มีประสบการณ์เยอะมาก แต่อาจจะขาดความคิดใหม่ๆ ซึ่งมีคนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเติมให้ได้ ฝั่งคนรุ่นใหม่ที่ขาดประสบการณ์ ก็ไม่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถเอาของอีกฝั่งมาใช้ได้เช่นกัน “เราไม่คิดจะปลดคนแม้แต่คนเดียว แต่ต้องเปลี่ยน ซีอีโอของเขาอายุเยอะกว่าเรา เป็นเจ้าพ่อในวงการนิคมอุตสาหกรรม เราใช้ลูกเล่นเยอะมาก ค่อยๆ ใส่ ค่อยๆ แหย่ บางทีก็บังคับ สุดท้ายเขาเข้าใจเรา เราต้องเปลี่ยนที่หัวก่อนแล้วคนอื่นๆ จะตามมา” เมื่อปูพื้นฐานให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานแบบใหม่และเทคโนโลยีแล้ว ปีที่ผ่านมาดับบลิวเอชเอจึงได้สร้างสตาร์ทอัพในองค์กรขึ้นมา เป็น Innovation Leader ให้พนักงานเสนอ Business Model ถ้าผ่านการพิจารณาก็จะได้เงินไปลงทุนเลย ผู้เสนอก็ได้ร่วมถือหุ้น แล้ว Spin-Off ออกไปทำจริงได้เอง

 

พร้อมรับมือวิกฤตใหม่เสมอ

4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอนั้นจะถูกเชื่อมต่อกันด้วย Digital Platform เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศเชื่อมต่อเข้าด้วยกันทั้งหมด โดยมีการวางกลยุทธ์ในระยะยาวที่มั่นคง แต่จะคอยปรับแผน 5 ปี และทุกๆ ปีก็จะมีการปรับแผนย่อยอยู่ตลอดเวลา โดยมีหมุดหมายคือในอีก 2 ปีข้างหน้า ข้อมูลจำนวนมหาศาลในการทำธุรกิจต้องถูกวางโครงสร้างให้ตอบโจทย์เป้าหมาย สามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา ไปสู่การทำงานแบบ Paperless ให้ได้ ไม่ว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะอายุเท่าไรก็ตาม “การเปลี่ยนมายด์เซตของคน ถามว่ายากไหม มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ จะยากหรือไม่ยากมันก็ต้องทำ ต้องทำให้มันได้ด้วย ไม่อย่างนั้นมันไปต่อไม่ได้”

 

โรคภัยไข้เจ็บกับสงคราม เป็นวิกฤตรุนแรงที่ทุกคนหวั่นกลัว แต่สำหรับคุณจรีพรแล้วเธอมองว่าตัวเองเป็นคนชอบมองหาโอกาส 

ในความมืดยังมีแสงสว่างอยู่เสมอ แต่การจะเห็นแสงสว่างได้ เราต้องนิ่ง ข้อมูลต้องพร้อม สติต้องดี วิเคราะห์ถูก นั่นแหละคุณถึงจะเห็นแสงสว่างในความมืด


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Alpha ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ 

 


 

Credits

 

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Co-producer อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Account Executive ภัทรลดา พุ่มเจริญ
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

พิสูจน์อักษร ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์, ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์, ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising