×

‘วัคซีนดีเลย์’ วิกฤตซ้อนวิกฤต สั่นคลอนความเชื่อมั่นรัฐบาล

27.05.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด
  • วันนี้ (27 พฤษภาคม) สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 3,323 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 47 ราย ทำสถิติสูงสุด ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 920 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 141,127 ราย อาการหนัก 1,201 ราย และใช้เครื่องช่วยหายใจ 399 ราย

 

  • ผ่านมาร่วม 2 เดือน หลังการระบาดระลอกใหม่ (นับจากวันที่ 1 เมษายน)สถานการณ์การระบาดยังอยู่ในระดับวิกฤต ขณะที่สถานการณ์การบริหารจัดการของรัฐบาลก็วิกฤตไม่แพ้กัน 

 

  • วิกฤตใหญ่ที่ต้องจับตาในเวลานี้คือ ‘วัคซีนพร้อมหรือไม่’ ซึ่งหากไล่เรียงจากสัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็อาจเห็นคำตอบได้ว่า ‘ยังไม่พร้อม’

 

  • เป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีประกาศก่อนหน้านี้คือการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรภายในปีนี้ ช่วงเริ่มต้นถูกตั้งคำถามว่าจะสามารถหาวัคซีนอีกกว่า  37 ล้านโดส เพิ่มเติมจากเดิมที่มีคือ Sinovac และ AstraZenaca อยู่ 60 กว่าล้านโดสได้ทันในสิ้นปีนี้หรือไม่ แต่ล่าสุดต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า วัคซีน 60 กว่าล้านโดสที่เคยมั่นใจว่ามีอยู่ในมือ จะสามารถส่งมอบได้ตามแผนทันเวลาหรือไม่

 

  • ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 24 พฤษภาคม ระบุว่า กรมควบคุมโรคมีวัคซีนที่จัดหาและรับมอบแล้ว 3.6 ล้านโดส แต่ฉีดไปแล้ว 3 ล้านโดส และมีวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมอีก 2 ล้านโดส อยู่ระหว่างรับรองรุ่นการผลิต

 

  • ขณะที่วัคซีน AstraZenaca ที่ผลิตในประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งมอบได้เมื่อไร ในจำนวนเท่าใด จากเดิมที่เข้าใจกันว่าเดือนมิถุนายนนี้จะส่งมอบ 6 ล้านโดส และเดือนต่อไปอีก 10 ล้านโดสทุกเดือนจนครบ แต่อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลขนี้เป็นเพียงไกด์ไลน์ พร้อมระบุว่าในทุกๆ เดือน กรมควบคุมโรคกับ AstraZeneca ต้องไปประชุมวางแผนกันว่าควรจะได้จำนวนเท่าไร (สัมภาษณ์ 25 พฤษภาคม)

 

  • (26 พฤษภาคม) อนุทินให้สัมภาษณ์ไม่ยืนยันว่าวันดีเดย์ฉีดวัคซีน 7 มิถุนายนนี้ ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือไม่ แต่ได้ฉีดวัคซีนแน่นอน พร้อมบอกว่าอย่าเน้นยี่ห้อ 

 

  • อนุทินเลี่ยงการชี้แจงว่าวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง โดยระบุว่าคู่สัญญาคือบริษัท AstraZeneca ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์ 

 

  • (26 พฤษภาคม) วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวว่า สยามไบโอไซเอนซ์ส่งวัคซีน AstraZeneca มาตรวจสอบคุณภาพแล้ว ยืนยันกำหนดส่งเดือนมิถุนายนนี้ แต่ไม่ทราบว่าวันไหน

 

  • ความไม่แน่นอนของวัคซีน AstraZeneca สอดรับกับการที่ ศบค. ชะลอลงทะเบียนหมอพร้อม โดยระบุว่าเป็นการปรับแผนจัดสรรใหม่ จากการจัดสรรวัคซีนตามโควตาการลงทะเบียนในแต่ละจังหวัด เปลี่ยนเป็นใช้เกณฑ์การติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ สรุปคือเปลี่ยนจาก Base on Demand คือใครพร้อมฉีดมาลงทะเบียนก็จะได้รับวัคซีน เปลี่ยนเป็นพื้นที่ไหนสถานการณ์รุนแรงก็จะได้วัคซีน เป็นการสะท้อนว่าในช่วงเวลานี้รัฐบาลมีวัคซีนในมือไม่เพียงพอหรือไม่

 

  • ความไม่แน่นอนของวัคซีน AstraZeneca ยังมาพร้อมกับการปรับหลักเกณฑ์ระยะห่างของการฉีดวัคซีนใหม่ โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับวัคซีน AstraZeneca ได้มีการประกาศไป ‘ก่อนหน้านี้’ แล้วว่าสามารถรับเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 16 สัปดาห์ จากเดิม 10 สัปดาห์ แต่วันเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 หลังได้รับเข็มแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ระยะห่าง 10 สัปดาห์ ไม่ใช่ 16 สัปดาห์ตามข้อมูลของปลัด สธ. ที่ยืนยันว่าจะมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันดีกว่า

 

  • ที่สำคัญ การเว้นระยะห่างระหว่างเข็มของวัคซีน AstraZeneca นาน 16 สัปดาห์ก็ยังไม่มีหลักฐานรองรับมากนัก และกระทรวงสาธารณสุขยังไม่เคยแสดงข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนว่าการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มนานถึง 4 เดือน จะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงกว่า

 

  • อย่างไรก็ตาม หากมีการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มในวัคซีน AstraZeneca นาน 16 สัปดาห์จริง หมายความว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะมีการฉีดวัคซีน AstraZeneca นั้น เข็มที่ 1 เป็นเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นเข็มที่ 2 ก็จะไปฉีดเดือนตุลาคม ซึ่งโดยหลักการแล้วน่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน แต่ระหว่างที่รอฉีดเข็มที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพอาจลดลงได้

 

  • แหล่งข่าวใน สสจ. จังหวัดบางแห่ง เปิดเผยกับTHE STANDARD ว่า เริ่มมีการพูดคุยว่าหากวัคซีนเดือนมิถุนายนนี้ไม่มาตามนัดจริงๆ อาจจะต้องพิจารณาหาเหตุผลโทรศัพท์ไปเลื่อนคิวกับคนที่ลงทะเบียน เพราะในที่ประชุม สสจ. ยังไม่ได้รับความชัดเจนว่าจะมีวัคซีนส่งมาในเดือนมิถุยายนนี้หรือไม่

 

  • ความไม่แน่นอนของวัคซีนในมือรัฐบาล ทำให้เสียงเรียกร้องถามหาวัคซีนทางเลือกดังขึ้นอีกครั้ง ล่าสุดประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อนุญาตให้จัดหา นำเข้าวัคซีนได้ และจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 28 พฤษภาคม โดยจะเป็นการจัดหาวัคซีน Sinopharm ซึ่ง อย. อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน

 

  • การนำเข้าวัคซีน Sinopharm โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นที่น่าแปลกใจอย่างมาก เมื่ออนุทินในฐานะ รมว.สาธารณสุข และมีรายชื่อร่วมในงานแถลงข่าวกลับไม่ทราบเรื่อง โดยให้สัมภาษณ์เช้านี้ (27 พฤษภาคม) ว่า “ประกาศนี้ก็เพิ่งเห็นเมื่อคืน ต้องไปสอบถามก่อนว่าแปลว่าอะไร”

 

  • ส่วนวัคซีนทางเลือกยี่ห้อ Moderna ซึ่ง อย. ได้อนุมัติไปแล้วนั้น แหล่งข่าวจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชนบอกกับ THE STANDARD ว่า ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม ได้แต่คาดการณ์ว่าจะได้ประมาณเดือนตุลาคม ช่วงปลายไตรมาส 3 หรือ 4 ไปเลย ส่วนเรื่องราคาจะมีการกำหนดออกมาในวันอังคารหน้า (1 มิถุนายน)

 

  • ทั้งหมดคือวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งสถานการณ์การระบาด และการบริหารจัดการ วัคซีนที่เคยเชื่อว่ามีในมือแน่นอนก็เริ่มไม่แน่นอน วัคซีนทางเลือกก็ยังไม่ชัดเจน และความไม่แน่นอนของวัคซีนส่งผลลามไปเป็นลูกโซ่ไปถึงระบบการลงทะเบียน และความเชื่อมั่นของประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising