×

ผู้เชี่ยวชาญแจง Fed คงอัตราดอกเบี้ยสูง-ยาว อาจไม่ใช่สัญญาณลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

25.04.2024
  • LOADING...

ท่ามกลางความหวาดวิตกกังวลของบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีทต่อท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีแนวโน้มว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5% นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งยังมีโอกาสที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยกว่าที่เคยส่งสัญญาณ จนกลายเป็นปัจจัยลบที่หลายฝ่ายกังวล เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงอาจฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังฟื้นตัวอยู่ในเวลานี้

 

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงแถมลากยาวจะไม่ใช่สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดหวังไว้ กระนั้นสถานการณ์ในขณะนี้ก็บ่งชี้แล้วว่านักลงทุนจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้พิสูจน์ชัดเจนว่าดื้อรั้นกว่าที่คาด โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% เมื่อเทียบกับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ท่าทีของ Fed ยังชัดเจนมากขึ้น เมื่อถ้อยแถลงล่าสุดของ Jerome Powell ประธาน Fed และผู้กำหนดนโยบายอื่นๆ ต่างเห็นตรงกันว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แถมยังมีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกหากอัตราเงินเฟ้อไม่ผ่อนคลายลง

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง รวมถึง Quincy Krosby หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของ LPL Financial กลับมองว่าอัตราดอกเบี้ยสูงอาจไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางรายงานผลประกอบการทางบวกของหลายธุรกิจในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในเวลานี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเติบโตได้ดีทั้งในตลาดการเงินและตลาดเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งบริษัทหลายแห่งยังเปิดเผยแผนการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเติบโต

 

นอกจากนี้ Krosby ยังย้ำว่า สิ่งที่จะทำให้กังวลได้ในขณะนี้ก็คือการที่บริษัททั้งหลายเริ่มตัดลดต้นทุนการใช้จ่าย บวกกับตัวเลขการจ้างงานที่ลดลง และตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยสูง เพราะสะท้อนให้เห็นว่าดอกเบี้ยสูงกำลังกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเองก็มีผลงานโดยรวมที่ดีเกินคาด โดยแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะพุ่งกว่า 5 % บวกกับแรงเทขายล่าสุดกว่า 5.5% ใน S&P 500 แต่ตลาดก็ยังทรงตัวได้ดีเกินคาด แถมยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ยังได้รื้อประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าหลายช่วงเวลาการที่ Fed คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะตกต่ำเสมอไป และโดยทั่วไปแล้วอัตราที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่ดีตราบใดที่อัตราเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการเติบโต ยกเว้นแต่ช่วงที่ Paul Volcker อดีตประธาน Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวและสุดโต่งเพราะตั้งใจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ทั้งนี้ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แสดงการเติบโตได้ดีและค่อนข้างแกร่งในเวลานี้ การที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยขณะนี้มีการคาดการณ์แล้วว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ ไตรมาสแรกปีนี้จะเพิ่มขึ้น ทำให้ GDP สหรัฐฯ บวกขึ้น 7 ไตรมาสติดต่อกัน (สหรัฐฯ มีกำหนดเปิดรายงาน GDP ไตรมาสแรกในวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน)

 

นักวิเคราะห์ชี้อีกว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตรงกันข้าม ประธาน Fed มักถูกตำหนิว่ารักษาอัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป จนนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในหลายครั้ง เช่น ฟองสบู่ดอทคอมและวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในความเป็นจริงยังมีข้อโต้แย้งว่า ที่ผ่านมานโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของ Fed มีมากเกินไป และกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มูลค่า 27.4 ล้านล้านดอลลาร์มากกว่า

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งมองว่าประเด็นหลักที่มีอิทธิพลต่อนโยบายการเงิน เช่น อุปสงค์ ยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่ปัญหาอุปทานซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่นอกเหนืออัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ และที่ที่อัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญก็คือในตลาดการเงิน ดังนั้นหากว่าดีมานด์-ซัพพลายยังดีอยู่อย่างในเวลานี้ อัตราดอกเบี้ยของ Fed จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจโดยรวม

 

ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนต้องเตรียมตัวคือทำใจร่มๆ และพร้อมเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยสูงที่น่าจะลากยาวกว่าที่คาดไว้ และจับตาดูการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมถึงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะมีผลต่อการเติบโตของสหรัฐฯ โดยรวมในอนาคต รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising