×

หักดิบ! กสทช. บีบ DTAC ต้องยื่นประมูลคลื่น มิฉะนั้นจะไม่ได้ช่วยเยียวยา เบอร์ 2G หมดเวลา 15 กันยายนนี้

18.07.2018
  • LOADING...

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชี้แจงว่าบอร์ดของ กสทช. ประชุมร่วมกัน เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ความถี่ย่าน 850 MHz และ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายนนี้ โดย กสทช. มีอำนาจในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี  

 

ก่อนหน้านี้ทาง กสทช. ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ล่วงหน้าเพื่อให้รองรับการสิ้นสุดสัมปทานดังกล่าว แต่ไม่มีผู้ยื่นประมูล ซึ่งรวมถึงบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กระทั่งต่อมา กสทช. ได้ปรับปรุงเกณฑ์การประมูลใหม่แล้ว โดยกำหนดให้ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 18 สิงหาคม 2561 และประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

 

ดังนั้น กสทช. เห็นว่าในเมื่อดำเนินการจัดประมูลเพื่อเตรียมการรองรับแล้ว แต่ผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ ย่อมไม่สามารถได้รับสิทธิ์เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้ เนื่องจากถือเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการอีกต่อไป

 

หากผู้รับสัมปทานเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว แม้กระบวนการออกใบอนุญาตใหม่จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ผู้รับสัมปทานเดิมย่อมได้รับสิทธิ์เข้าสู่มาตรการคุ้มครองดังกล่าวจนกว่า กสทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่และกำหนดวันหยุดการให้บริการ

 

กสทช. จึงพิจารณาแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และมีมติจะให้ความคุ้มครอง DTAC ต่อเมื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz หรือ 900 MHz หาก DTAC ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะไม่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการคุ้มครอง

 

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ในระบบของ DTAC ที่จะได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัมปทานประมาณ 4.3 แสนราย ซึ่งการโอนย้ายเลขหมายโทรคมนาคมไปยังผู้ให้บริการรายอื่นจะโอนย้ายได้สูงสุด 6 หมื่นเบอร์ต่อวัน จึงขอให้ DTAC เร่งรัดการประชาสัมพันธ์แก่ลูกค้าให้รู้ล่วงหน้า โดยสำนักงาน กสทช. จะติดตามตรวจสอบข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือพร้อมเงินคงค้างในระบบให้

 

อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ของ DTAC ยังแจ้งกับลูกค้าว่า “ดีแทคขอยืนยันว่าลูกค้าดีแทคที่อยู่บน 2G ซิม ซิมจะไม่ดับ ลูกค้าจะยังใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างดีแทคและ กสทช. ในฐานะองค์กรที่ต้องดูแลลูกค้าร่วมกันไม่ให้ลูกค้าซิมดับช่วงคลื่นหมดสัมปทาน

 

อ้างอิง:

  • คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising