×

มาตาลดา ชวนตั้งคำถามว่าครอบครัวที่ดีควรมีหน้าตาแบบไหน?

23.06.2023
  • LOADING...
มาตาลดา

HIGHLIGHTS

  • เพิ่งออกอากาศมาได้เพียง 5 ตอน มาตาลดา ก็ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามในฐานะละครดีต่อใจ และทำให้ ชาย-ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ กลายเป็นคุณพ่อขวัญใจชาวไทย แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะผิดจากมาตรฐานของคำว่า ‘พ่อ’ ทั่วๆ ไปอยู่มาก เหนือสิ่งอื่นใดละครเรื่องนี้ก็ชวนตั้งคำถามว่าครอบครัวที่สมบูรณ์แบบควรมีหน้าตาแบบไหน และความสมบูรณ์แบบที่ว่าได้ผลผลิตออกมาเป็นอย่างไร
  • จากเรื่องย่อ มาตาลดา แทบไม่แตกต่างจากละครเมโลดราม่าที่เคยได้ดูกันเลย แต่ในรายละเอียด ละครเรื่องนี้สอดแทรกประเด็นครอบครัวไว้ได้อย่างน่าสนใจ เหมือนตั้งใจเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างครอบครัวของมาตาลดาที่ดูยังไงก็แปลกในสายตาคนทั่วไป ในขณะที่ครอบครัวของปุริมดูภายนอกคือครอบครัวในอุดมคติ แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความตึงเครียดจากความเข้มงวดของพ่อ ส่งผลให้ปุริมเหมือนจะสมบูรณ์แบบ แต่เนื้อในกลับบอบช้ำ เต็มไปด้วยความคับข้องใจ
  • อันที่จริงมีความพยายามที่จะสอดแทรกเรื่องราวของครอบครัว LGBTQIA+ ผ่านละครหลายเรื่องก่อนหน้านี้ อย่างเช่น พระจันทร์สีรุ้ง (2552) และ มาลีเริงระบำ (2557) แต่ทั้งสองเรื่องตัวละคร LGBTQIA+ ต้องซ่อนเร้นตัวตนเพราะกลัวสังคมและตัวลูกไม่ยอมรับ แตกต่างจากมาตาลดาที่พ่อเกรซเผยตัวตนให้ลูกยอมรับ และเข้าใจความหลากหลายตั้งแต่ต้น จุดนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่เริ่มพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQIA+ มากขึ้นด้วยเหมือนกัน

เพิ่งออกอากาศมาได้เพียง 5 ตอน มาตาลดา ก็ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามในฐานะละครดีต่อใจ และทำให้ ชาย-ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ กลายเป็นคุณพ่อขวัญใจชาวไทย แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะผิดจากมาตรฐานของคำว่า ‘พ่อ’ ทั่วๆ ไปอยู่มาก เหนือสิ่งอื่นใดละครเรื่องนี้ก็ชวนตั้งคำถามว่าครอบครัวที่สมบูรณ์แบบควรมีหน้าตาแบบไหน และความสมบูรณ์แบบที่ว่าได้ผลผลิตออกมาเป็นอย่างไร

 

มาตาลดา (เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ) เติบโตมากับ พ่อเกรซ (ชาย-ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ) ที่เป็น LGBTQIA+ และได้รับการเลี้ยงดูมาจากเหล่าเพื่อนสาวของพ่อ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เธอได้รับความรัก การเอาใจใส่ ปลูกฝังให้กลายเป็นเด็กมองโลกในแง่ดี และเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย เมื่อโตเป็นสาว มาตาลดาย้ายจากพัทยาเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อหวังสานสัมพันธ์ให้กับพ่อที่ถูกครอบครัวตัดขาดตั้งแต่ยังหนุ่ม ทำให้ได้พบกับ ปุริม หรือ เป็นหนึ่ง (เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข) หมอศัลยกรรมทรวงอกที่ดูเย็นชา ไร้หัวใจ และไม่ยอมให้ใครเข้ามาในชีวิตได้ง่ายๆ แต่เมื่อได้รู้จักกับมาตาลดา ปุริมก็เริ่มเปิดใจและสานสัมพันธ์รักต่อกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องทุกอย่างไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะพ่อของปุริมตั้งใจให้เขาแต่งงานกับ อรุณรัศมี (อแมนด้า ออบดัม) รวมทั้ง ไตรฉัตร (ริว-วชิรวิชญ์ วัฒนภักดีไพศาล) ลูกพี่ลูกน้องของปุริมก็ตั้งท่าเป็นคู่แข่งหัวใจกับเขา

 

 

จากเรื่องย่อ มาตาลดา แทบไม่แตกต่างจากละครเมโลดราม่าที่เคยได้ดูกันเลย แต่ในรายละเอียด ละครเรื่องนี้สอดแทรกประเด็นครอบครัวไว้ได้อย่างน่าสนใจ เหมือนตั้งใจเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างครอบครัวของมาตาลดาที่ดูยังไงก็แปลกในสายตาคนทั่วไป ในขณะที่ครอบครัวของปุริมดูภายนอกคือครอบครัวในอุดมคติ แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความตึงเครียดจากความเข้มงวดของพ่อ ส่งผลให้ปุริมเหมือนจะสมบูรณ์แบบ แต่เนื้อในกลับบอบช้ำ เต็มไปด้วยความคับข้องใจ

 

พ่อของมาตาลดาเลี้ยงดูเธอท่ามกลางสิ่งที่สังคมมองอย่างอคติ ทั้งการเป็น LGBTQIA+ เปิดร้านเหล้า แต่ใช้ทั้งความรัก ความเข้าใจ ชี้นำให้เธอได้ตั้งคำถาม ตกตะกอนความคิดเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง อย่างเช่นฉากที่มาตาลดาถูกล้อว่าเป็นลูกตุ๊ด พ่อเกรซก็ตั้งคำถามให้เธอได้ฉุกคิดและได้คำตอบที่ทำให้คำสบประมาทเหล่านั้นไม่สามารถกระทบจิตใจของเธอได้อีก

 

 

 

สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เด็กสาวเติบโตขึ้นอย่างมั่นใจ และพร้อมจะส่งพลังบวกไปให้กับคนอื่น เรื่องเลยไปถึงฉากในห้องปกครองที่พ่อเกรซสั่งสอนเด็กชายเกเรให้สำนึกในการกระทำของตัวเอง โดยที่ไม่ได้ใช้คำสั่งหรือความรุนแรงเลย แตกต่างจากครอบครัวของปุริมที่พ่อมักออกคำสั่งและตั้งมาตรฐานให้เขาทำตาม ในขณะที่แม่ก็ไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วย ทำให้ปุริมรู้สึกต่อต้านและมีอาการดื้อเงียบอย่างที่เราได้เห็นในหลายๆ ฉาก กับบทสนทนาชวนอึดอัดระหว่างเขากับพ่อ หรือแม้แต่กับแม่ อย่างเช่นฉากในรถเมื่อแม่อยากให้เขาแต่งงานเพื่อจะได้มีคนมาดูแล

 

“ถ้าแม่อยากให้คนมาดูแลผม ทำไมแม่ไม่ดูแลเอง” ประโยคแสนเรียบง่ายแต่ด้วยสีหน้าท่าทางก็สื่อสารถึงความน้อยเนื้อต่ำใจของปุริมที่มีต่อแม่อยู่ลึกๆ

 

การเติบโตท่ามกลางความเข้มงวดยังทำให้ปุริมขาดความมั่นใจในบางเรื่อง อย่างในฉากที่เขาช่วยหมาจรจัดเข้ามาในบ้าน แล้วมาตาลดายุให้เขาเลี้ยงหมาตัวนั้นไว้เป็นสัตว์เลี้ยง

 

“เลี้ยงไว้ในบ้านได้ด้วยเหรอ” นี่เป็นคำถามที่ไม่น่าเกิดขึ้นจากคนที่ทำอาชีพยากๆอย่างการเป็นหมอแบบเขา

 

 

นอกจากสองตัวละครหลักของเรื่อง ประเด็นเรื่องผลผลิตจากการเลี้ยงดูยังสะท้อนผ่านคาแรกเตอร์ของไตรฉัตร ลูกพี่ลูกน้องผู้มักจะถูกเปรียบเทียบกับปุริมเสมอ สิ่งที่เขาทำได้คือยิ้มรับ แต่ภายในใจลึกๆ มันค่อยๆ เพาะบ่มความอยากเอาชนะ จากข้อดีอันน้อยนิดที่เขามีเหนือปุริม นั่นคือเสน่ห์ จึงพยายามใช้แย่งอรุณรัศมีและมาตาลดาจากปุริม เรียกได้ว่าละครเรื่องนี้คือมวลรวมของผลลิตการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน ทำให้แตกต่างจากละครเมโลดราม่าแบบเดิมๆ ให้แง่คิดและมีมิติมากขึ้นกว่าเดิม

 

อันที่จริงมีความพยายามที่จะสอดแทรกเรื่องราวของครอบครัว LGBTQIA+ ผ่านละครหลายเรื่องก่อนหน้านี้ อย่างเช่น พระจันทร์สีรุ้ง (2552) และ มาลีเริงระบำ (2557) แต่ทั้งสองเรื่องตัวละคร LGBTQIA+ ต้องซ่อนเร้นตัวตนเพราะกลัวสังคมและตัวลูกไม่ยอมรับ แตกต่างจากมาตาลดาที่พ่อเกรซเผยตัวตนให้ลูกยอมรับและเข้าใจความหลากหลายตั้งแต่ต้น จุดนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่เริ่มพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQIA+ มากขึ้นด้วยเหมือนกัน

 

 

โดยภาพรวม มาตาลดา เป็นละครที่ดี ใสๆ ไม่มีพิษมีภัย ผสมกับความเข้มข้น ตรึงใจจากบทสนทนาในอีพีแรกๆ และน่าจะไปถึงจุดพีคอีกครั้งเมื่อพ่อเกรซและพ่อของปุริมมาเผชิญหน้ากัน ส่วนทางด้านการแสดง เจมส์ จิรายุ และ เต้ย จรินทร์พร ทำหน้าที่ได้ดีจนทำให้ตัวละครดูมีชีวิตขึ้นมาได้ ขณะที่ ชาย ชาตโยดม บางจังหวะจริต ‘ล้น’ เกินเกย์ไปบ้าง แต่ในฉากที่แสดงความเป็นพ่อเขาก็ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

 

เรียกได้ว่าไม่บ่อยนักที่ละครทีวีไทยจะมีละครน่าสนใจมากพอที่จะทำให้คนดูปันใจจากซีรีส์เกาหลี ที่สำคัญละครเรื่องนี้ยังตั้งคำถามถึงมาตรฐานความดี ความงาม ความสมบูรณ์แบบ ว่าวัดได้จากไหน? สิ่งที่เราเห็นหรือที่ผลลัพธ์ได้ออกมา? และเรามีสิทธิ์มากแค่ไหนที่จะสร้างมาตรฐานนั้นขึ้นมา?

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising