×

ผู้นำศตวรรษที่ 21 เลิกสั่ง แล้วฟัง

25.12.2019
  • LOADING...
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

ผู้นำหลายคนที่ผมได้พูดคุยในรอบปี 2019 ล้วนแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่หนักที่สุด บางคนถึงขั้นเอ่ยปากว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอกับวิกฤตที่รุนแรงขนาดนี้

 

ทั้งวงจรเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงปลายวัฏจักร สงครามการค้าและสงครามค่าเงินที่ร้อนระอุกลายเป็นสงครามเย็น 2.0 (ที่ไม่เห็นจะเย็นเหมือนชื่อ) คู่แข่งที่มองไม่เห็นและมองเห็น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วแบบกราฟ Exponential รวมไปถึงความคาดหวังของผู้บริโภคที่สูงขึ้นไร้ขีดจำกัด

 

รุนแรง รวดเร็ว และหนักหน่วง ยังพอรับมือได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ‘การคาดเดาไม่ได้’ ในประวัติศาสตร์โลกคงมีไม่บ่อยที่เกือบทุกทวีตของผู้นำจะสั่นสะเทือนตลาดหุ้นได้ทั้งกระดาน การดีลไม่จบไม่สิ้นของ Brexit ว่าตกลงจะ Hard หรือ Soft หรือ No Deal กันแน่ หรือกระทั่งการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อ

 

วิกฤตหลายอย่างทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เราไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นของมันอยู่ที่ตรงไหน จุดสิ้นสุดที่แท้จริงคือเมื่อไร และคลื่นอะไรจะซัดมาอีกบ้าง นี่คือความน่ากลัวของโลกยุค Disruption

 

ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ ผมมักขอคำแนะนำจากผู้นำเก่งๆ ระดับโลก ประเทศ และองค์กร ว่า ‘อะไรคือคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21’ ที่จะนำพาองค์กรให้อยู่รอดในมรสุมได้ แต่ละคนก็มีคำแนะนำที่หลากหลาย แต่เชื่อไหมครับว่าทุกคนจะพูดประโยคหนึ่งคล้ายกันคือ ‘เลิกสั่ง แล้วฟัง’

 

ฟังลูกค้า ฟังคู่ค้า ฟังลูกน้อง ฟังหัวหน้า ฟังคนที่อยู่หน้างานที่สุด ฟังคนที่อยู่ใกล้ปัญหาที่สุด ฟังความเห็นที่แตกต่าง ฟังเสียงของสังคม ฟังเสียงใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย

 

ถามว่าทำไมต้องฟัง ไม่ใช่เพราะเราไม่เก่ง แต่เพราะโลกซับซ้อน ผันผวน หลากหลาย ไม่แน่นอน เปราะบาง และหมุนเร็วขึ้นทุกวัน การตัดสินใจจากข้อมูลที่ผู้นำมีอยู่คนเดียวไม่มีทางเอาตัวรอดได้ 

 

เราฟังเพื่อเข้าอกเข้าใจลูกค้าและทีมงาน (Empathize) ฟังเพื่อเข้าใจปัญหาและความท้าทายใหม่ ฟังเพื่อเคารพในความเห็นที่ไม่เหมือนกัน และถึงที่สุดเราต้องกล้าเปิดใจฟังคำวิจารณ์ที่เจ็บปวดเพื่อพัฒนาตัวเอง

 

ผู้นำบางคนถึงกับบอกผมว่า สูตรสำเร็จแบบเดิมใช้ได้จริงแค่ 20% ที่เหลือต้องหาใหม่ ผู้นำอาวุโสระดับประเทศอีกคนบอกผมว่า เวลาส่วนใหญ่ของเขาในตอนนี้ไม่ใช่การบริหารงาน แต่คือการคุยกับคนรุ่นใหม่เพื่อจะได้รู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว ตัวเขาต้องปรับตัวอะไร ขณะที่ผู้นำองค์กรไทยไประดับโลกอีกคนบอกว่า เขาใช้เวลากว่า 7 เดือนต่อปีบินไปโรงงานทั่วโลกเพื่อฟังว่าคนหน้างานเจอปัญหาอะไร

 

ผมลองนำคำแนะนำนั้นมาปรับใช้กับตัวเอง พูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น ผลลัพธ์คืออีโก้และความหลงตัวเองลดลง มองเห็นศักยภาพในตัวทีมงานมากขึ้น การฟังยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เรากล้าที่จะมอบอำนาจ (Empower) และอิสรภาพให้คนตัวเล็กๆ ที่ไม่เคยเจิดจรัส ซึ่งหากเลือกคนถูก เขาจะเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานอย่างเป็นธรรมชาติ และองค์กรจะแข็งแกร่งขึ้นอย่างที่คาดไม่ถึง

 

ผมกล้าพูดว่าหากผมไม่ฟังคนอ่านหรือผู้สนับสนุน สำนักข่าว THE STANDARD ในวัย 2 ปีครึ่งก็คงไม่มีวันนี้ คุณคือคนที่ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง คุณคือคนที่ทำให้เราอยากเติบโต อาจพูดได้ว่า ‘ความคาดหวังของคุณคือแรงผลักดันของเรา’ 

 

ในนามตัวแทนทีมงาน ผมต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนที่ดีเสมอมา เราสัญญาว่าจะเปิดใจฟังทุกเสียงวิจารณ์อันมีค่าเพื่อยกระดับมาตรฐานให้ดีขึ้นไปไม่หยุดนิ่ง 

 

เพราะในโลกที่คาดเดาไม่ได้ แม้เสียงจากคนตัวเล็กที่เงียบเบา แต่หากผู้นำตั้งใจฟัง เสียงนั้นก็อาจกลายเป็นท่วงทำนองอันไพเราะก้องกังวาน

 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising