×

แอร์พอร์ต ลิงก์ เผย 3 มาตรการรักษาความปลอดภัย ด้านผู้เสียชีวิต เดินหน้า 3 ก้าว ไม่มีใครอยู่ใกล้

19.06.2017
  • LOADING...

     จากเหตุการณ์ผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พลัดตกรางจนเสียชีวิต ที่สถานีบ้านทับช้างเมื่อเช้าวันนี้ ความคืบหน้าล่าสุด สุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เบื้องต้นต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต ทราบชื่อคือ น.ส.รสรินทร์ เปลี่ยนหล้า อายุ 31 ปี ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 06.52 น. ขณะที่รถไฟกำลังเข้าสถานี ผู้โดยสารยืนอยู่หลังเส้นเหลือง และไม่มีใครอยู่ใกล้ แต่ผู้โดยสารเดินหน้าไป 3 ก้าว ก่อนจะพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้า

     เมื่อเห็นเหตุการณ์ พนักงานขับรถไฟฟ้า และพนักงานรักษาความปลอดภัยพยายามกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินแล้ว แต่รถไฟหยุดไม่ทัน ทาง ร.ฟ.ท. จึงพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือ แต่เบื้องต้นกลับพบว่าผู้โดยสารคนดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว

     นอกจากนี้ สุเทพ ยังเปิดเผยต่อว่า โดยทั่วไปแล้วเมื่อกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินขบวนรถไฟจะไม่ได้หยุดทันที แต่จะค่อยๆ ชะลอความเร็วลงในระยะทางประมาณ 70-80 เมตรก่อนที่รถจะหยุดสนิท

เมื่อกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินขบวนรถไฟจะไม่ได้หยุดทันที แต่จะค่อยๆ ชะลอความเร็วลงในระยะทางประมาณ 70-80 เมตรก่อนที่รถจะหยุดสนิท

สุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

   

3 มาตรการรักษาความปลอดภัย

     ตามปกติแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะมีมาตรการรองรับกรณีผู้โดยสารหนาแน่นด้วย 3 มาตรการ ประกอบด้วย

     1. การฝึกอบรมของเจ้าพนักงาน ทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่สถานี หรือพนักงานขับรถไฟฟ้าให้มีความพร้อมอยู่เสมอกรณีที่มีผู้โดยสารตกราง ต้องกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน เช่นเดียวกับวันนี้ที่พนักงานทั้งที่สถานี และพนักงานขับรถไฟฟ้าก็กดปุ่มทั้งคู่

     2. มาตรการควบคุมฝูงชน หรือ Crowd Control จะเห็นว่าช่วงนี้จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการเยอะ และมีการแชร์กันในโซเชียลมีเดียว่ามาใช้บริการแอร์พอร์ต ลิงก์แล้วถูกกันเอาไว้ที่ชั้นจำหน่ายตั๋ว นั่นคือมาตรการรักษาความปลอดภัยของ ร.ฟ.ท. เพราะในกรณีที่ผู้โดยสารหนาแน่นที่ชั้นชานชาลา ทางเจ้าหน้าที่ประจำสถานีก็จะกันผู้โดยสารไว้ก่อนที่ชั้นจำหน่ายตั๋ว เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร แล้วเมื่อชานชาลาว่างจึงจะค่อยๆ นำผู้โดยสารขึ้นมาทีละกลุ่มๆ เพื่อไม่ให้พื้นที่หนาแน่นจนเกินไป เนื่องจากเกรงว่าจะมีการเบียดกันและมีคนตกลงไป

     3. ขณะนี้ ร.ฟ.ท. กำลังดำเนินการอยู่คือการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา ซึ่งได้ดำเนินการไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และกำลังจะมีการยื่นซองประมูลวันที่ 29 มิถุนายนนี้ น่าจะติดตั้งสถานีแรกที่สถานีพญาไทช่วงเดือนเมษายน 2561 เนื่องจากเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารใช้บริการอย่างหนาแน่นที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการคุยกันในทีมงานว่าถ้าได้ผู้รับเหมาติดตั้งเรียบร้อยแล้ว จะขอเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้เขาเข้าพื้นที่ได้เร็ว และติดตั้งได้เร็วขึ้นกว่ากำหนดการที่ตั้งเอาไว้

     “เพราะเราเล็งเห็นแล้วว่าผู้โดยสารค่อนข้างมาก จากเดิมที่เคยเปิดใหม่ๆ มีเพียง 30,000 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 70,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ได้มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เช่น ยกเลิกสาย Express มาวิ่งเป็น City Line เปลี่ยนเบาะของสาย Express เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นจากขบวนละ 300 คน เป็น 700 คน แต่ก็ยังมีผู้โดยสารหนาแน่นอยู่ดี ขณะนี้กำลังทบทวนว่าจะต้องถอดตู้สัมภาระของขบวน Express เพื่อแปลงมาเป็นตู้โดยสาร City Line หรือไม่ และกำลังเตรียมจัดซื้อจัดจ้างรถขบวนใหม่อีก 7 ขบวนเพิ่มเติมด้วย” สุเทพ กล่าว

แต่ละชานชาลาจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนประจำตำแหน่งอยู่ชานชาลาละ 2 คน คือด้านหัวขบวน และท้ายขบวน สถานีละ 4 คน ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉินอยู่ด้านหลัง ห่างจากจุดที่ยืนประมาณ 3 เมตร

 

คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่-ความกังวลของผู้โดยสาร

     สำหรับช่วงเวลาที่ผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดจะอยู่ที่ช่วงเวลาประมาณ 8.30 – 9.00 น. ซึ่งขณะเกิดเหตุไม่ได้มีผู้โดยสารหนาแน่นแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากนี้จะมีการกำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

     จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า แต่ละชานชาลาจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนประจำตำแหน่งอยู่ชานชาลาละ 2 คน คือด้านหัวขบวน และท้ายขบวน สถานีละ 4 คน ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉินอยู่ด้านหลัง ห่างจากจุดที่ยืนประมาณ 3 เมตร

 

ธนพร โนวัตน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานีด่านทับช้าง

 

     ด้าน ธนพร โนวัตน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานีด่านทับช้าง วัย 26 ปี เปิดเผยว่า ตนเพิ่งเข้าทำงานได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น แต่ขณะเกิดเหตุไม่ได้ประจำอยู่ที่สถานี ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการอบรมประมาณ 3 ครั้งแล้วตั้งแต่เริ่มทำงาน โดยทั่วไปจะเป็นการสมมติสถานการณ์จำลอง และฝึกซ้อมวิธีรับมือในสถานการณ์ต่างๆ

     ทางฝั่งผู้โดยสารอย่าง น.ส.จิราวรรณ เต็นภูษา วัย 41 ปี เปิดเผยว่า ปกติต้องเดินทางจากสถานีทับช้างไปทำงานที่สยามอยู่เป็นประจำ ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยพอสมควร เพราะบางครั้งผู้โดยสารมักจะแย่งกันขึ้นขบวนรถ ทั้งที่ในขบวนมีผู้โดยสารหนาแน่นอยู่แล้ว ซึ่งคิดว่าการมีแนวกั้นน่าจะเป็นมาตรการที่จำเป็นในขณะนี้

     “ไม่ใช่แค่มาตรการของสถานีอย่างเดียว แต่ผู้ใช้บริการเองก็ต้องมีวินัยด้วย อย่างเวลาคนเต็มขบวนแล้ว หลายคนก็ยังพยายามจะผลักเข้าไปเพื่อจะขึ้นให้ได้”

     ล่าสุดทาง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด แจ้งว่าจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเวลาประมาณ 15.30 น. โดย วิสุทธิ์ จันมณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า คลองตัน

 

     ติดตามแถลงการณ์จาก ร.ฟ.ท. ต่อเหตุการณ์ผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พลัดตกรางจนเสียชีวิตได้ที่ ร.ฟ.ท. แถลงเหตุผู้โดยสารพลัดตกรางเสียชีวิต เป็นเรื่องสุดวิสัย เตรียมเพิ่มรปภ. วอนสื่อให้ความเป็นธรรม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising