×

3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567

11.01.2024
  • LOADING...

เข้าสู่ปี 2567 แล้วนะครับ ในช่วงต้นปีแบบนี้ ผมขอชวนทุกคนมาติดตามกันครับว่า ตลอดปีนี้มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ESG ที่เราควรให้ความสนใจกันบ้าง ซึ่งถ้าให้ผมมอง ก็จะมี 3 เรื่องที่ค่อนข้างโดดเด่นครับ ได้แก่ 1. กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG 2. การจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ และ 3. เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน 

 

สำหรับมิติกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG นั้น ผมมองว่าในปี 2566 เราได้เห็นกฎเกณฑ์ที่ประเทศต่างๆ ได้เริ่มบังคับใช้ รวมถึงประกาศว่าจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ในปีนี้และเร็วๆ นี้มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้เพิ่มความเข้มข้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอีกด้วย 

 

อย่างเช่นที่สหภาพยุโรป (EU) ได้มีการบังคับใช้ ‘ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD)’ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ยกเว้นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก) จะต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากบริษัทใดที่เข้าข่ายตามข้อบังคับ CSRD ต้องรายงานข้อมูลภายใต้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของยุโรป (European Sustainability Reporting Standards: ESRS) ดังนั้นปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูล เพื่อจัดทำรายงานตามมาตรฐาน ESRS ก่อนเผยแพร่รายงานในปี 2568 

 

ขณะที่สหรัฐฯ นอกจากกฎหมาย Clean Competition Act หรือ US-CBAM ซึ่งเป็นมาตรการเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2568 กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ก่อนขยายไปอุตสาหกรรมอื่นๆ ในปี 2570 ต่อไปนั้น ยังจะมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การเปิดข้อมูลสภาพภูมิอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California’s New Climate Disclosure Rules) รวม 2 ฉบับ คือ SB 253 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบขององค์กรต่อข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ ที่กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรวมถึงข้อมูลของห่วงโซ่อุปทานด้วย และ SB 261 กฎหมายว่าด้วยเรื่องก๊าซเรือนกระจก สภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องรายงานความเสี่ยงทางการเงินที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ แม้ พ.ร.บ. นี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 แต่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2567 แล้ว อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ช่วงปลายปีด้วยครับ เพราะหากเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อีกครับ 

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของประเทศมหาอำนาจที่มีการเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change และการรายงานความยั่งยืน ยังมีอีกหลายประเทศที่เตรียมออกกฎหมายและมาตรฐานการรายงานลักษณะคล้ายๆ กันนี้เพิ่มเติม ซึ่งการรายงานที่เข้มข้นขึ้นจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ลงทุนได้เห็นว่า หุ้นหรือตราสารหนี้ของบริษัทที่ตัวเองลงทุนโดยตรงอยู่หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม สร้างผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไรบ้าง 

 

ประเด็นต่อมาที่ควรให้ความสนใจไม่แพ้กัน คือ การจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ ที่ผมมองว่าเป็นอีกแนวโน้มสำคัญที่เราจะได้เห็นมากขึ้นครับ ไม่ใช่แค่นักลงทุนสถาบันที่พยายามปรับพอร์ตลงทุนโดยลดหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

 

นักลงทุนรายย่อยเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำเพิ่มขึ้นตามครับ โดยพยายามมุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์หรือกิจการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือหุ้นของบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของ Morningstar ที่ระบุว่า เจ้าของสินทรัพย์ 2 ใน 3 หรือ 67% เชื่อว่า ประเด็น ESG มีความสำคัญต่อนโยบายการลงทุนมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ เนื่องจากเชื่อว่าประเด็นนี้มาพร้อมโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้จะเป็นแรงกดดันทำให้บริษัทที่กำลังหรือมีแผนจะระดมทุนเพิ่ม ต้องพยายามปรับปรุงการดำเนินงานไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ มิฉะนั้นอาจระดมทุนยากขึ้น  

 

ส่วนประเด็นสุดท้าย เรื่องเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน มีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนครับ เพราะนานาประเทศและองค์กรทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับประเด็น ESG เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการน้ำ สอดรับกับเป้าหมายที่โลกจะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น โดยเทคโนโลยีที่คาดว่ายังคงมาแรงต่อเนื่องจะเกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน 

 

ทั้ง 3 ประเด็นที่ผมหยิบยกมานี้ ล้วนมีความสำคัญกับการลงทุนทั้งสิ้นครับ เพราะเป็นประเด็นที่มาพร้อมโอกาสและความท้าทายให้นักลงทุนต้องปรับตัว เพื่อให้แน่ใจว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2567 นักลงทุนคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG และ Climate ที่เรานำมาเป็นทางเลือกในการลงทุนเพิ่มเติมอย่างแน่นอนครับ 

 

อ้างอิง: 

 


 

คำเตือน: 

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising