×

ครั้งแรกของไทย มหาดไทย จับมือ UN Thailand และ KBANK ประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตกับ อปท. 4 จังหวัดนำร่อง

โดย THE STANDARD TEAM
21.06.2023
  • LOADING...

วันนี้ (21 มิถุนายน) ที่ห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานประกาศความสำเร็จ ภายใต้ชื่องาน ‘กระทรวงมหาดไทยประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand)’

 

โดยได้รับเกียรติจาก กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนหน่วยงานใน UN Thailand ขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีของกระทรวงมหาดไทย และพี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนง ร่วมงานอย่างคับคั่ง

 

สุทธิพงษ์กล่าวว่า ขอขอบคุณคุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ KBANK ที่นำทีม KBANK ประกาศจุดยืนเป็นสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินรายแรกของประเทศไทย หยิบยื่นความสำเร็จของการจูงใจให้พี่น้องประชาชนได้ภาคภูมิใจว่า การเป็นคนดีของโลกด้วยการคัดแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถแปลงให้กลายเป็นทุนกลับคืนสู่หมู่บ้าน / ชุมชนได้ ในราคา 260 บาทต่อตันในเฟสแรก

 

“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนก็ใช้เวลาในการเดินทางมาเกือบ 10 ปี โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อขณะที่ผมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้พบว่าที่จังหวัดลำพูนมีการคัดแยกขยะในทุกกิจกรรมของชีวิต แม้แต่งานทำบุญจะไม่มีอาหารตั้งโต๊ะ แต่เป็นบุฟเฟต์เป็นหม้อๆ ใครจะทานเท่าไรก็ไปเติมตักเอา แล้วเศษอาหารที่เป็นขยะเปียกหรือเศษใบไม้ก็มีการคัดแยก เพื่อที่จะทำให้ลูกหลานไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจากไข้ซิกาอันเกิดจากยุงที่มีแหล่งเพาะพันธุ์จากขยะเน่าเหม็น โดย ดร.วันดี เห็นว่าการจัดการขยะในตอนนั้นใช้ ‘เสวียน’ เป็นหลัก เป็นถังขยะเปียกระบบเปิด จึงได้มาช่วยกันคิดออกแบบจนกลายเป็น ‘ถังขยะเปียกลดโลกร้อน’ และหลังจากนั้นก็ได้ขับเคลื่อนต่อมา โดยโชคดีที่มีภาคีเครือข่ายที่น่ารัก คือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยมี ดร.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย เป็นผู้อำนวยการในขณะนั้น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กรุณาอนุญาตให้ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยในเรื่องการรับรองระเบียบวิธีการวิจัย (Methodology) ในการบริหารจัดการขยะของถังขยะเปียกลดโลกร้อน และส่งให้ อบก. รับรอง คิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตร่วมกับหน่วยงานภายนอก” สุทธิพงษ์กล่าว

 

สุทธิพงษ์เน้นย้ำว่า จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น ส่งต่อมาถึงเมื่อตนดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กัญชรยาคง จุลเจริญ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงเกิดเป็นความต่อเนื่องเชื่อมส่งต่อมาถึงการขับเคลื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกับองค์การสหประชาชาติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) คือการรักษาโลกใบเดียวนี้ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ตื่นตัว ลุกขึ้นมาเพื่อทำให้การใช้ชีวิตของตัวเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ระบบนิเวศ สภาวะแวดล้อมเหมาะกับลูกหลานของเรา เพื่อสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจัยความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง แต่ ‘ส่วนกลางเป็นจุดเริ่มต้นในฐานะผู้นำ’ ที่ต้องแสดงให้ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการทุกส่วนของกระทรวงมหาดไทย และผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เป็นนโยบายหรือสิ่งที่พวกเราอยากให้ทำนั้นมันสำคัญและจำเป็นต้องทำ แล้วจะทำแบบปี 2 ปีแล้วหยุดไม่ได้ ต้องทำตลอดไป ทำตลอดเวลา โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เป็นที่ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า สิ่งที่คนมหาดไทยทุกคนได้ทำอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำคนสำคัญนั้น ทำให้องค์การระหว่างประเทศที่มีสมาชิกทั่วโลก คือ องค์การสหประชาชาติ ได้เห็นและร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับพวกเราที่หอประชุม UN Thailand ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และความสำเร็จของนโยบายที่ดีจะส่งผ่านไปหาพี่น้องประชาชนได้ ทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงานต้องมาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ท่านกำนันทั้ง 7,255 ตำบล ได้ช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย เพราะคนมหาดไทยทุกคนเชื่อมั่นว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตการทำงาน เราต้อง Change for Good ตลอดเวลา’ และในวันนี้จังหวัดนำร่องทั้ง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และอำนาจเจริญ ได้ประกาศความสำเร็จ และในระยะเวลาไม่ไกลจากนี้ เราจะมีอีก 22 จังหวัด รวมเป็น 26 จังหวัด จะร่วมประกาศความสำเร็จปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เราจัดเก็บได้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีว่า แม้ว่ามันจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เราทุกคนได้ทำสิ่งที่ดีให้กับโลกของเรา และเมื่อทุกเส้นทางมารวมกันมันก็จะทำให้สิ่งที่ดีขยายวงกว้างทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

ดร.วันดีกล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางอันเนื่องมาจากพระดำริที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับ SDGs ทั้ง 17 ข้อของ UN เริ่มตั้งแต่พระดำริ Sustainable Fashion ด้วยการใช้ผ้าไทยที่เกิดจากการที่พี่น้องประชาชนปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ผ่าน ‘โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ทำให้เกิดรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกถิ่นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระราชทานโครงการพระดำริที่เป็นองค์รวม และพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยน้อมนำมาขับเคลื่อน คือ ‘หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)’ ทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การน้อมนำเอาทุกเรื่องที่เป็นวิถีชีวิตเชิงบวกมาเสริมสร้างพลังความรัก ความสามัคคี ความเกื้อกูลกัน ให้พี่น้องประชาชนในชุมชนได้รวมตัวกันดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลและรักษาศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และช่วยเหลือสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน โดยล่าสุด UN Thailand ได้ไปเยี่ยมหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดพัทลุง ปัตตานี สกลนคร และลพบุรี ซึ่งการลงพื้นที่จะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต เพื่อทำให้พวกเราทุกคนได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินการต่อไป 

 

“ขอขอบคุณพี่น้องคนไทยทั้งประเทศภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยทั้ง 76 จังหวัด ท่านนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ท่านนายกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอขอบคุณ KBANK และ UN Thailand รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนทุกคนที่ได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ และพวกเราขอยืนยันว่าสิ่งที่ทุกคนได้เสียสละเพื่อโลกใบนี้ มีผลตอบแทนให้กับลูกหลานของเราชั่วกัปชั่วกัลป์ ที่ลูกหลานของเรามั่นใจได้ว่าคลอดออกมาแล้วจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ในโลกที่สวยงาม เหมาะสมในการดำรงชีวิตตลอดไป” สุทธิพงษ์กล่าวในช่วงท้าย

 

ด้าน กฤษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเร่งแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยและประชาคมเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ จึงได้ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานของธนาคาร และร่วมมือกับพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน ธนาคารมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกระทรวงมหาดไทย ด้วยการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชนนำร่อง 4 จังหวัด ในโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ โดยธนาคารรับซื้อทั้งหมด 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือนผ่านกลไกของรัฐและภาคประชาสังคมแบบบูรณาการแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รายได้ที่ชุมชนได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินโครงการ จะกลับคืนสู่ประชาชนและครัวเรือนที่เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการพัฒนาตามความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ต่อไป

 

กีต้า ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น โครงการคัดแยกขยะที่เป็น ‘ตัวเร่ง SDGs’ ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระของชาติเรื่อง Bio-Circular-Green Economy: BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) โดยการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกนี้คือหมุดหมายสำคัญจากการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นแบบทั้งองคาพยพ ทั้งภาครัฐ-สังคม 14 ล้านครัวเรือน ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารธนาคาร และหน่วยงานสหประชาชาติ (United Nations) สิ่งสำคัญคือ การส่งเสริมประเทศให้มีต้นแบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเป็นรูปธรรมด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตลอดมา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising