×

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ประทับฟ้อง ‘พิรงรอง รามสูต’ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมแจ้งผู้ให้บริการสื่อว่าทรูยังไม่ได้รับใบอนุญาต OTT

โดย THE STANDARD TEAM
14.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (14 มีนาคม) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

โดยการฟังคำสั่งวันนี้ ฝ่ายโจทก์มีทนายความเดินทางมาศาล ฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการเดินทางมาฟังคำสั่ง

 

ศาลมีคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จากการไต่สวนได้ความว่าโจทก์ (ทรู) เป็นผู้ประกอบกิจการ OTT (Over the Top ซึ่งเป็นบริการสื่อที่นำเสนอโดยตรงกับผู้รับบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต OTT ข้ามแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) เป็นการให้บริการที่ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศ หรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล

 

และจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าการให้บริการของโจทก์แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภท OTT ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทางไต่สวนมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย

 

มีข้อความว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่โจทก์ส่งไปออกอากาศ

 

พฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบมิชอบ คดีโจทก์มีมูลจึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำ อท.167/2566

 

มีรายงานว่าสำหรับมูลเหตุการฟ้องคดีนี้เนื่องจากเดิม บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้บริการแพลตฟอร์มมือถือมีรายการภาพยนตร์และเพลง รวมทั้งถ่ายทอดรายการทีวีช่องต่างๆ รวมทั้งการสัมภาษณ์นักการเมือง ซึ่ง กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศหรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าการให้บริการของโจทก์แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภท OTT ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จึงยังไม่ยื่นขออนุญาต

 

ต่อมา กสทช. ประกาศว่าต้องผ่านการอนุญาต ทางทรูก็ไม่ขัดข้อง เพียงแต่เมื่อเข้ากระบวนการอนุญาตก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย (มีการตรวจเซ็นเซอร์เนื้อหา) แต่จำเลยเป็นผู้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย

 

มีข้อความว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่ต้องมีการขอใบอนุญาต พร้อมมีการกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่มีถ้อยคำเป็นเหตุบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้รับความเสียหาย

 

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อคดีมีมูลและศาลมีคำสั่งให้ประทับฟ้องแล้ว ต่อไปจะดำเนินกระบวนการสอบคำให้การและนัดตรวจหลักฐานต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising