×

บอร์ดอีวีปรับเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น 5 ปี หนุนหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวขึ้นโดดเด่นวันนี้

25.03.2021
  • LOADING...
หุ้นกลุ่มยานยนต์

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวานนี้ (24 มีนาคม 2564) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ปรับเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (บอร์ดอีวี) ให้เร็วขึ้นจากแผนเดิม 5 ปี โดยตั้งเป้าในปี 2578 ให้ประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทุกชนิด (เดิมตั้งเป้าหมายภายในปี 2583) หลังจากคาดการณ์ว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 จะเท่ากับราคารถยนต์แบบสันดาป และตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 50% ในปี 2573 โดยในปี 2568 บอร์ดอีวีตั้งเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทจำนวน 1.05 ล้านคัน 

 

นอกจากนี้บอร์ดอีวียังได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนระยะเร่งด่วน และมาตรการระยะ 1-5 ปี โดยมาตรการนี้จะกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อ รวมถึงมีการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และจักรยานยนต์ ตลอดจนการส่งเสริมศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ และการจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานในประเทศ

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ (25 มีนาคม 2564) ราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ (SETAUTO) ปรับตัวขึ้น 0.51%DoD นำโดยราคาหุ้นอาปิโก ไฮเทค (AH) เพิ่มขึ้น 1.42%DoD สู่ระดับ 21.40 บาท, ราคาหุ้น บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) เพิ่มขึ้น 0.55%DoD สู่ระดับ 182.50 บาท, ราคาหุ้น บมจ.พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง (PCSGH) ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 5.05 บาท และราคาหุ้น บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ลดลง 0.54%DoD สู่ระดับ 18.30 บาท 

 

ขณะที่หุ้นเกี่ยวข้องอย่าง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ปรับตัวขึ้น 5.53%DoD สู่ระดับ 62.00 บาท (ข้อมูล ณ เวลา 12.30 น.)

 

มุมมองระยะสั้น:

ในระยะสั้น SCBS มีมุมมองเป็นกลางกลุ่มยานยนต์ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ระบบสันดาปเดิมเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจะค่อยเป็นค่อยไป โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตออกมานั้นก็ต้องพิจารณาความพร้อมของการผลิตแบตเตอรี่ และการให้บริการด้านสถานีอัดประจุด้วย ขณะที่รถยนต์ประเภทไฮบริดและประเภทปลั๊กอินไฮบริดจะยังมีการใช้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ระบบสันดาปเดิมอยู่ แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% จะไม่มีชิ้นส่วนในระบบเครื่องยนต์

 

สำหรับปัจจัยบวกที่ต้องติดตามต่อไปคือ การออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น การลดราคาขายหรือภาษี ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลบวกต่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นมานานแล้วนับตั้งแต่โครงการรถคันแรกในปี 2554-2555

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาวต้องติดตามการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่ง SCBS จะมีผลกระทบเชิงลบเกิดขึ้นสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนในระบบเครื่องยนต์ โดย PCSGH มีสัดส่วนรายได้จากชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์ในรถกระบะ 50% ของรายได้รวม 

 

ในขณะที่ AH และ SAT มีสัดส่วนรายได้จากชิ้นส่วนในระบบเครื่องยนต์เพียง 2-3% และ STANLY น่าจะไม่มีผลกระทบเพราะไม่มีรายได้จากชิ้นส่วนในระบบเครื่องยนต์ โดย STANLY เป็นผู้ผลิตชุดโคมไฟที่ต้องมีในรถยนต์ทุกประเภท ขณะที่ EA ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าก็จะได้อานิสงส์ทางตรงจากเป้าหมายการขับเคลื่อนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising