×

ณณฐ ธนพรรพี กับความหมายของ ‘บ้าน’ และ ‘คนพลัดถิ่น’ หนึ่งในศิลปินจาก Early Years Project #3

20.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ‘ณณฐ ธรพรรพี’ คือหนึ่งศิลปินที่เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายของ Early Years Project เมื่อปี 2561 ผลงานของเขาที่ชื่อ ‘No Man’s Land’ ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องชีวิตของ ‘บังนู’ ชาวโรฮีนจาพลัดถิ่นในประเทศไทย นับว่านำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ ลุ่มลึก และสวยงามในที
  • งานภาพยนตร์สารคดีเรื่อง No Man’s Land ของณณฐเริ่มต้นจากความทรงจำของณณฐที่กระจัดกระจายไปตามสถานที่ที่เราเคยอยู่ ด้วยความที่เขาต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยๆ มาตั้งแต่เด็ก และด้วยเรื่องราวตรงนี้ ณณฐจึงตั้งคำถามว่า “ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ที่แท้จริงคืออะไร”

ถ้าหากคุณมีโอกาสผ่านไปหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครหรือ BACC ช่วงนี้ ที่ห้องนิทรรศการชั้น 7 เขามีงานของศิลปินหน้าใหม่ในโปรเจกต์ Early Years Project ที่จัดแสดงอยู่ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาบ่มเพาะ และผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ให้สามารถพัฒนาเส้นทางทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งพวกเขาจะต้องผ่านการเวิร์กช็อป เรียนรู้กระบวนการทำงานศิลป์แบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างสรรค์งาน การจัดแสดง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การถูกวิพากษ์ถกเถียง วิจารณ์ในมุมมองที่หลากหลาย โดย BACC เป็นผู้ออกทุนให้ทั้งหมด

 

​ในโครงการ Early Years Project ครั้งที่ 3 เมื่อปีที่แล้ว หอศิลปฯ ได้พาให้นักศึกษาภาพยนตร์คนหนึ่งก้าวเข้ามาทำงานในฐานะศิลปินอย่างเต็มตัว คล้ายๆ เป็นการเดบิวต์ผลงานของเขาแก่สาธารณชนให้ได้รู้จักชื่อของ ‘ณณฐ ธรพรรพี’ วัย 24 ปี หนึ่งในศิลปินที่เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายของ Early Years Project ซึ่งผลงานของเขาที่ชื่อ ‘No Man’s Land’ ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องชีวิตของ ‘บังนู’ ชาวโรฮีนจาพลัดถิ่นในประเทศไทย นับว่านำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ ลุ่มลึก และสวยงามในที หลังจากจบโปรเจกต์บ่มเพาะศิลปินไปแล้วหนึ่งปีเต็ม ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากณณฐมานั่งพูดคุยถึงชีวิต การทำงาน และความหลังของเขากับ Early Years Project นี้

 

 

ก้าวแรกของณณฐกับโปรเจกต์ Early Years Project

ต้องบอกก่อนว่าเราไม่เคยทำงานศิลปะแบบจริงจังมาก่อน ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่เราทำ และพอเข้ามาในโครงการ EYP เราไม่รู้จักใครเลย ไม่รู้จักศิลปินคนไหนเลย (หัวเราะ) แต่พอได้เริ่มเข้ามาทำงาน มันเหมือนเราได้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิด เรามีเรื่องราวที่เราอยากแลกเปลี่ยนมากมายกับหลายๆ คน มีทั้งเวิร์กช็อป รวมถึงทุนสร้างที่สนับสนุน ซึ่งมันรู้สึกดีนะที่ได้รับทุน มันเหมือนเราได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ ผ่านชิ้นงาน และดีใจที่เหมือนว่าผู้ชมจะชอบในสิ่งที่เราทำ เราเองก็ใช้พื้นฐานการเรียนจากมหาวิทยาลัยนั่นแหละมาเริ่มต้นทำงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นวิชา Experimental Film ของอาจารย์จักรวาล นิลธำรงค์ (ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง กระเบนราหู (2019), Vanishing Point (2015) โดยอาจารย์ใช้วิธีการสอนเหมือนเราเรียนศิลปะ อ่านบทความ พาไปดูแกลเลอรี เรียนรู้ทฤษฎีรวมถึงการวิพากษ์งาน เหมือนเราถูกเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น ซึ่งเราปรึกษาอาจารย์จักรวาลตั้งแต่ก่อนมาส่งแล้ว และตอนรู้ว่าได้เข้ารอบสุดท้ายก็เซอร์ไพรส์มาก เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้ชัวร์

 

คุณตั้งใจนำเสนอเรื่องราวส่วนตัวของคุณผ่านงานที่ชื่อ No Man’s Land นี้

เหมือนตอนเริ่มแรกเราสนใจเรื่องราวส่วนตัวของเราเอง ซึ่งเราก็เริ่มจากตัวเองก่อน จากชีวิตของเราที่เป็นเด็กต่างจังหวัด (บ้านเกิดของณณฐอยู่ที่จังหวัดนครนายก) เราเข้ามาเรียน และโตในกรุงเทพฯ และย้ายที่อยู่ตลอด อย่างตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็อาศัยอยู่ที่หนึ่ง ฉะนั้นความทรงจำของเรามันจะกระจัดกระจายไปตามสถานที่ที่เราเคยอยู่ และด้วยเรื่องราวตรงนี้ เราก็เลยเริ่มตั้งคำถามว่า “ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ที่แท้จริงคืออะไร” เราเหมือนคนพลัดถิ่น เราเลยอยากเล่าเรื่องนี้ขึ้นมา

 

โดยนำเสนอการพลัดถิ่นของตัวเองผ่านเรื่องราวของคนอื่น

ใช่ครับ เราเลือกพี่บังนู ที่เป็นชาวโรฮีนจา ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าชาวโรฮีนจาถูกนำเสนอในสื่อตามที่ความจริงมันเป็น พวกเขาถูกกระทำต่างๆ แต่เราเองอยากนำเสนอมุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องความเป็นโรฮีนจา แต่เล่าถึงผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกพลัดพรากจากครอบครัว

 

“เวลาอยู่ข้างนอกแล้วมันเหมือนมีคนจ้องมองเราอยู่ตลอด แต่ถ้าอยู่ที่ที่เรียกว่าบ้าน ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม เราอยู่คนเดียว ไม่มีใครจ้องมองเรา”

 

ชีวิตของณณฐ เรียนรู้อะไรบ้างผ่านชีวิตของบังนู

เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเลย แล้วเราก็กูเกิลเจอข่าวเกี่ยวกับโรฮีนจา บังเอิญมีภาพที่ถ่ายติดรถขายโรตีของพี่เขา และมันมีเบอร์อยู่ เราก็โทรไปหาและบอกเขาว่า ผมอยากทำหนังประมาณนี้ อยากเล่าเรื่องของพี่ และเขาใจดีมาก จริงๆ ชีวิตของเขาคือผู้ชายคนหนึ่งที่เจ็บปวดมากนะครับ แต่เขาก็พยายามที่จะให้ทุกอย่างกับทุกคน อย่างมีงานบุญสำคัญๆ ทางศาสนาเขาก็จะไปแจกโรตี เราคลุกคลีกับเขา จนรับสัมผัสความรู้สึกของเขาได้ ก็ต้องบอกว่าพวกเราก็เป็นชนชั้นกลางที่ไม่ได้ไปเผชิญชีวิตโลดโผนอะไรมากมาย เราทำแค่รับทะเลของเรื่องราวที่ถาโถมเข้ามา เราสัมผัสไม่ได้ทั้งหมดหรอก ที่ตามถ่ายพี่บังนูมาตลอดมันเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวจริงๆ

 

‘บังนู’ ภาพจาก No Man’s Land ของ ณณฐ ธนพรรพี

 

ณณฐรับมือกับการเปลี่ยนถิ่นฐานของตัวเองอย่างไรในวัยเด็ก

เราย้ายมากรุงเทพฯ ตั้งแต่เราอยู่ประถมศึกษา ตอนแรกมาอยู่หอกับคุณครู พอโตมาหน่อย เราก็ย้ายออกมาอยู่คนเดียว พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องไปอยู่รังสิตอีก ซึ่งการย้ายแต่ละครั้งมันสร้างอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว เหมือนวงโคจรชีวิตที่เราคุ้นเคยมันเปลี่ยนไป ทั้งร้านข้าวหรือเพื่อนที่เจอ เปลี่ยนตามสถานที่ไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าเวลาที่จะต้องย้าย มันเตรียมใจไม่เคยทันเลยนะ มันรับมือไม่ได้เลยครับ แต่ไม่ได้เครียดนะ มันเป็นความรู้สึกประมาณว่า ‘อ้าวเฮ้ยต้องไปแล้ว’ และพอรู้ก็จะเหลือเวลาอีกไม่นานมากทุกที

 

‘บ้าน’ ในความทรงจำของณณฐเป็นอย่างไร

เรามีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดนครนายก ตอนเด็กๆ เราใช้เวลาในบ้านเยอะมาก แต่พอเริ่มโตขึ้นเราก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปแหละ ที่จะกลับบ้านน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบไม่ได้กลับไป และพอเวลากลับไปอีกที มันก็แปลกไปแล้ว เรารู้สึกเป็นคนแปลกหน้าของที่นั่น ของมันถูกย้าย หรือมีอะไรงอกขึ้นมา เรารู้สึกว่ามันไม่เหมือนเดิม

 

 

 

แล้วความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ของณณฐคืออะไร

ความหมายของบ้านสำหรับเราคือพื้นที่ส่วนตัว เหมือนเราไม่ต้องถูกจ้องมองจากสายตาของใคร เวลาอยู่ข้างนอกแล้วมันเหมือนมีคนจ้องมองเราอยู่ตลอด แต่ถ้าอยู่ที่ที่เรียกว่าบ้าน ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม เราอยู่คนเดียว ไม่มีใครจ้องมองเรา มันเป็นความรู้สึกแบบนั้น

 

ความหลงใหลในงานภาพของเด็กชายณณฐ ก่อนจะเติบโตมาจนถึงวันนี้เป็นอย่างไร

จริงๆ เราไม่ได้เป็น Filmmaker ขนาดนั้น ก่อนหน้าจะเข้ามาเรียนที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จริงๆ เราก็ชอบเหมือนเด็กหลายๆ คนที่ชอบกล้อง ชอบถ่ายรูป และเราเองเคยอยากเรียนคณะทางด้านศิลปะ แต่วาดรูปห่วยแตกมากเลยไม่ได้เรียน (หัวเราะ) จริงๆ เราเป็นคนถ่ายรูประดับมือสมัครเล่นมากๆ และความชอบของเรามันเริ่มต้นง่ายมากแค่เพราะอยากถ่ายรูปเป็น ยิ่งพอตอนเข้ามหาวิทยาลัย มีเพื่อนเอารูปถ่ายแบบนั้นแบบนี้มาให้ดู เราก็เริ่มอยากทำได้บ้าง ทำไมเราไม่ลองถ่ายบ้าง แล้วเราก็ถ่าย แต่ก่อนเราจะคิดเยอะมากเวลาถ่ายรูป จนเราลืมไปว่า วันแรกๆ ที่เราถ่ายรูป มันเป็นแค่สิ่งที่เราหันไปแล้วเราเห็น และเรารู้สึก เคยมีคนบอกว่าเวลานำเสนอภาพหรือเรื่องราวสักอย่างที่มันส่วนตัวมากๆ เราอาจจะคิดว่าคนอื่นแม่งไม่รู้สึก แต่เชื่อเถอะว่ามันต้องมีสักคนแหละที่รู้สึกเหมือนเรา

 

“เคยมีคนบอกว่าเวลานำเสนอภาพหรือเรื่องราวสักอย่างที่มันส่วนตัวมากๆ เราอาจจะคิดว่าคนอื่นแม่งไม่รู้สึก แต่เชื่อเถอะว่ามันต้องมีสักคนแหละที่รู้สึกเหมือนเรา”

 

 

ฟีดแบ็กของ No Man’s Land หลังจากฉายให้ผู้ชมได้ชมเป็นอย่างไร และในมุมมองส่วนตัว คุณคิดว่าผู้ชมในปัจจุบันเข้าใจภาพยนตร์สารคดีมากน้อยแค่ไหน

เราไม่ได้คาดหวังจากคนดูเลยว่าเขาจะชอบหรือเปล่า คือตอนนั้นไม่ว่าจะฟีดแบ็กแบบไหน เราก็ยินดีรับหมด เราว่าความเป็นภาพยนตร์มันเป็นการส่งสารบางอย่าง เหมือนกับงานศิลปะ เรารู้สึกว่าถ้าเราจำกัดประเภทของมันว่าอันนี้คือสารคดีนะ มันเหมือนเป็นการบังคับทั้งคนดู และคนสร้างในเวลาเดียวกัน แต่มันก็ไม่ผิดที่จะใช้กรอบของประเภทนี้จำแนก แต่หากเราได้นั่งดูหนังสักเรื่องโดยที่ไม่จำแนกประเภทก่อน แต่พอมันเล่นจนจบ เราก็จะพอเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างรายการ คดีเด็ด หรือ ฟ้ามีตา มันเป็น Docu-series ซึ่งนี่ก็คือสารคดี มันคือเอาเรื่องจริงมาเขียนเป็นฟิกชันอีกทีให้คนแสดง

 

ในความคิดเห็นของณณฐ มองเห็นแวดวงศิลปะปัจจุบันเป็นอย่างไร

เอาแค่มุมมองส่วนตัว เรารู้สึกว่ามันเริ่มมีความพยายามที่จะกระจายกลุ่มคนดูให้มากขึ้น มีงานหลากหลายขึ้น มีพื้นที่ใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือแม้แต่เรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้คนหันมาสนใจงานศิลปะมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันมีไดนามิกที่ดี มีทั้งงานหนักๆ งานเบาๆ ที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามาชมมากขึ้น

 

ท้ายที่สุด สิ่งที่ผลักดันให้ณณฐอยากผลิตผลงานของตัวเองออกมาคืออะไร

เราก็ชอบทำอะไรประมาณนี้มาตั้งแต่เรียนแล้ว ทั้งงานกราฟิก จัดหน้าหนังสือ ถ่ายรูป ถ่ายหนัง เขียนบท ตัดต่อ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราได้สร้างอะไรบางอย่างให้กับตัวเอง และทำให้เราสนุกไปกับมันก็พอ

 

ชมผลงาน ‘No Man’s Land’ ของณณฐได้ในยูทูบ และเร็วๆ นี้เขากำลังจะมีนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง ซึ่งเขาเผยว่าเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่อุทิศให้แก่กล้องดิจิทัลที่เขามีเพียงตัวเดียวในชีวิต ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่วนตัวของเขา https://nanuttpp.com

 

 

 

อ่านเรื่อง ชมงานที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของหอศิลปฯ Early Years Project #4 Praxis Makes Perfect ได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising