×

วิจัยพบ หลังจากนี้ 7 ปีเป็นต้นไป ขั้วโลกเหนือ​จะไม่เหลือน้ำแข็ง​อีกเลยในฤดูร้อน

โดย Mr.Vop
15.06.2023
  • LOADING...
น้ำแข็ง ขั้วโลกเหนือ

แทบทุกคนรับรู้จากข่าวสาร​ว่าปัญหา​โลก​ร้อน​กำลังทวีความรุนแรง​ขึ้น​เรื่อยๆ แต่ใครจะรู้ว่าการปรากฏ​เป็น​รูปธรรม​จะมาถึงรวดเร็ว​ขนาดนี้ งานวิจัย​ล่าสุดพบว่าทศวรรษ​หลังปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป ขั้วโลกเหนือ​อาจไม่มีน้ำแข็ง​ให้เห็นอีกเลยในฤดูร้อน​

 

การหายไปของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือในทุกฤดูร้อนของทศวรรษหน้า จะเกิดขึ้นแน่นอนแม้เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จในวันนี้ก็ตาม เหตุเพราะบริเวณขั้วโลกเหนือนั้นมีสภาพอ่อนไหวต่อสภาพโลกร้อนมาก และนักวิทยาศาสตร์พบว่าอุณหภูมิบริเวณนี้เพิ่มขึ้นไวกว่าบริเวณอื่นของโลกถึง 4 เท่าในรอบ 43 ปีที่ผ่านมา

 

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือ​คืออะไร แตกต่างจากน้ำแข็ง​ขั้วโลกใต้ด้วยหรือ? 

ภาพในความคิดของเรานั้น ขั้วโลกทั้งสองอาจดูคล้ายกันมาก แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีอะไรเหมือนกันเลยนอกจากสีขาวของหิมะและสัตว์ 2 ชนิดที่ไม่เคยพบกัน นั่นคือหมีขาวในขั้วโลกเหนือกับเพนกวินในขั้วโลกใต้

 

ขั้วโลกเหนือเป็นพื้นน้ำล้วนๆ เรียกว่ามหาสมุทร​อาร์กติก​ ไม่เหมือน​จากขั้วโลก​ใต้ที่มีแผ่นทวีป​ตั้งอยู่ เรียกว่าทวีปแอนตาร์กติกา​ ดังนั้นขนาดของขั้วโลกเหนือจึงไม่คงที่ ทุกๆ ปีขนาดของขั้วโลกเหนือจะขยายกว้างสุดในฤดูหนาว ราวๆ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม และจะหดเล็กลงในฤดูร้อนนั่นคือเดือนกันยายน แต่ปัญหาโลกร้อนทำให้ขนาดของขั้วโลกเหนือไม่กว้างใหญ่เท่าที่เคย

 

ขณะที่น้ำแข็งขั้วโลกใต้คือน้ำจืดจากหิมะที่สะสมบนแผ่นดิน น้ำแข็งขั้วโลกเหนือกลับเป็นน้ำทะเลที่แข็งตัวจากความเย็นในระดับความลึก 1-3.5 เมตร ทำหน้าที่คอยสะท้อนแสงอาทิตย์ประมาณ 85% ที่ส่องลงมาบริเวณนี้กลับคืนสู่อวกาศ ในทางกลับกัน น้ำทะเลในมหาสมุทรอื่นเช่น แปซิฟิก แอตแลนติก ฯลฯ กลับดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์เอาไว้ถึง 90% เมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกักความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้คืนสู่อวกาศน้อยลง อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกทั้งสองละลาย แต่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ขั้วโลกเหนือไม่มีแผ่นทวีปรองรับด้านใต้ เมื่อน้ำแข็งละลายพื้นที่ของขั้วโลกเหนือจะเริ่มหดเล็กลง ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงอาทิตย์ก็จะลดลงตาม ในที่สุดมันจะวนลูป เกิดวงจรป้อนกลับเชิงบวก น้ำทะเลร้อนไวขึ้น น้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้น ขนาดพื้นที่ของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือก็ลดลงเร็วขึ้น วนลูปไปเรื่อยๆ

 

ที่พบล่าสุดคืออะไร

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่กว้างใหญ่บ้างหดเล็กบ้างตามฤดูกาลนั้น ตรงบริเวณขอบจะมีน้ำแข็งหนาพิเศษที่จะยังคงอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่ละลายแม้เข้าสู่ฤดูร้อน เราเรียกน้ำแข็งส่วนนี้ว่า Multiyear Sea Ice (สีชมพูในภาพล่าง) แต่จากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นักวิทยาศาสตร์พบว่า ช่วง 40 ปีหลังสุดนั้น น้ำแข็ง Multiyear Sea Ice ไม่อาจทนทานได้อีกต่อไป และได้เริ่มละลายหดตัวจากประมาณ 7 ล้านตารางกิโลเมตร เหลือเพียง 4 ล้านตารางกิโลเมตร นั่นคือหายไปเทียบเท่ากับขนาดของประเทศอินเดีย การค้นพบนี้นำไปสู่การตั้งประเด็นคำถามว่า เมื่อใดที่น้ำแข็ง Multiyear Sea Ice นี้จะละลายไปจนหมด นั่นหมายถึงว่าเมื่อนั้นขั้วโลกเหนือจะปราศจากน้ำแข็งในฤดูร้อน มีการตั้งชื่อขึ้นมาเรียกปรากฏการณ์นี้โดยเฉพาะว่า ‘Blue Ocean Event’ หมายถึงวันที่น้ำทะเลในมหาสมุทรอาร์กติกกลายเป็นสีน้ำเงินเท่านั้นไม่เหลือสีขาวของน้ำแข็งให้เห็นอีก

 

น้ำแข็ง ขั้วโลกเหนือ

 

การจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพในการจำลองสภาพแวดล้อมที่ต้องได้รับค่าตัวแปรต่างๆ อย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างแม่นยำ สำหรับขั้วโลกเหนือนั้น การสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศทำได้ยากมากเนื่องจากเป็นบริเวณได้รับอิทธิพลจากสารพัดสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกระแสอากาศที่ไหลในรูปแบบแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ยังมีเรื่องตัวแปรจำนวนมากจากการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทร ไปถึงการถ่ายเทความร้อนระหว่างน้ำกับอากาศ และอื่นๆ ทำให้การประมาณการขอบเขตของน้ำแข็งในแต่ละช่วงเวลาของปีไม่ใช่เรื่องง่าย ส่งผลให้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศรุ่นเก่าๆ อย่างรุ่นที่ใช้ในช่วงก่อนปี 2000 ประเมินการละลายของน้ำแข็งคลาดเคลื่อนไปมากจากค่าที่วัดได้จริงจากดาวเทียมในภายหลังจาก 8% ต่อทศวรรษเหลือเพียง 2.5% ต่อทศวรรษ เป็นต้น

 

นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาล่าสุดได้ใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป โดยเริ่มมีการใช้วิธีปรับเทียบค่าที่ได้จากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศกับค่าที่วัดได้จริงจากดาวเทียม วิธีนี้ทำให้มีความแม่นยำเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ผลที่ได้คือ เราพบว่าปรากฏการณ์ Blue Ocean Event หรือมหาสมุทรอาร์กติกที่ปราศจากน้ำแข็งในฤดูร้อน น่าจะมาถึงในทศวรรษถัดไปนี่เอง หรือหลังปี 2030 โดยไม่อาจหยุดยั้งได้แม้จะลดการปล่อยคาร์บอนได้สำเร็จก็ตาม โดยแบบจำลองอาจมีค่าความผิดพลาดประมาณ 10 ปี นั่นคือจะเกิดในช่วง 2030-2050 ไม่เกินนี้

 

แล้วมันสำคัญอย่างไร

ใช่แล้ว น้ำแข็งขั้วโลกเหนือเปรียบเหมือนน้ำแข็งในแก้วเครื่องดื่มที่แม้ละลายหมดเครื่องดื่มก็จะไม่ล้นปากแก้วออกมา และในบางแง่มุม การไม่มีน้ำแข็งขั้วโลกเหนือในฤดูร้อน กลับเป็นเรื่องดีหากมองจากภาคธุรกิจที่จะได้ลดระยะทางในการล่องเรือจากยุโรปไปเอเชียได้เป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะตามที่กล่าวมาข้างต้นว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนือรับหน้าที่สำคัญในการสะท้อนแสงอาทิตย์สู่อวกาศ การไร้น้ำแข็ง การที่ไม่มีสีขาว น้ำทะเลสีน้ำเงินของอาร์กติกจะกลับมาดูดซับแสงอาทิตย์เสียเอง เกิดการเร่งวงจรโลกร้อนขึ้นอีก แล้วทีนี้ผู้ร้ายตัวจริงคือน้ำแข็งขั้วโลกใต้และน้ำแข็งกรีนแลนด์ ที่เปรียบเหมือนน้ำแข็งนอกแก้วเครื่องดื่ม ก็จะละลายลงมาเติมระดับน้ำทะเลทั่วโลกให้สูงขึ้นจนท่วมเมืองต่างๆ ตามชายฝั่งเร็วกว่าที่ประมาณการกันไว้ ความเดือดร้อนจริงจังก็จะมาถึงมนุษย์โลกโดยยังไม่รวมถึงสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงทั่วทุกมุมโลกที่จะเกิดก่อนหน้านั้นอีก

 

ภาพ: Wolfgang Kaehler / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising