×

ประมวลภาพก้าวไกล-เพื่อไทย ‘ถกเดือด’ ปมสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ งบมหาดไทย

โดย THE STANDARD TEAM
21.03.2024
  • LOADING...
ฝายแกนดินซีเมนต์

วันนี้ (21 มีนาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา ในการพิจารณามาตรา 20 ว่าด้วยงบประมาณกระทรวงมหาดไทยจำนวน 3.531 แสนล้านบาท 

 

โดยมีสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนมากทยอยกันอภิปรายหลายประเด็น เช่น ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล เสนอให้ลดงบประมาณ 1,583 ล้านบาท มีที่มาจากผังพื้นที่เฉพาะจำนวน 145 ล้านบาท และโครงการพัฒนาพื้นที่ตามผังเมืองจำนวน 1,438 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์

 

ณัฐพงศ์กล่าวยกตัวอย่างจากการลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณได้เห็นถึงโครงการก่อสร้างซุ้มประตูจำนวน 40 ล้านบาทที่จังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการที่มีความล่าช้า 66% มีตัวอย่างที่ขายฝันและไม่ได้ใช้ประโยชน์

 

นอกจากนั้น ยังพบโครงการที่มีปัญหาที่คล้ายกัน เป็นสวนสาธารณะที่สร้างแล้ว ปล่อยร้าง และไม่ได้ใช้ประโยชน์จนกลายเป็นแหล่งอบายมุข ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขอปรับลดงบประมาณ 1,583 ล้านบาท เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เป็นผังเมือง ไม่ใช่เพื่อพังเมือง ใช้ภาษีประชาชนให้มีประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด

 

ขณะที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย เสนอขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยจำนวน 245 ล้านบาทจากการขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปี มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยระยะที่ 2 วงเงิน 3,344 ล้านบาท ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีภาระผูกพันตั้งแต่ปี 2567-2570 

 

ขณะที่ อิทธิพล ชลธราศิริ สส. ขอนแก่น พรรคก้าวไกล อภิปรายขอปรับลดงบประมาณในส่วนของกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพิ่มอีก 142.3 ล้านบาท จากแผนการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง KA-32 มูลค่า 943 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณผูกพันไปถึงปีงบประมาณ 2568 อีก 806 ล้านบาท 

 

อิทธิพลกล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นถึงความจำเป็นของการมีเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงที่ใช้สำหรับดับไฟอาคารสูง รวมถึงสนับสนุนการควบคุมไฟป่า แต่การเสนอลดงบประมาณครั้งนี้เนื่องจากเป็นภาระต่องบประมาณ รวมถึงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน รัฐบาลพูดมาโดยตลอดว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชนกำลังเดือดร้อน ต้องกู้เพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปภ. มีเฮลิคอปเตอร์รุ่นเดียวกันจำนวน 4 ลำ โดยในปีที่ผ่านมาใช้งานไปแล้วทั้งสิ้น 25 ภารกิจเท่านั้น เฉลี่ยเพียงปีละ 5 ห้าครั้ง ขณะเดียวกันเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวยังมีราคาแพงเกินไป โดยมีการตั้งข้อสงสัยถึงการซื้อจากต่างประเทศรวมอุปกรณ์ดับเพลิงแล้ว ราคาไม่ถึง 500 ล้านบาทเท่านั้น 

 

สอดคล้องกับ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม. พรรคไทยก้าวหน้า ที่เสนอตัดงบประประมาณสำหรับจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง KA-32 เช่นเดียวกัน พร้อมให้ เหตุผลว่า เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวนั้นมีราคาแพงเกินไป และเป็นภาระผูกพัน พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และขอเสนอให้ตัดงบการจัดซื้อจัดจ้างเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นในรัฐสภาชุดนี้

 

ขณะที่ ภราดร ปริศนานันทกุล สส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวชี้แจงถึงโครงการการพัฒนาพื้นที่ตามผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในงบประมาณปี 2567 นั้น มีโครงการเพื่อขอดำเนินการใหม่กว่า 100 โครงการ หากจะให้กรมโยธาธิการและผังเมืองมานั่งลงรายละเอียดทั้งหมด เกรงว่าจะเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยเป็นการใช้คำที่ครอบคลุม เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มองเป็นภาพรวมทั้งหมด 

 

ส่วนการยกตัวอย่างโครงการสำหรับปรับปรุงภูมิทัศน์ที่จังหวัดอุดรธานี ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว ระบุว่า การออกแบบกับความเป็นจริงนั้นไม่เหมือนกัน ก็โครงการดังกล่าวยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งมีอีกหลายโครงการที่ยังดำเนินการไม่เสร็จเช่นเดียวกัน 

 

ส่วนงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงเพิ่มอีก 1 ลำ โดยใช้งบประมาณในปี 2567 จำนวน 142 ล้านนั้น ทาง กมธ. เห็นว่าภารกิจของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องมีความพร้อม เพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้

ภราดรยังชี้แจงถึงความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ว่า โครงการนี้มีระยะการก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้น 2 ระยะ ในระยะแรกดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณปี 2563 และมีงบผูกพันต่อเนื่องถึงปี 2569 ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 28% ในงบประมาณปี 2567 เป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 โดยจะใช้งบประมาณอีกทั้งสิ้น 2,215 ล้านบาท ทั้งการสร้างท่าเทียบเรือสาธารณะ, ลานจอดรถ, ทางเชื่อมอาคาร รวมถึงระบบงานวิศวกรรมไฟฟ้า โดยจะมีการตั้งงบประมาณผูกพันในปี 2567 เป็นปีแรก

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดการพิจารณางบประมาณกระทรวงมหาดไทยนั้น ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญคือการตัดงบประมาณการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อใช้ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สงวนความเห็นว่า มีสมาชิกหลายคนตั้งคำถามถึงการตัดงบประมาณฝายแกนดินซีเมนต์ ตนในฐานะประธาน กมธ. ศึกษาและติดตามการจัดทำงบ จึงอยากอธิบายว่าการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในบางแห่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด ในแหล่งน้ำบางแห่งเป็นวิธีสร้างที่ถูกต้อง 

 

อย่างไรก็ตาม การที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ทำหนังสือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ส่งคำของบสร้างฝายแกนดินซีเมนต์กว่า 7,000 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน แต่สำนักงบประมาณตัดเหลือ 4,000 แห่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายใน 1 เดือน จึงอยากทราบว่ากระบวนการที่รวบรัดเช่นนี้ ฝายแกนดินทั้งหมดมีความเหมาะสมในการสร้างทุกแห่งหรือไม่

 

ณัฐพงษ์กล่าวยืนยันว่า กมธ. ตัดงบส่วนนี้เพราะเสียงข้างมาก ดังนั้นการกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลตัดงบโดยอคติ และความไม่รู้จึงไม่ยุติธรรม มองว่าหากชะลอโครงการนี้บางแห่งในปีนี้ก็ไม่เป็นการเสียหาย

 

ขณะที่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงกรณีการตัดงบประมาณ 1,255 ล้านบาท เพื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์กว่า 3,000 แห่งว่า เป็นการแจกเสื้อโหลตามขนาดของฝายอย่างชัดเจน และเห็นความเร่งรีบอย่างผิดสังเกต หากดูเอกสารจะเห็นว่าท้องถิ่นมีเวลาเพียง 12 วันในการเลือกตำแหน่งทำฝาย และการประเมินราคาก่อสร้าง 

 

สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ไม่มีใครรู้ข้อมูลก่อน ซึ่งเหมือนมีการแจกงบกันอย่างผิดสังเกต ซึ่งมีหลายรายการที่ตั้งงบประมาณต่ำกว่า 5 แสนบาทเล็กน้อย เพราะราคาดังกล่าวคือลักกี้นัมเบอร์ที่ทำให้หน่วยงานราชการเลือกผู้รับเหมาได้โดยไม่ผ่านการแข่งขัน จึงเหมือนจงใจจิ้มเลือกผู้รับเหมา และเหมือนมีการแบ่งราคาแล้ว รวมถึงยังมีความจงใจหลบเลี่ยงการรับประกันโครงการเป็นระยะเวลา 2 ปีด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม มีการสอบถามในที่ประชุม กมธ. ชัดเจนว่าโครงการสร้างฝายจะมีการรับประกันงานได้อย่างน้อย 2 ปีหรือไม่ แต่ก็พบว่าไม่มีการรับประกันงานแต่อย่างใด นอกจากนี้ ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่โครงการของรัฐจะต้องมีใบอนุญาตมาแสดง ซึ่งกรณีฝายแกนดินซีเมนต์จะต้องมีใบอนุญาตที่เป็นไปตามกฎหมายของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ได้รับการยืนยันว่า หลายแห่งยังไม่ได้รับการอนุญาต รวมถึงใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า เพราะหากลำน้ำใหญ่พอสมควรจะต้องมีการเดินเรือ แต่ปรากฏว่าก็ไม่มีใบอนุญาตมาแสดง และยังมีการเลี่ยงบาลีไปใช้คำว่าฝายกึ่งถาวรด้วย 

 

“แพงจริง พังจริง และจะเป็นปัญหาทิ้งมลพิษถาวรในอนาคต และหากไม่รับประกันถ้าพังใครจะรับผิดชอบ ท่านก็ไม่ตอบคำถาม และแม้ว่าหน่วยงานที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ แต่ก็จำนนต่อเหตุผลทำให้ไม่อุทธรณ์ในชั้น กมธ. ชุดใหญ่ ดังนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่จะตัดงบก้อนนี้ นอกจากนี้ มีข้อสังเกตด้วยว่ามีความพยายามอย่างชัดเจนจาก สส. พรรคเพื่อไทย ใน กมธ. และ สว. บางท่านอยู่เบื้องหลังการตั้งงบฝายแกนดินซีเมนต์ครั้งนี้ ที่สำคัญหากฝ่ายค้านไม่มีเหตุผลมากพอ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะตัดงบประมาณสำเร็จ” สุรเชษฐ์กล่าว  

 

จากนั้น วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส. แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อย อภิปรายยืนยันว่า งบประมาณที่ขอเพื่อใช้ก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เป็นความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวนไม่มาก และมีความแข็งแรงคงทนแน่นอน

 

“ท่านอย่าเอาอคติมาคิดเองเออเองแล้วทำร้ายประชาชนเช่นนี้ ท่านสร้างความเสียหายให้ประชาชน เอาอคติในใจมาทำร้ายประชาชน เพราะท่านตัดงบไปแล้ว นี่คือความเจ็บช้ำน้ำใจของประชาชน เราจะจำไว้ว่าอคติทำให้ประชาชนเดือดร้อนไม่จบสิ้น” วรวัจน์กล่าว

 

สุรเชษฐ์ชี้แจงว่า งบทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย เราต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์กับโทษ กรณีนี้ข้อเสียมากกว่าข้อดี งบไม่คุ้มค่า ไม่โปร่งใส เราเข้าใจว่ามีคนได้ประโยชน์จากโครงการ แต่ก็มีคนเสียประโยชน์เช่นกัน ส่วนที่บอกว่าคนตัดงบประมาณไม่รู้เรื่อง ใครไม่รู้เรื่องก็ให้ประชาชนตัดสิน

 

จากนั้นวิสุทธิ์ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงว่า “ขอท้าสุรเชษฐ์ให้ไปดูพื้นที่พร้อมกันหลังการพิจารณางบประมาณเสร็จสิ้น ถ้าสิ่งที่ผมพูดไม่เป็นความจริง ผมขอลาออกจากผู้แทน ถามว่าท่านกล้าหรือไม่”

 

จากนั้น มี สส. จากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลพยายามแย่งกันประท้วง ทำให้ปดิพัทธ์ในฐานะประธานการประชุมกล่าวว่า “ผมจะให้สิทธิประท้วงแน่นอน แต่รบกวนทีละท่านนะครับ”

 

วรวัจน์อภิปรายว่า “พี่น้องทางเหนือครับ ทั้งหมดนี้ที่สุรเชษฐ์พูดเป็นการพูดไม่จริงในสภา” ปดิพัทธ์จึงแทรกขึ้นมาว่า “ผมจะให้สิทธิพาดพิง แต่นี่ยังเป็นเรื่องการประท้วงอยู่ ขอให้ท่านสุรเชษฐ์จบ แล้วท่านใดจะใช้สิทธิพาดพิงเต็มที่เลย” 

 

สุรเชษฐ์กล่าวสรุปว่า ขอยืนตามเหตุผลที่ตนได้กล่าวไป ขอฝากข้อคิดเอาไว้ให้เพื่อนสมาชิกได้คิดกันไว้ว่า หากคนเรารู้จักแค่ค้อน ก็จะมองปัญหาทุกอย่างเป็นตะปู ประเด็นคือฝายมีหลายแบบ ฝายสร้างได้แต่ต้องคิด คิดว่าจะต้องทำอย่างไร และจะต้องผ่านกระบวนการที่คิดถึงคนท้ายน้ำ คิดถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่ต่างกัน 

 

“อย่าคิดเพียงว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการแจกเสื้อโหล ต้องคิดว่าหากมีงบประมาณมาถึงพื้นที่ของคุณ บางท้องถิ่นอาจอยากได้ฝายไม้ไผ่ บางท้องถิ่นอาจอยากได้ฝายคอนกรีต บางท้องถิ่นอาจจะไปทำไฟ ทำถนน ในรูปแบบอื่น เราอยากให้เขาเลือกได้ ดีกว่าการแจกเสื้อโหล สุดท้ายตนเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากดื่มน้ำผสมปูนซีเมนต์” สุรเชษฐ์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบให้ยึดตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ

 

ฝายแกนดินซีเมนต์ ฝายแกนดินซีเมนต์ ฝายแกนดินซีเมนต์ ฝายแกนดินซีเมนต์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising