×

ร.ฟ.ท. แถลงเหตุผู้โดยสารพลัดตกรางเสียชีวิต เป็นเรื่องสุดวิสัย เตรียมเพิ่มรปภ. วอนสื่อให้ความเป็นธรรม

19.06.2017
  • LOADING...

     จากเหตุการณ์ผู้โดยสาร ทราบชื่อคือ น.ส. รสรินทร์ เปลี่ยนหล้า อายุ 31 ปี ที่กำลังตั้งครรภ์ 7 เดือน พลัดตกลงไปในรางรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จนเสียชีวิต ที่สถานีบ้านทับช้างเมื่อเช้านี้ ล่าสุด นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตั้งโต๊ะแถลงถึงกรณีดังกล่าว โดยมีผู้สื่อข่าวหลายสำนักมารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก

     นายวิสุทธิ์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมและผู้บริหารทุกท่าน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้โดยสารที่เสียชีวิตอย่างสุดซึ้ง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเราไม่อยากให้เกิด แต่ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย”

 

 

     โดยเช้าที่ผ่านมา ขณะเกิดเหตุ เวลา 6.52 น. เมื่อดูจากกล้อง CCTV ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้โดยสารว่า จากภาพที่เห็น เบื้องต้นพบว่าผู้โดยสารก้าวออกจากเส้นเหลือง หรือเส้นรักษาความปลอดภัยจำนวน 3 ก้าวก่อนจะพลัดตกลงไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น

     พร้อมยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำงานตามปกติอยู่ทั้งด้านหัวและท้ายชานชาลา และมีการกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินแล้วแน่นอน แต่เหตุที่เกิดขึ้นใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที การกดปุ่มฉุกเฉินไม่สามารถหยุดรถได้อย่างกะทันหัน ต้องเผื่อระยะทางให้รถหยุดสนิทประมาณ 100 เมตร ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในท้ายที่สุด

     เบื้องต้นทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด โดยเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการผู้บริหาร ได้จ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้โดยสารที่เสียชีวิตในการทำศพแล้วประมาณ 40,000 บาท และกำลังพิจารณาเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกันชีวิตในขั้นตอนต่อไป

 

 

     สำหรับรายละเอียดการประกันชีวิตกรณีเกิดเหตุผู้โดยสารบาดเจ็บหรือเสียชีวิตขณะโดยสาร ทางแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้ทำประกันไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย โดยมีวงเงินรวมไม่เกิน 40,000,000 บาทต่อครั้ง และตลอดระยะเวลาเอาประกัน

     – กรณีเสียชีวิต และทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง ไม่เกิน 400,000 บาทต่อคน

     – ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาทต่อคน

     – ความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือบุคคลภายนอก ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน

     ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยหลังจากนี้ นอกจากแผนการติดตั้งแผงกั้นบริเวณชานชาลาที่กำลังดำเนินการ และคาดว่าน่าจะติดตั้งที่สถานีพญาไทเป็นที่แรกในเดือนมีนาคม 2561 แล้ว ทางบริษัทยังเตรียมเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากที่มีรปภ. ประจำชานชาลาละ 2 คน บริเวณหัวขบวนและท้ายขบวน รวมสถานีละ 4 คน อาจจะพิจารณาเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรงกลางขบวนอีก 1 คนในชั่วโมงเร่งด่วน รวมสถานีละ 6 คน

     ขณะที่ความลึกของรางรถไฟจะอยู่ที่ประมาณ 120-130 เซนติเมตร ความยาวของสถานีประมาณ 210 เมตร ส่วนรถที่วิ่งเข้าสู่ชานชาลาจะใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมยืนยันว่าหากไม่ใช่ช่วงที่รถไฟกำลังวิ่งเข้าสู่ชานชาลา ถ้ามีผู้โดยสารตกลงไปในรางรถไฟ เจ้าหน้าที่จะสามารถช่วยเหลือผู้โดยสารให้ปลอดภัยได้อย่างแน่นอน

 

 

     นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังยิงคำถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่อาจจะหละหลวม เพราะปล่อยให้ผู้โดยสารที่พลัดตกลงไปในรางต้องรอเจ้าหน้าที่พยาบาลนานถึงครึ่งชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้

     ซึ่งทางทีมงานเงียบไปสักพักก่อนจะตอบว่า คนที่เข้าถึงเหตุการณ์เป็นคนแรกคือนายสถานี แต่นายสถานีได้ประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องให้หน่วยแพทย์เข้าไปช่วยเหลือผู้โดยสาร จึงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่โดยปกติจะมีการซ้อมแผนฉุกเฉินในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำร่วมกับ BTS และ BEM ซึ่งต่างก็ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน

     ในช่วงท้ายการแถลงข่าว นายวิสุทธิ์ได้ทิ้งท้ายว่า “ขอความกรุณาสำนักข่าวต่างๆ ให้ลงข่าวด้วยความเป็นธรรม ทั้งด้านผู้โดยสารและแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ด้วย”

 

     ติดตามรายงานเหตุการณ์ผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พลัดตกรางจนเสียชีวิตได้ที่ แอร์พอร์ต ลิงก์ เผย 3 มาตรการรักษาความปลอดภัย ด้านผู้เสียชีวิต เดินหน้า 3 ก้าว ไม่มีใครอยู่ใกล้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising