×

‘เราจะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร’ ในปี 2566 ถอดบทเรียนโควิดไทยปี 2565

03.01.2023
  • LOADING...

โควิดในปี 2565 ที่ผ่านไปแล้ว คำถามที่ว่า ‘โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือยัง’ คงไม่สำคัญเท่ากับว่า ‘เราได้อยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร’ ทั้งโลกเริ่มต้นปี 2565 ด้วยการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน บางคนมองว่าจะเป็นสายพันธุ์สุดท้ายก่อนที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่จนถึงปัจจุบันไวรัสยังคงกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยจำนวนมาก และองค์การอนามัยโลกยังคงระดับการระบาดใหญ่ไว้ ทว่าหลายประเทศไม่ได้มองว่าโควิดเป็นโรคอันตรายอีกต่อไป เว้นแต่ว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่า

 

ผู้ติดเชื้อสะสมของไทยมากกว่า 2.5 ล้านราย

 

ธันวาคม 2565 ครบรอบ 3 ปีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่น่าจะเริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2562 ไม่มีใครคาดคิดว่าจะระบาดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกมากกว่า 663.7 ล้านราย และเสียชีวิต 6.7 ล้านราย (อัตราป่วยตาย 1.0%) แต่ถ้านับเฉพาะปี 2565 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 370.1 ล้านราย และเสียชีวิต 1.2 ล้านราย (อัตราป่วยตาย 0.3%) แสดงว่าเมื่อเวลาผ่านไป โรคนี้มีความรุนแรงลดลง

 

ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อสะสม 4.7 ล้านราย และเสียชีวิต 3.3 หมื่นราย (อัตราป่วยตาย 0.7%) แต่ถ้านับเฉพาะปี 2565 มีผู้ติดเชื้อ 2.5 ล้านราย และเสียชีวิต 1.2 หมื่นราย (อัตราป่วยตาย 0.5%) แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงน่าจะสูงกว่านี้ เพราะในปีนี้มีการปรับนิยามการรายงานผู้ป่วยใหม่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน กรมควบคุมโรครายงานเฉพาะผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้อัตราป่วยตายน่าจะต่ำกว่านี้มาก แสดงว่าโรคน่าจะมีความรุนแรงลดลงเช่นกัน

 

ทว่าอย่างที่แพทย์หลายท่านย้ำว่า ‘ความรุนแรงลดลง’ ไม่ได้หมายความว่า ‘ไม่รุนแรง’ เพราะยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และที่สำคัญคือผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ซึ่งมีสัดส่วนเป็นส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ทั้งนี้จากการสำรวจภูมิคุ้มกันต่อโควิดของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อกันยายน 2565 พบว่าประชาชนไทย 93-94% มีภูมิคุ้มกันแล้ว (จากทั้งการติดเชื้อ หรือการฉีดวัคซีน) แต่ในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มี 14% ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าเกณฑ์

 

สายพันธุ์โอมิครอนที่ไม่ใช่โอมิครอนเมื่อต้นปี

 

ปี 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ของโควิดเป็นตัวอักษรกรีกตัวใหม่ แต่สายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่สายพันธุ์ย่อยเดียวกันกับเมื่อต้นปี เพราะไวรัสยังคงกลายพันธุ์ ทำให้การระบาดของโควิดทั่วโลกในปี 2565 มีลักษณะเป็นระลอกคลื่น โดยระลอกแรกเป็นคลื่นใหญ่สุดของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ต่อมาช่วงกลางปีเป็นระลอกของ BA.4 และ BA.5 และสุดท้ายช่วงปลายปีเป็นระลอกของสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น

 

  • สหรัฐอเมริกา: BQ.1 และ XBB
  • สหราชอาณาจักร: BQ.1 
  • เกาหลีใต้: BA.5.2
  • ญี่ปุ่น: BF.5 และ BA.5.2
  • มาเลเซีย และสิงคโปร์: XBB.1

 

สำหรับประเทศไทยอาจแบ่งเป็น 3 ระลอก ได้แก่

 

  • มกราคม-มิถุนายน: BA.1 และ BA.2
  • กรกฎาคม-ตุลาคม: BA.4 และ BA.5
  • พฤศจิกายน-ธันวาคม: BA.2.75 

 

เมื่อ 25 ธันวาคม 2565 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากการตรวจเดือนมกราคม-กลางเดือนธันวาคม 2565 จำนวน 1,000 ตัวอย่าง ปัจจุบันพบการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ลูกของ BA.2.75, BA.5 และ XBB ทุกสายพันธุ์สามารถหลบภูมิจากการติดเชื้อครั้งก่อนและการฉีดวัคซีนได้ดีกว่าเดิม แนวโน้มการกลายพันธุ์จะมีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์มากขึ้น และสัดส่วนของ XBB และ BQ.1 กำลังเพิ่มขึ้นช้าๆ

 

แต่ยังไม่พบความแตกต่างที่ชี้ให้เห็นความรุนแรงมากขึ้นจากสายพันธุ์ดังกล่าวเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรงยังคงเป็นปัจจัยด้านคนไข้ เช่น โรคประจำตัว การไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น (แสดงว่าการฉีดวัคซีนหรือการฉีดเข็มกระตุ้นยังจำเป็น!)

 

การพัฒนาของไวรัสที่สามารถหลบภูมิได้ดีขึ้น โดยมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง เพื่อจะทำให้ติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยติดเชื้อและฉีดวัคซีนมาก่อน บางรายที่ติดเชื้อซ้ำมีการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดด ยกตัวอย่างผู้ป่วยที่ติด BA.2 มาก่อน และครั้งนี้ติดสายพันธุ์ลูกของ BA.5 ที่กลายพันธุ์เพิ่ม 11 ตำแหน่ง “ปีนี้กับปีหน้าน่าจะเป็นปีที่เกิดการติดเชื้อซ้ำๆ โดยอาการอาจไม่รุนแรง ก่อนจะเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่สายพันธ์ุย่อยของโอมิครอน” ผศ.นพ.โอภาส คาดการณ์ 

 

ไทยปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้สำเร็จ?

 

ปี 2565 ประเทศไทยทยอยปรับลดมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิดมาเรื่อยๆ ตามแนวคิด ‘โควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น’ (Moving to COVID-19 Endemic) ที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข) แถลงเมื่อ 4 มกราคม 2565 ซึ่งขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ คือ เชื้อโรคมีความรุนแรงลดลง คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โดยจะเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และเตรียมระบบสาธารณสุขและยารองรับ

 

การประกาศแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวล เพราะถึงแม้สายพันธุ์โอมิครอนอาจมีความรุนแรงลดลง แต่ด้วยความสามารถในการแพร่กระจายสูง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นโยบายที่ตามมาหลังจากการประกาศแนวคิดดังกล่าวคือ ‘ATK First’ การตรวจหาเชื้อด้วย ATK แทน RT-PCR และเมื่อตรวจพบเชื้อจะได้รับการรักษาด้วยระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI First) ก่อนหากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เพื่อสำรองเตียงโรงพยาบาลไว้ให้กับผู้ป่วยอาการหนัก

 

การระบาดของโอมิครอนส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขปรับการรักษาเป็น ‘เจอ แจก จบ’ หรือการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตนเอง (OPSI) เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และลดภาระของโรงพยาบาลในการติดตามอาการผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง รูปแบบการรักษานี้ใกล้เคียงกับการรักษาไข้หวัดใหญ่ แต่ในช่วงแรกของการดำเนินการก็ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาจนหายป่วยเอง

 

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ศบค. แถลงแผนและมาตรการ Endemic Approach to COVID-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นจนถึงเดือนเมษายน จากนั้นจะทรงตัวถึงเดือนพฤษภาคม แล้วค่อยๆ ลงถึงเดือนมิถุนายน และสามารถเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป การระบาดของ BA.1 และ BA.2 เป็นไปตามคาดการณ์ แต่ที่ผิดคาดคือมีการระบาดของ BA.4 และ BA.5 เข้ามาช่วงมิถุนายนพอดี

 

ถึงแม้ระยะ Post-Pandemic เต็มรูปแบบของกระทรวงสาธารณสุขจะเลื่อนออกไป แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อ 1 พฤษภาคม ศบค. ได้เปิดประเทศโดยยกเลิกระบบ Test & Go และเมื่อ 1 กรกฎาคม ก็ได้ผ่อนคลายมาตรการทางสังคมเพิ่มเติม โดยให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะตามความสมัครใจ และให้สถานบันเทิงเปิดบริการได้ตามปกติ จำนวนผู้ติดเชื้อในระลอก BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น แต่ไม่กระทบกับระบบสาธารณสุขมากเท่ากับระลอกก่อน จนค่อยๆ ลดลงในเดือนกันยายน

 

1 ตุลาคม 2565 เป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ของราชการ จึงกลายเป็นหมุดหมายในการประกาศระยะ Post-Pandemic เต็มรูปแบบอีกครั้ง ศบค. ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้มานาน 2 ปีครึ่ง และยุบตัวเองไป ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขลดระดับโรคโควิดจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ เป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ (ที่สุดท้ายไม่ได้แก้ไข) แต่ยังมีแผนการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขรองรับ หากอัตราป่วยตายหรืออัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น

 

ปัจจุบันกรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์ผู้ป่วยเป็นรายสัปดาห์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล 2,900 ราย (เฉลี่ย 414 รายต่อวัน) แนวโน้มลดลงติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผู้เสียชีวิต 89 คน (เฉลี่ย 12 รายต่อวัน) แนวโน้มเริ่มลดลงเช่นกัน แสดงว่าระลอก BA.2.75 ระบาดไม่มากและจบเร็ว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น สายพันธุ์ของไวรัส ระดับภูมิคุ้มกัน การป้องกันตัว การเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ และการรักษาด้วยยาต้านไวรัส

 

‘โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือยัง’ สำหรับประเทศไทยก็อาจตอบว่า ‘ใช่’ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้เมื่อต้นปี แต่คำถามนี้ควรให้ WHO ที่ประเมินสถานการณ์ในระดับโลกเป็นผู้ตอบมากกว่า ทั้งนี้ในทางวิชาการ ‘โรคประจำถิ่น’ หมายถึงโรคที่มีอัตราป่วยคงที่ในพื้นที่และมักคาดการณ์ได้ ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเริ่มระบาดตามฤดูกาลแล้ว แต่ยังคงต้องสังเกตรูปแบบการระบาดของโควิดต่อไปอีกในปี 2566 เพราะตัวแปรสำคัญคือจีนที่กำลังจะเปิดประเทศเร็วๆ นี้

 

ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนและวัคซีนรุ่นใหม่

 

วัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคนี้มีความรุนแรงลดลง ซึ่งปัจจุบันการฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันอาการรุนแรง ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 13,170 ล้านโดส โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 63.4% (ต่ำกว่าเป้าหมาย 70% ที่ WHO ตั้งไว้เมื่อปีที่แล้ว) และเข็มกระตุ้น 33.6% ดินแดนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชิลี (145 โดสต่อประชากรร้อยคน), ญี่ปุ่น (122 โดสต่อประชากรร้อยคน), เบลเยียม (101 โดสต่อประชากรร้อยคน), สวีเดน (93 โดสต่อประชากรร้อยคน) และไต้หวัน (92 โดสต่อประชากรร้อยคน) 

 

ส่วนประเทศไทย ข้อมูลจากกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2565 มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 77.7% (+13.6% เทียบกับปีที่แล้ว) เข็มกระตุ้นแบ่งเป็นเข็มที่ 3 = 38.8% (+29.1%), เข็มที่ 4 = 8.9% และเข็มที่ 5 = 1.2% ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนผลงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตามแผน Endemic Approach to COVID-19 เคยตั้งเป้าหมายเข็มกระตุ้นไว้ที่ 60% แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนการยอมรับวัคซีนของประชาชนด้วย ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

 

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หากรับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนวัคซีนรุ่นใหม่ที่เป็นชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine) และเริ่มฉีดในต่างประเทศแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีแผนจัดซื้อ โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคยังคงแนะนำให้ใช้วัคซีนรุ่นเก่าเป็นเข็มกระตุ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงวางแผนบริหารวัคซีนที่มีอยู่เดิม และขอบริจาควัคซีนรุ่นใหม่แทน

 

สถานการณ์โควิดในปี 2566 จะเป็นอย่างไร

 

การคาดการณ์น่าจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือกรณีที่ไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ต่างไปจากโอมิครอนเดิม โควิดน่าจะเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่นได้ คือระบาดตามฤดูกาลเป็นคลื่นลูกเล็ก (Small Wave) เหมือนกับ BA.2.75 ในขณะนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับที่กรมควบคุมโรคพยากรณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนว่าจะระบาดช่วงธันวาคม และอาจระบาดอีกครั้งช่วงพฤษภาคมปีหน้า ส่วนอีกกรณีคือมีสายพันธุ์ใหม่ที่ต่างไปจากเดิมมาก โควิดอาจจะกลับมาระบาดเป็นคลื่นลูกใหญ่อีกครั้งเหมือนช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

ตัวแปรสำคัญคือการระบาดในประเทศจีนหลังยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพราะการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีข่าวผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ถึงแม้จะมีข้อมูลเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่เป็น BA.5, BQ.1, BF.7 และ BA.2.75 เหมือนในต่างประเทศ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาจีนส่งข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสให้ฐานข้อมูลระดับโลก (GISAID) ค่อนข้างน้อย จึงต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ในผู้ที่เดินทางจากจีน

 

‘เราได้อยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร’ ตลอดปี 2565 โควิดกลายพันธุ์ต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าโรครุนแรงขึ้น ในขณะที่เราก็ปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิดจนใกล้เคียงกับปกติ ปีนี้น่าจะเป็นปีที่เราสามารถเคานต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้สบายใจที่สุดในรอบ 3 ปี ส่วนปีนี้เราอาจต้องปรับตัวกันอีกรอบหากมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ แต่คงไม่รุนแรงเท่ากับปี 2564 แล้ว และเราน่าจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ต้องกระตุ้นให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนรุ่นใหม่ด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising