×

“วันหนึ่งทุกคนจะมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง” คุยกับ ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้สร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรก

26.12.2023
  • LOADING...
พงศธร สายสุจริต

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก ทั่วโลกตระหนักถึงความก้าวกระโดด ซึ่งนอกจาก AI แล้ว หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังรอวันผงาดก็คือ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ ที่ทำให้การเดินทางสู่ห้วงจักรวาลไม่ใช่ฝันที่แสนไกลอีกต่อไป เมื่อยานหรือดาวเทียมอาจเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถมีได้ เหมือนในยุคคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะมีอยู่ทุกบ้าน 

 

ในปี 2583 มีการคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีอวกาศอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คำถามคือ ไทยจะโอบรับโอกาสและเตรียมพร้อมเข้าสู่ New Space Economy หรือเศรษฐกิจอวกาศใหม่ ได้หรือไม่ ทั้งกำลังคน แรงงาน สภาพแวดล้อม และอุตสาหกรรม จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของไทยก่อนที่จะตกขบวน 

 

THE STANDARD พาไปพูดคุยเรื่องชีวิต ตัวตน และอนาคตของอุตสาหกรรมอวกาศไทยกับ ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วัย 42 ปี 

 

เขาคือผู้สร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกของประเทศไทย และยังเป็นบุคคลสำคัญในการจารึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ด้วยการสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากสร้างดาวเทียม

 

ดร.พงศธร: จริงๆ ผมเป็นเด็กบ้านนอกนะ ที่บ้านผมไม่ได้เรียนจบสูงๆ ไม่มีใครมาคอยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาได้ ฉะนั้นความฝันที่ผมอยากสร้างดาวเทียมมันอาจจะฟังดูตลกและเป็นเรื่องไกลตัวนะครับ แรงบันดาลใจของผมจริงๆ เกิดจากเมื่อปี 2536 มีข่าวว่าประเทศไทยจะมีดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของประเทศ สำหรับผมถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าในช่วงนั้นบนโลกใบนี้ 200 กว่าประเทศมีแค่ไม่กี่ประเทศที่เป็นเจ้าของดาวเทียม ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ได้เป็นเจ้าของดาวเทียม

 

ซึ่งจุดเริ่มต้นความฝันของผม ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ปี 2536 เป็นวันที่ดาวเทียมไทยคมถูกส่งขึ้นวงโคจร ผมในตอนนั้นอยู่ชั้น ป.6 นั่งดูทีวีการถ่ายทอดสด จังหวะนับถอยหลังส่งจรวดผมแบบ โห ทำไมมันเท่เหมือนดูการ์ตูนอยู่เลย น่าตื่นเต้นมาก ความตั้งใจเลยเกิดขึ้นตอนนั้นเลยว่าอยากเป็นคนสร้างเจ้านี่แหละ ใครมาถามผมว่าโตไปอยากทำอะไร อ๋อ “ผมจะสร้างดาวเทียม”

 

ถ้าอยากทำด้านนี้ ความสนใจที่เรียนต้องเป็นวิชาอะไร

 

ดร.พงศธร: คำถามนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ที่มีความสนใจด้านนี้นะครับ เพราะผมในตอนนั้นก็มีความสับสนเหมือนกัน คือเรารู้ว่าเราชอบเรื่องอวกาศ ดวงดาว เอกภพ การกำเนิดของจักรวาล และหลุมดำ ชอบเรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อยากสร้างยานอวกาศ แต่ผมไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์ โชคดีที่ผมได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และที่นั่นก็มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และอวกาศ มีองค์กรอวกาศแห่งชาติ เลยให้ข้อมูลแนะแนวผมเยอะมาก 

 

คือถ้ามีความสนใจด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์อวกาศ ทฤษฎีต่างๆ และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพทางธรรมชาติของวัตถุท้องฟ้า อันนี้ต้องเลือกเรียนด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Astrophysics) เหมือน ดร.วิภู รุโจปการ (อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แต่ถ้าต้องการสร้างยานอวกาศจะถือเป็นอีกศาสตร์หนึ่ง คือต้องใช้วิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์เพื่อวิจัย ออกแบบ พัฒนา สร้าง และทดสอบ ให้เกิดสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ยานอวกาศหรือดาวเทียม ดังนั้นผมจึงเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์

 

 

ซึ่งในตอนแรกผมลังเลว่าจะเลือกฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ด้วยความชอบทฤษฎี ชอบอ่านหนังสือของ สตีเฟน ฮอว์คิง ชอบอ่านหนังสือของไอน์สไตน์ แต่คนรอบตัวและครอบครัวมักจะบอกว่าจบวิทยาศาสตร์มาจะไปทำอะไรกิน เพราะประเทศเราสมัยนั้นมีมุมมองที่ว่า วิศวกรจบมาการันตีงานที่มีรายได้ดี ทุกคนเลยอยากเป็นวิศวกรมากกว่านักวิทยาศาสตร์ แต่ในต่างประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว ความเป็นจริงมันกลับกันนะครับ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เป็นคณะที่คะแนนสูงมาก สูงกว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์อีก อย่างเช่น มหาวิทยาลัยโตเกียวที่ผมได้ไปศึกษาต่อ คะแนนของคณะฟิสิกส์ดาราศาสตร์คืออันดับท็อปๆ ของมหาวิทยาลัยเลยถึงจะเข้าได้ แต่ของประเทศไทยคะแนนสูงที่สุดจะเป็นคณะแพทยศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งผมก็โอเค เรียนวิศวะก็ได้

 

จุดเริ่มต้นของการสร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ดร.พงศธร: พอผมเรียนจบกลับมาประเทศไทยก็ได้มาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา ด้วยความรู้ที่ผมเรียนมา ผมก็ชวนเด็กๆ ว่าเรามาสร้างดาวเทียมกันไหม ในตอนนั้นนักเรียนก็พาผมนั่งรถเมล์ไปบ้านหม้อหาอุปกรณ์มาสร้างดาวเทียมในราคาถูกๆ ส่องหา ตาดีได้ตาร้ายเสีย ผมใช้เงินส่วนตัวผมหมดเลยนะครับ สอนเขาทำดาวเทียมจำลอง CanSat ขึ้นมา (ดาวเทียมขนาดเล็กเท่าขนาดกระป๋องเครื่องดื่มที่จำลองการทำงานเหมือนดาวเทียมจริง) แล้วผมก็เอาอันนี้ไปเร่ขอทุนสร้างดาวเทียม ทุกคนก็หัวเราะ บอกว่าเพ้อเจ้อนะอาจารย์ มันจะเป็นไปได้อย่างไร คือโดนยับ

 

หรือบางที่ที่เข้าไปขอ เขาเห็นงบแล้วบอกว่าดวงแค่นี้ทำไมใช้เงินตั้งเยอะ ใช้ถ่ายรูปเห็นคนเดินไปเดินมาได้หรือเปล่า อย่างนี้มันไม่มีประโยชน์ ผมก็บอกว่าดาวเทียมมันเป็นดาวเทียมเพื่อการศึกษา ประโยชน์มันไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ประโยชน์มันคือคนไม่ใช่สิ่งของ ซึ่งตอนนั้นเขามองที่ดาวเทียมสำคัญกว่าคนสร้าง แต่สุดท้ายเราก็ได้ทุนจาก กสทช. ได้เงินประมาณ 9 ล้านกว่าบาทในการสร้างดาวเทียมดวงแรก 

 

ซึ่งงบประมาณที่ได้มาสามารถสร้างดาวเทียมได้ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับค่าส่งดาวเทียม ผมและนักศึกษาเลยติดต่อไปที่บริษัทจรวดหลายประเทศเรื่องการส่งดาวเทียม เช่น ประเทศอินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ทุกคนเสนอราคาขั้นต่ำมาที่ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3-4 ล้านบาท) ผมกับ ศ.ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา (อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) 

 

เขียนอีเมลติดต่อไปที่บริษัท SpaceX ขอความกรุณาให้เขาช่วยลดค่าส่งดาวเทียมให้หน่อยได้ไหม แจ้งเขาว่าดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยที่พัฒนาโดยนักเรียนของเรา มันมีความหมายมากนะครับ เพราะว่าต่อจากนี้ไปพวกเขาเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นบุคลากรแถวหน้าของอุตสาหกรรมอวกาศไทยเลย ทางเมเนเจอร์ของ SpaceX บอกว่าเดี๋ยวขอไปปรึกษา อีลอน มัสก์ ก่อน 

 

รอประมาณ 3 วัน เขาตอบอีเมลกลับมาว่า โอเค มีเงินเท่าไรก็จ่ายเท่านั้นแหละ แต่ก็มีข้อแม้ว่า เขาไม่สามารถการันตีว่าจะส่งได้เมื่อไร เพราะเราไม่ใช่ลำดับแรกๆ ฉะนั้นถ้ามีที่ว่างก็จะส่งให้ ผมกับทีมนักศึกษาก็ดีใจกันมากเลย ถึงจะไม่สามารถกำหนดวันที่จะส่งได้ก็ไม่เป็นไรครับ พวกเราก็รอกันปีกว่าเกือบสองปีถึงจะได้ส่งไป ผมก็ให้นักศึกษาของเราบินไปที่อเมริกา ผมอยากให้เขาไปเห็น เพราะมันเป็นดาวเทียมที่เขาสร้าง เขาควรจะได้เห็น ได้ทำ ตั้งแต่ต้นจนจบ

 

 

ดาวเทียม CubeSat (ดาวเทียมขนาดเล็กขนาด 10x10x10 เซนติเมตร น้ำหนัก 1 กิโลกรัม) ดวงแรกของโลกถูกส่งไปเมื่อปี 2003 ซึ่งดาวเทียม CubeSat ดวงแรกของเราที่ชื่อ KNACKSAT-1 ถูกส่งไปเมื่อปี 2561 ช้าไปกว่าดวงแรกของโลก 15 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นช่องว่างที่ไม่ได้ไกลมาก ซึ่งดาวเทียมดวงนี้มีจุดประสงค์คือเพื่อการศึกษา ให้คนไทยสามารถสร้างดาวเทียมให้เป็นก่อน 

 

ถามว่าดาวเทียมที่ส่งไปมันใช้งานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นดาวเทียมที่นักเรียนสร้าง เกิดมาในชีวิตเขาไม่เคยสร้างดาวเทียมมาก่อน แค่สร้างให้มันอยู่รอดได้ในอวกาศก็เก่งแล้ว ผมจะบอกกับทุกคนเสมอว่า ดาวเทียมที่มหาวิทยาลัยสร้างมันก็จะมีปัญหาแบบนี้ทุกดวง ถ้าอยากได้ดาวเทียมที่ดี…มีขาย แต่ถ้าอยากได้วิศวกรที่ดี…ไม่มีขาย มันต้องให้เขาทำ มันก็ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว เพราะฉะนั้นดาวเทียมดวงต่อๆ ไปที่นักเรียนเราลงมือสร้างเองเพื่อการศึกษา ผมการันตีได้ว่าจะมีปัญหาเสมอไป แต่จะไม่ใช่ปัญหาเดิม ทุกอย่างมันมีราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการเรียนรู้

 

ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งเป็นเด็กวัดด้วย เขาเป็นช่างซ่อมทีวีมาก่อน เขาเดินมาบอกว่า อาจารย์ ผมอยากสร้างดาวเทียมกับอาจารย์ ซึ่งเขาก็คือหนึ่งในกลุ่มนักเรียนที่ทำดาวเทียม KNACKSAT-1 วันนี้เขาคือเจ้าของบริษัทดาวเทียม NBSPACE เป็นบริษัทอวกาศสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รางวัล สามารถผลิตและขายดาวเทียมให้ลูกค้าจากประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และภูฏาน เป็นต้น

 

ซึ่งในปัจจุบันจำนวนวิศวกรด้านอวกาศหรือคนที่สร้างดาวเทียมได้ในบ้านเราเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้วถือว่าเยอะขึ้นมากนะครับ ผมว่าความพยายามของคนไทยที่จะสร้างดาวเทียมมีมานานแล้ว แต่แค่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร

 

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษา

 

ดร.พงศธร: ก่อนที่ผมจะมาเป็นอาจารย์ ตอนที่เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผมอยู่ในรุ่นที่สร้างดาวเทียม CubeSat ดวงแรกของโลก ถือเป็น Game Changer เลย เพราะดาวเทียม CubeSat เป็นดาวเทียมขนาดเล็กเท่ากล่องทิชชูซึ่งมีน้ำหนักเพียงแค่ 1 กิโลกรัม ซึ่งเจ้าของไอเดียคือ ศ.ดร.บ็อบ ทวิกส์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเขาเป็นอาจารย์ของอาจารย์ผมอีกทีหนึ่ง แนวคิดการสร้าง CubeSat เริ่มมาจาก ศ.ดร.บ็อบ บอกว่า เราสอนนักเรียนเรื่องดาวเทียมมาเป็นสิบๆ ปี แต่สุดท้ายพอเรียนจบกลับไม่มีใครสามารถสร้างดาวเทียมเป็นสักคน สุดท้ายเขาจะได้สร้างเป็นก็ต่อเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในบริษัทที่สร้างดาวเทียมหรืออยู่ในองค์กรอวกาศ แสดงว่าการศึกษามีปัญหา

 

เขาบอกว่าเทคโนโลยีอวกาศ (ในตอนนั้น) มันเป็นสิ่งของราคาแพงและมีขนาดใหญ่เท่ารถบรรทุก การที่เราจะส่งอะไรไปอวกาศ ส่งดาวเทียมสักดวงหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องใช้เงินมหาศาล เขาเลยมีไอเดียว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำเล็กๆ สิ ใช้อุปกรณ์ทั่วไป ส่งไปแล้วพังก็ช่างมัน เราทำเพื่อให้นักเรียนได้ลองลงมือสร้างเองจริงๆ

 

โดยปกติแล้วดาวเทียมหนึ่งดวงจะใช้เวลาสร้างเทียบเท่ากับการสร้างเครื่องบินหนึ่งลำเลย คือประมาณ 5-7 ปีกว่าจะสร้างเสร็จ ฉะนั้นถ้าเด็กเรียนจบไปแล้วดาวเทียมยังสร้างไม่เสร็จก็ไม่เหมาะสำหรับการศึกษา เขาเลยมองว่าสร้างดาวเทียมที่ไม่ต้อง High Performance มาก แต่ใช้เวลาไม่เกิน 1-2 ปี เพื่อที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ ได้มีประสบการณ์ ได้ลองลงมือทำก่อนจบการศึกษาไปดีกว่า 

 

ถามว่า CubeSat ดวงแรกของโลกกลายเป็น Game Changer อย่างไร ถ้าไปดูกราฟจำนวนดาวเทียมที่ปล่อยเข้าสู่วงโคจรหลังจากดาวเทียม CubeSat ดวงแรกจะเห็นได้ว่ามีการเติบโตขึ้นแบบ Exponential Growth (การเติบโตแบบยกกำลัง) เพราะว่าขนาดที่เล็กลงทำให้ราคาถูกลง รวมถึงระยะเวลาในการสร้างที่สั้นลง ทั้งนี้ ค่าส่งดาวเทียมก็ยังถือว่าแพงมากอยู่ เรตราคาอยู่ที่ 1 กิโลกรัมประมาณ 4 ล้านบาท เช่น เราน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม ถ้าจะส่งตัวเราไปอวกาศ ก็เอาน้ำหนักตัวคูณ 4 นั่นคือราคาขั้นต่ำที่เราต้องจ่าย เพราะฉะนั้นดาวเทียม 1 ดวง ต่อให้ขนาดเท่ากล่องทิชชู แต่น้ำหนัก 1 กิโลกรัมก็ยังต้องเสียค่าส่งประมาณ 4 ล้านบาท

 

พอผมได้อยู่ในทีมสร้าง CubeSat ดวงแรกของโลก ได้รับไอเดียนี้มา เลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากกลับมาเป็นอาจารย์ที่ประเทศไทย อยากเอาความรู้และประสบการณ์มาสอนนักเรียนไทย ให้คนไทยได้ลองสร้างดาวเทียมเอง เพราะผมคิดว่าเราก็มีศักยภาพพอที่จะทำได้

 

 

ปัจจุบันราคาดาวเทียมเป็นอย่างไร

 

ดร.พงศธร: ราคาถูกลงครับ เพราะค่าส่งดาวเทียมถูกลงกว่าสมัยก่อน ต้องขอบคุณ อีลอน มัสก์ ที่เขาทำ Reusable Rocket ทำให้ราคาการส่งดาวเทียมในปัจจุบันราคาต่ำกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีเงิน 1-2 ล้านบาทก็สามารถส่งดาวเทียมของตัวเองได้แล้ว เข้าไปที่เว็บไซต์ จองสล็อต บัตรเครดิตการ์ดรูด มันง่ายเหมือนสั่งแกร็บเลย

 

แล้วใครจะใช้บริการบ่อยขนาดนั้น (หัวเราะ)

 

ดร.พงศธร: ถ้าใครยังจำบทสัมภาษณ์ของ บิล เกตส์ ได้ ตอนนั้นผมเป็นนักเรียนชั้นประถม ยังจำได้ไม่เคยลืม เขาบอกว่า ในอนาคตหนึ่งคนจะมีคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ในตอนนั้นผมฟังแล้วยังนึกไม่ออกเลยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรถ้าคุณอยู่ในยุคนั้น มันเป็นเรื่องตลกมาก ไปเล่าให้ใครฟังเขาขำนะครับ แต่มันก็เกิดขึ้นจริงอย่างที่พวกเราเห็นในปัจจุบัน

 

ดังนั้นอุตสาหกรรมอวกาศก็น่าจะมีความคล้ายคลึงในบางมิติ ที่วันหนึ่งการมีดาวเทียมเป็นของตัวเองจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่ว่ามันมีความต่างคือ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อะไรพวกนี้เป็น Direct Benefit (ผลประโยชน์โดยตรง) แต่ดาวเทียมไม่เคยให้ Direct Benefit ฉะนั้นทุกวันนี้ต่อให้ดาวเทียมจากราคาพันล้านเหลือแค่ล้านเดียวก็ตาม ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ต้องการซื้อ คนส่วนใหญ่คงไม่ซื้อ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เขาก็คงเลือกซื้อรถยนต์ดีกว่า 

 

เพราะในความเป็นจริงคือคนไม่ได้อยากได้ดาวเทียม แต่สิ่งที่คนอยากได้คือข้อมูลจากดาวเทียมต่างหาก เช่น ข้อมูล GPS (ระบบการนำทางด้วยดาวเทียม) ระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม สัญญาณโทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น Direct Benefit ที่ทุกคนอยากได้ ซึ่งปัจจุบันข้อมูล GPS ใช้ได้ฟรี สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ก็ซื้อใช้ผ่านดาวเทียมของบริษัทสื่อสาร ดังนั้นกลไกของธุรกิจดาวเทียมจึงไม่เหมือนกับ Consumer Product (สินค้าอุปโภคบริโภค) ทั่วไป 

 

ถ้าถามว่าอุตสาหกรรมอวกาศส่วนใหญ่เม็ดเงินมันไปอยู่ไหนในเมื่อเราก็ใช้ฟรี คำตอบคือมันไปอยู่ที่ผู้ผลิตชิปรองรับสัญญาณ GPS ครับ ทุกคนต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตชิปเพื่อมารับสัญญาณ GPS ดังนั้นสหรัฐอเมริกาเขาร่ำรวยด้วยการขายอะไรพวกนี้ เลยทำให้คนทั่วไปไม่ได้รู้สึกอยากได้หรือเห็นความจำเป็นที่ต้องมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง

 

ในอนาคตผมคิดว่าอุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียมสามารถเข้าถึงคนที่เป็นผู้ใช้งานได้ แต่เรายังไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร เพราะมันมี Potential สูงมาก สิ่งที่เราเคยคิดว่าไม่น่าจะทำได้ในอดีตมันก็ทำได้แล้วในวันนี้ ที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดคือ Starlink ของ อีลอน มัสก์ (บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านกลุ่มดาวเทียมจากบริษัท SpaceX) ซึ่งจริงๆ อีลอน มัสก์ ไม่ได้เป็นคนคิดคนแรก 

 

แต่เป็น บิล เกตส์ เมื่อปี 1991 เขาลงทุนในบริษัทที่สร้าง Broadband Satellite Internet Constellation (กลุ่มดาวเทียมเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต) ขึ้นมาแล้วก็เจ๊งไป เพราะต้องใช้ดาวเทียมเป็นพันๆ หมื่นๆ ดวง ซึ่งในสมัยนั้นด้วยความที่จำนวนจรวดสำหรับส่งดาวเทียมมีไม่มาก จึงทำให้ในหนึ่งปีสามารถส่งดาวเทียมได้แค่ไม่กี่ลูก คือมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย กว่าดาวเทียมจะครบหมื่นลูก ดาวเทียมที่ส่งไปก่อนหน้านี้ก็พังหมดแล้ว แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ดาวเทียมมีขนาดเล็กลง ค่าส่งก็ถูกลง

 

 

แต่เนื่องจากการสร้างและส่งดาวเทียมจำนวนมากขนาดนี้ เพื่อให้บริการดาวเทียมอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทั่วโลกแบบที่ Starlink ทำได้ ผมคิดว่าตอนนี้ยังมีแค่เพียงคนเดียวบนโลกตอนนี้ที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ ก็คือคนคนนั้นต้องเป็นเจ้าของจรวด และคนคนนั้นต้องเป็นเจ้าของบริษัทดาวเทียม ถ้าเป็นบริษัทดาวเทียมอย่างเดียวเขาต้องซื้อจรวดกี่ลำ บนโลกนี้มันมีแค่ 11-12 ประเทศเท่านั้นที่มีจรวดเป็นของตัวเอง และการส่งดาวเทียมมันต้องต่อคิวนะครับ ไม่ใช่ว่าผมอยากส่งดาวเทียมหมื่นดวงแล้วจะทำได้เลย และกว่าจะครบครอบคลุมทั่วโลกมันต้องใช้จรวดในการส่งมหาศาล คือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของจรวดเอง มันก็เลยมีคำตอบเดียวว่า คนเดียวบนโลกใบนี้ที่ทำได้ตอนนี้ก็คือ อีลอน มัสก์ (เจ้าของ SpaceX)

 

ดังนั้นคนที่เข้าใจเนเจอร์ของอุตสาหกรรมนี้จริงๆ มีน้อยมาก แล้วคนที่เข้าใจเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นคนกำหนดนโยบายให้รัฐ รัฐบาลเองอาจจะมองไม่เห็น Direct Benefit จึงเกิดคำถามว่า ประชาชนจะได้อะไร ประชาชนจะอิ่มท้องไหม ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องนั้นไงครับ เพราะในต่างประเทศเขามองว่าอวกาศถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานเหมือนถนน น้ำประปา และไฟฟ้า

 

การแข่งขันในอุตสาหกรรมอวกาศระดับโลกเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับบ้านเรา

 

ดร.พงศธร: ปัจจุบันการแข่งขันทั่วโลกสูงมากครับ เฉพาะแค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเราถือว่าอยู่ลำดับท้ายๆ คนที่อยู่หัวแถวตอนนี้คือประเทศสิงคโปร์ รองลงมาคืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังตามหลังเวียดนามอยู่เลยครับ 

 

ตอนผมกลับมาประเทศไทยเมื่อปี 2555 จนถึงปีนี้ ก็นับเป็นเวลา 11 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีดาวเทียมที่คนไทยสร้างเองแค่ 2 ดวง ดวงแรกคือ KNACKSAT-1 ดวงที่ 2 คือ BCCSAT-1 

 

ตอนนี้เกิด Moon Rush (การแข่งขันทางเทคโนโลยีเพื่อส่งหรือเพื่อการเดินทางไปยังดวงจันทร์) ใครๆ ก็ไปดวงจันทร์ ทุกคนพยายามเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ประเทศไทยเองก็ไม่อยากตกขบวน แต่ที่ผ่านมาเราไม่ทำอะไรเลย เราไม่กล้าที่จะคาดเดาอนาคต เพราะฉะนั้นเรายังอยู่ในสเตจที่ Conservative (แนวคิดอนุรักษนิยม) มากๆ ถ้าเราไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน เราจะไม่ทำอะไร

 

 

ไทยประกาศสร้างยานดาวเทียมไปดวงจันทร์ ทำได้จริงไหม

 

ดร.พงศธร: มันไม่ได้เป็นการการันตีนะครับ แต่เป็นการบอกว่าถ้าประเทศไทยทำได้แสดงว่าไทยได้เปลี่ยนแปลงแล้ว ถามว่าทำไมถึงต้องใช้เวลา 7 ปี มันมีหลายสาเหตุ อย่างแรก เราจะไม่เคยเห็นโครงการวิจัยและพัฒนาของรัฐที่ยาวนานแบบนี้มาก่อน ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ให้เงินสนับสนุนติดต่อกันเป็นเวลายาวนานแบบนี้ มันเป็นกุศโลบายเชิงบวกความหวัง เพราะส่วนใหญ่ทุกโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านมาจะอยู่ภายใต้ 1 วาระของรัฐบาลทั้งนั้น ทุกอย่างก็จะต้องภายใน 4 ปี จึงทำให้โครงการนี้มีความหมายที่แฝงมากกว่านั้น ไม่ใช่ว่าเราไปดวงจันทร์ได้หรือไม่ได้ แต่เราจะรักษาการดำเนินงานให้ครบตามวาระ 7 ปีที่ตั้งไว้ได้หรือเปล่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ถ้ายังทำไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการไปดวงจันทร์เลย

 

อย่างที่สอง ทำไมถึงต้องไปดวงจันทร์ ทำไมไม่ไปดาวอังคารล่ะ หรือไปทำไม ที่เราเสนอภารกิจนี้ต่อรัฐบาล เป้าหมายคือเราอยากให้คนไทยเก่ง เราอยากเพิ่มขีดความสามารถของคนภายในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถของวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อคนของเราเก่งแล้ว ไม่ต้องสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ก็ได้ เราสามารถสร้างอะไรก็ได้แล้ว ในมุมมองของวิศวกร การไปดวงจันทร์ถือเป็นเป้าหมายที่ Reachable นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมตอนนี้ถึงมี Moon Rush เพราะทั่วโลกตอนนี้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน แค่เฉพาะปีนี้ 2566 มียานอวกาศไปลงจอดที่ดวงจันทร์ทั้งหมด 3 ลำ ตั้งแต่ต้นปีเลย มีบริษัท ispace ของประเทศญี่ปุ่นส่งไป 1 ลำ ของประเทศรัสเซีย 1 ลำ และอีกลำคือจันทรายาน-3 ของประเทศอินเดีย ซึ่งในปีหน้าและในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมียานอวกาศของอีกหลายประเทศเลยที่กำลังจะเดินทางไปลงดวงจันทร์เช่นกัน

 

เราต้องตั้งข้อสงสัยก่อนว่าแล้วเขาไปทำไมกัน แต่ละประเทศมีจุดประสงค์ต่างกัน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป รวมถึงประเทศจีน การไปดวงจันทร์ไม่ได้เพื่อโชว์ศักยภาพอีกต่อไป แต่เพื่อครองความเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ และมีนัยอื่นที่สำคัญกว่านั้นคือ ปัจจุบันจะทำอย่างไรให้ประหยัดขึ้น จึงเกิดความร่วมมือและแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันระหว่างประเทศที่เคยสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ ส่วนประเทศที่ไม่เคยไปเลยจะทำอย่างไร ผมว่าตัวอย่างที่ประเทศอินเดียทำได้ ทำให้เห็นว่าประเทศเขามีความพร้อมมาก สามารถสร้างเทคโนโลยีอวกาศได้เช่นกัน ทำให้ตอนนี้ประเทศเยอรมนีและประเทศอื่นๆ สนใจและไปตั้งโรงงานผลิตดาวเทียมที่ประเทศอินเดียแล้ว

 

อะไรคืออุปสรรคและความท้าทายที่บ้านเรากำลังเจออยู่

 

ดร.พงศธร: ผมว่าความเข้าใจของคนในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่หนึ่ง สังเกตได้จากเมื่อปี 2563 ที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ออกมาบอกว่า ประเทศไทยจะไปดวงจันทร์ ซึ่งตอนนั้นก็เกิดดราม่าว่าคนไทยยังจนอยู่เลย ทำไปทำไม ผมอยากอธิบายอย่างนี้ว่า งบประมาณที่ประเทศอินเดียใช้ในการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ประมาณ 3,000 ล้านบาท ถ้าเทียบแล้วน้อยกว่าการสร้างหนังฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งอีกนะ หรือโครงการก่อสร้างทางยกระดับตรงลาดกระบัง ตรงนั้นก็ใช้งบประมาณ 1,600 ล้านนะครับ ซึ่งถ้าเทียบกับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้หากเราไปดวงจันทร์ได้สำเร็จมันประเมินค่าไม่ได้เลย ถ้าพวกเรายังคิดว่านี่คือการเสียเปล่าของการใช้ภาษี ผมว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้ประเทศไทยทำอะไรแบบนี้ได้ 

 

ปัจจัยที่สองคือ มันต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ให้มันเกิดขึ้น ประเทศเราไม่เคยเตรียมความพร้อมอะไรเพื่อสิ่งนี้มาก่อน จากประสบการณ์ตอนผมทำ KNACKSAT-1 ผมไม่มีความรู้มาก่อนเลยว่าการสร้างดาวเทียมในประเทศไทย เวลาจะนำดาวเทียมออกนอกประเทศเพื่อนำไปส่งเข้าสู่วงโคจร จะต้องขออนุญาตนำออกนอกประเทศ มันมีกฎหมายนะครับ ไม่ใช่ใครนึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ต้องไป Register มันมีขั้นตอนเยอะแยะเต็มไปหมด หรือแม้กระทั่งการนำเข้าอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนดาวเทียมบางอย่างที่ต้องซื้อและนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะเรายังไม่สามารถผลิตเองได้ทั้งหมด ตรงนี้มันมีขั้นตอนที่อาจจะไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอวกาศ ดังนั้นข้อบังคับและกฎหมายถือเป็นหนึ่งในสภาวะแวดล้อม เราต้องจัดสรรสภาพแวดล้อมให้เราทำงานได้ก่อน

 

 

สุดท้ายถ้าให้วางยุทธศาสตร์ชาติด้านอุตสาหกรรมอวกาศในไทย คิดว่าหน้าตามันควรจะเป็นอย่างไร

 

ดร.พงศธร: ต้องเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นตัวตั้ง มองอย่างที่หลายๆ ประเทศมอง ก็คืออวกาศเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยควรแสวงหาประโยชน์จากอวกาศ เพราะมันเป็นพื้นที่เสรีในระดับที่สากลเขาทำกันแล้ว ถ้าประเทศไทยยังไม่เริ่ม ถือว่าเป็นการเสียโอกาสมาก 

 

เราต้องมองว่าแผนยุทธศาสตร์คือเครื่องมือหรือแนวทางการบริหารประเทศ การวางแผนยุทธศาสตร์ต้องเป็นแผนที่ชัดเจนและมากับงบประมาณที่ผูกพัน ซึ่งเรายังมีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นการที่แผนไม่ชัดเจน ไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม งบประมาณไม่สามารถทำตามสัญญาที่ระบุไว้ได้ มันก็เปล่าประโยชน์

 

ถ้าให้ผมทำ มันจะต้องเป็นโครงการที่สร้าง Direct Benefit ให้กับประชาชนมากที่สุด มันควรจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น การป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม เราจำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเรดาร์ในการเฝ้าระวังระดับน้ำ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเขต Tropical Zone (เขตร้อนชื้น) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประมาณ 70% ของทั้งปีมองขึ้นไปบนท้องฟ้าจะมีแต่เมฆ 

 

ถ้าใช้ดาวเทียมถ่ายภาพธรรมดาถ่ายลงมาก็จะมองไม่เห็นเพราะติดเมฆหมด ซึ่งดาวเทียมที่เรามี อย่างเช่น ดาวเทียมไทยคมที่เป็นดาวเทียมสื่อสาร หรือดาวเทียมธีออสซึ่งเป็นดาวเทียมถ่ายรูปเชิงแสงทั่วไป ฉะนั้นทุกวันนี้เราก็ต้องไปซื้อภาพถ่ายดาวเทียมเรดาร์เพิ่มเติมเพื่อใช้แก้ปัญหาของประเทศ แต่ถ้าถามว่าการซื้อดาวเทียมเป็นของตัวเองเป็นเรื่องดีไหม ก็ต้องตอบว่าก็ควรต้องมี แต่มันอาจยังไม่ครบองค์ประกอบทั้งหมด เพราะสิ่งที่เราต้องการจริงๆ มันไม่ใช่แค่การถ่ายภาพได้เพื่อดูแค่น้ำท่วมอย่างเดียว แต่เราต้องการสร้างคนของเราให้เก่งขึ้น ไม่ใช่แค่ใช้เป็น แต่ต้องสร้างให้เป็นด้วย เพื่อความยั่งยืน 

 

มันเลยเป็นความจำเป็นของประเทศที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ป้องกันปัญหาภัยพิบัติ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีเทคโนโลยีใช้ จึงจะไปเพิ่มความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศด้านการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรได้ สิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานที่ต้องไม่คำนึงถึงกำไรหรือผลตอบแทน มันเป็น Basic Need ที่รัฐบาลควรจัดให้กับประชาชน ผมคิดว่ามันควรจะ Base On ไอเดียนี้ในการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising