×

มรดกโลกแก่งกระจาน: การเมืองของคำศัพท์ แค่เลี่ยงบาลีไม่ใช้คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ก็ได้มรดกโลก

30.07.2021
  • LOADING...
มรดกโลกแก่งกระจาน

HIGHLIGHTS

  • ผมเข้าใจว่าหากรัฐมนตรีและกรรมการที่ประชุมมรดกโลกในวันนั้นคงมองว่า ถ้าใช้คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ (Indigenous Peoples) ก็จะเข้าไปสู่เงื่อนไขบางอย่างของ UN จึงพยายามเลี่ยงมาใช้คำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ แทน 
  • จริงหรือไม่ที่ชาวกะเหรี่ยงเพิ่งมาอยู่ในเขตแก่งกระจานเมื่อร้อยกว่าปี หรืออยู่มาหลังคนไทย ผมว่ามันไม่ใช่ประเด็นที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดในเรื่องสิทธิของความเป็นชนพื้นเมืองเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะประเด็นของมันอยู่ตรงที่เราตระหนักในสิทธิของพวกเขามากน้อยแค่ไหน
  • ประเด็นการอ้างสิทธิ หรือการปฏิเสธการมีอยู่ของ indigenous Peoples เป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนกลุ่มใหญ่กับชนกลุ่มเล็ก หรือคนมีอำนาจกับไร้อำนาจ ซึ่งเรื่องกะเหรี่ยงบางกลอยนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราเห็นปัญหาอะไรมากมายของสังคมและการเมืองไทย 

ผมรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ยินดีอะไรมากกับการที่ผืนป่าแก่งกระจานจะได้เป็นมรดกโลก ทั้งๆ ที่ต้นตระกูลผมก็เป็นคนทางเพชรบุรี เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ถ้าไม่ปิดหูปิดตาจนเกินไป หรือไม่เซนซิทีฟมากพอ หรือยึดคนไทยเป็นใหญ่ ก็คงเห็นแล้วว่ากะเหรี่ยงบางกลอยนั้นถูกกระทำอะไรมาบ้าง มีการเผาหมู่บ้านและอุ้มฆ่าอีก ซึ่งศาลได้พิจารณาไปแล้ว 

 

แก่งกระจาน

 

เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ล่าสุดของวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน GreenNews เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอบคุณลูกศิษย์คนหนึ่งที่ส่งมาให้ดู ยิ่งทำให้รู้สึกว่านอกจากจะไม่ปลาบปลื้มกับมรดกโลกนี้สักเท่าไรแล้ว แต่ยังทำให้เกิดคำถามต่อความคิดและการเมืองของการจงใจให้ความหมายของคำศัพท์ที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ ได้แก่ คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ (Indigenous Peoples) ‘ชนเผ่า’ และ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ซึ่งอำนาจของการนิยามนี้ที่นำผลไปสู่การกระทำอะไรต่อมิอะไรของรัฐ ซึ่งเราควรจะเรียนรู้ภาษาการเมืองกันเสียหน่อย  

 

ผมขออนุญาตยกบทสัมภาษณ์ของวราวุธบางตอนจาก GreenNews มาสักหน่อย วราวุธได้พูดว่า “ประเด็นแรกต้องบอกก่อนเลยว่าประเทศไทยเราไม่มี ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ คำว่า ‘Indigenous Peoples’ ประเทศไทยเราไม่มี เรามีแต่คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยเท่านั้น ต่างกับหลายๆ ประเทศที่มีชนเผ่าพื้นเมืองนะครับ เพราะว่าต้องอย่าสับสนกับหลายๆ องค์กรที่ใช้คำว่า ‘เผ่าพื้นเมือง’ บ้างอะไรบ้าง ประเทศไทยผมยืนยันว่าเราไม่มีนะครับ เมื่อหลายร้อยปีที่แล้วเราไม่มีชนเผ่า เราไม่มีอะไรทั้งนั้น แต่ปัจจุบันเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ …” 

 

ต้องกราบเรียนว่า เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงวิชาการของไทยและเทศ และสาธารณชนคนไทย (อาจมีบางคนที่ไม่รับรู้) ว่า ประเทศไทยนั้นมี ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ อย่างแน่ชัด ในบันทึกการเดินทางของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเอกสารราชการอีกมากมายในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-7 นั้นระบุชัดว่า คนในท้องถิ่นต่างๆ นั้นเป็น ‘พวกพื้นเมือง’ ‘ชาวพื้นเมือง’ หรือ ‘คนพื้นเมือง’ (เช่นปรากฏ การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ พ.ศ. 2555 หน้า 109, 116, 434) ดังนั้น คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ จะปฏิเสธการมีตัวตนของชนพื้นเมืองไม่ได้ และในสมัยหลังเอง เช่นในปี พ.ศ. 2550 ประเทศไทยได้โหวตยอมรับในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples (UNDRIP)) ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทางไทยจะปฏิเสธถึงการมีตัวตนอยู่ของชนพื้นเมืองและสิทธิของพวกเขาครับ (แต่ในเรื่องที่ว่าทำไมในปีนั้นจึงมีบางชาติที่โหวตไม่ยอมรับนั้นต้องมาคุยกันอีกที)

 

แก่งกระจาน

 

คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ หรือ ‘ชนพื้นเมืองดั้งเดิม’ (Indigenous Peoples) เริ่มใช้โดยชาวยุโรปเมื่อไปสำรวจหรือพิชิตดินแดนต่างๆ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้นิยามตัวเองในฐานะของผู้มาทีหลัง ส่วนกลุ่มชนที่อยู่ในดินแดนนั้นๆ ถือเป็นผู้ที่อยู่มาก่อน หรือเป็นคนดั้งเดิม จึงเรียกด้วยว่า ‘ชนพื้นเมืองดั้งเดิม’ คนไทยรู้จักคำนี้ดีผ่านคำว่า ‘Aboriginal Peoples’ ที่ใช้กันในออสเตรเลีย 

 

แต่ความหมายแบบนี้แคบไปไม่เข้ากับยุคปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้นนักวิชาการด้านกฎหมายชั้นนำ เช่น Stephen James Anaya จึงเสนอคำนิยามความหมายของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมว่าคือ กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนั้นมาก่อนการรุกคืบเข้าไปครอบครองผืนดินนั้นโดยคนกลุ่มอื่นที่มีอำนาจมากกว่า (ใน Indigenous Peoples in International Law หน้า 3) 

 

ขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมคือ กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แล้ววันหนึ่งถูกคนกลุ่มที่เข้ามาทีหลังขับไล่รุกราน ทำให้เกิดปัญหาหรือเสียสิทธิในเรื่องการเข้าถึงที่ดินดั้งเดิมที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยหรือเป็นของบรรพบุรุษมาก่อน ผมเข้าใจว่าวราวุธจะเข้าใจความหมายแบบในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้มองว่าในไทยนั้นไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งก็คงถูกในความหมายอย่างเก่า แต่ไม่น่าจะใช่ในความเข้าใจแบบปัจจุบัน 

 

มีเรื่องหนึ่งที่ควรต้องกล่าวถึงสักหน่อยคือคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ความจริงแล้ว เราไม่ควรแปลคำว่า ‘Indigenous Peoples’ ว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ เพราะไม่ตรงกับความหมายของรากภาษา คำว่า ‘Indigena’ นั้นแปลว่า ‘พื้นเมือง’ หรือ ‘ธรรมชาติ’ ส่วนคำว่า ‘-genus’ แปลว่า ‘เกิดจาก’ จึงควรแปลว่า ‘ชนพื้นเมือง’ หรือถ้าแปลแบบมาเลเซียก็คือ ‘ภูมิบุตร’ ซึ่งคำแปลนี้ของทางมาเลเซียนั้นมีพร้อมกับเรื่องของนโยบายด้วย จึงน่าสังเกตว่าทำไมไทยเราจึงเลี่ยงการยอมรับคำนี้ในครั้งนี้

 

แก่งกระจาน

 

มีอีกคำหนึ่งที่วราวุธได้พูดถึงคือคำว่า ‘ชนเผ่า’ ซึ่งบอกว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าแล้ว ก็เหมือนจะถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่คำนี้เป็นหนึ่งในคำที่ถกเถียงกันมากและต้องใช้ให้ถูกกับบริบท ในงานทางด้านมานุษยวิทยายุคหนึ่งคือหลังทศวรรษ 1970 มักจะพยายามหลีกเลี่ยงคำนี้ เพราะมันเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับการวัดระดับความเจริญของมนุษย์เป็นลำดับชั้นจากขั้นต่ำสุดคือ กลุ่มชน (Band) จากนั้นจึงพัฒนาขึ้นไปเป็นสังคมระดับชนเผ่า (Tribe) แว่นแคว้น (Chiefdom) และจุดสูงสุดคือ สังคมระดับรัฐ (State) ดังนั้น ในฐานะที่คนกลุ่มที่มีอำนาจระดับรัฐไปศึกษากลุ่มที่มีสังคมระดับชนเผ่ามันจึงเป็นการมองย้อนกลับไปหาสิ่งที่ด้อยกว่านั่นเอง ถ้าเราหลีกเลี่ยงที่จะใช้ในบริบทนี้นั้นก็นับว่าดีมาก เพื่อให้ประนีประนอมเรื่องคำนี้กันมากขึ้นหน่อย เพราะบางกรณีงานวิชาการก็เลี่ยงที่จะใช้คำนี้ไม่ได้ จึงอธิบายว่าคำว่าชนเผ่านั้นมีสถานะเพื่ออธิบายกลุ่มทางสังคมขนาดเล็กที่รวมกันอยู่ภายใต้วัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบเดียวกัน

 

แต่ในปัจจุบันนั้นโลกเปลี่ยนไปมาก ไม่มีชนเผ่าไหนที่หลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องและติดต่อกับสังคมระดับรัฐได้เหมือนเก่า เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้คำว่ากลุ่มชนที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘ชนเผ่า’ นั้นคือกลุ่มทางสังคมที่ต้องการการเอาใจใส่ เพราะตกอยู่ในฐานะที่มีอำนาจด้อยกว่า จึงควรที่จะต้องได้สิทธิ การคุ้มครองทางกฎหมาย และความปลอดภัย เนื่องจากไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งแล้ว คนพวกนี้ต่างอยู่ภายในรัฐ เสียภาษีไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และบางครั้งก็ต้องเกณฑ์ทหารด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงมีสิทธิในฐานะของพลเมืองที่จะดำรงอัตลักษณ์และสิทธิต่างๆ ของพวกเขาในฐานะชนเผ่า ซึ่งชนเผ่าพวกนี้ก็ล้วนแต่เป็น ‘ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม’ นั่นเอง 

 

เท่าที่ดูเอกสารและเว็บไซต์ขององค์กรว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและชนพื้นเมืองดั้งเดิมระดับสากล (เช่น IWGIA หรือ Amnesty) ในไทยมีกลุ่มคนที่ถูกจัดให้เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมหลายกลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ), ม้ง, ลีซู (ลีซอ), เมี่ยน (เย้า), อาข่า, ลาหู่, ลัวะ, ถิ่น และชาวเล (มอร์แกน อูลักลาโวย) เป็นต้น ความจริงมีอีกหลายกลุ่ม ในภาษาเก่าของไทยนั้นมักจัดให้คนตามลิสต์รายชื่อนี้เป็น ‘ชนเผ่า’ สมัยก่อนเลยมักเรียก ‘ชนเผ่ากะเหรี่ยง’ หรือ ‘ชนเผ่าม้ง’ เป็นต้น แต่ในช่วง 30 ปีหลังมานี้ ในไทยเราเริ่มใช้คำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ หรือ ‘ชาติพันธุ์’ แทนคำว่า ‘ชนเผ่า’ และ ‘ชนชาติ’ เริ่มต้นจากวงวิชาการและนักเคลื่อนไหวก่อน ก่อนจะแพร่หลายในวงการสื่อ ที่เห็นชัดเช่น Thai PBS 

 

คำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ นี้ผมขออ้างหนังสือของอานันท์ กาญจนพันธุ์ เรื่อง แนวความคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม พิมพ์ปี 2548 ซึ่งใช้เป็นตำราสอนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ระบุว่า ในภาษาไทยนั้น ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ มีความหมายเทียบเคียงได้กับคำว่า ‘ชนเผ่า’ (หน้า 226) เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงออกจะแปลกสักหน่อยว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่า แต่มีแต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 

 

โลกเราเพิ่งหันมาใช้คำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Group) อย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์โดยพวกนาซี ทำให้คำและความเชื่อเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ หรือ ‘ชนชาติ’ (Race) ได้นำไปสู่ปัญหา ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2495 ทำให้ UNESCO ประกาศว่าควรจะใช้คำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ สวมแทนที่คำว่า ‘เชื้อชาติ’ 

 

โดยคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้จะหมายถึงกลุ่มคนที่มีพื้นเพทางสังคมหรือประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และอัตลักษณ์ร่วมกัน คือให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมมากกว่าเชื้อชาตินั่นเอง 

 

แก่งกระจาน

 

ดังนั้น คนที่มีรูปร่างหน้าตาทางกายภาพเหมือนกันสามารถเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ได้ หากเขามีสำนึกและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมว่าตัวเองเป็นจีน เป็นไทย เป็นมอญ เป็นกะเหรี่ยง เป็นต้น และความเป็นชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งนั้นมันไม่ได้จำกัดว่าเราจะต้องมีเพียงชาติพันธุ์เดียว เพราะคนๆ หนึ่งอาจมี ‘ทวิอัตลักษณ์’ (Duel Identity) ก็ได้ ซึ่งแนวคิดเรื่องชาติพันธุ์นี้เป็นอะไรที่ซับซ้อนและถกเถียงกันในวงวิชาการมาก 

 

แต่เอาเป็นว่าแนวคิดนี้มีประโยชน์มาก ในแง่ที่มันช่วยทำให้เรามองคนในสังคมอยู่ในระนาบเดียวกันมากขึ้น เพราะคนไทยเองก็นับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้เช่นกัน (แต่ในแง่ความรู้สึกเวลาเราใช้คำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ มักจะไปนึกถึงกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเล็กๆ หรือชนเผ่า) ฟังดูเหมือนจะมีความเท่าเทียมกันระหว่างคนไทยกับไม่ไทย แต่ถึงคำนี้จะมีประโยชน์อย่างที่ว่า ทว่ามันก็กลับทำให้ความหมายของคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ถูกกลืนหายไปในบริบทของคำสัมภาษณ์ข้างต้น เพราะคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นมันไปผูกพันกับสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินที่พวกเขาอยู่อาศัยและอื่นๆ อีก การพยายามเลี่ยงคำดังกล่าวนี้ก็คือกลวิธีหนึ่งของการปฏิเสธสิทธิบางอย่างของพวกเขานั่นเอง 

แก่งกระจาน

 

ถามว่าสิทธิที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง ในเอกสารเรื่อง United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples (A/RES/61/295) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งผมขอสรุปความมาบางส่วน ได้ระบุว่า รัฐต่างๆ ต้องตระหนักรู้ เคารพต่อสิทธิ และช่วยเหลือชนพื้นเมืองในเรื่องของที่ดิน (Lands) เขตแดน (Territories) และทรัพยากรต่างๆ (Resources) อีกทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ความรู้ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณด้วย ด้วยการใช้กลไกทั้งในภาคการเมือง เศรษฐกิจ และโครงสร้างทางสังคม (หน้า 3-4) 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีการระบุด้วยว่า ชนพื้นเมืองมีสิทธิที่จะอยู่อาศัย มีอิสระ ได้รับความสงบสุข และปลอดภัยภายใต้การดูแลของรัฐ รวมถึงไม่มีสิทธิยึดและขับไล่ชนพื้นเมืองออกจากที่ดินของพวกเขา อาณาเขต และทรัพยากร (หน้า 9-10) 

 

ดังนั้น ผมเข้าใจว่าหากรัฐมนตรีและกรรมการที่ประชุมมรดกโลกในวันนั้นคงมองว่า ถ้าใช้คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ (Indigenous Peoples) ก็จะเข้าไปสู่เงื่อนไขบางอย่างของ UN จึงพยายามเลี่ยงมาใช้คำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ แทนนั่นเอง 

 

และในคำให้สัมภาษณ์ถัดไปจากท่อนที่ผมยกมาในตอนต้นนั้น วราวุธได้กล่าวอีกว่า “แต่อย่างประเทศไทยเราคือมีคนไทยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งนานแล้ว แต่เมื่อมีกะเหรี่ยงหรือชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาก็ถือเป็น Local คือเป็น Ethnic Minority ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมันจะต่างกับคำว่า Indigenous Peoples” และ “Indigenous Peoples คืออยู่มาตั้งนานก่อนประเทศไทยจะเป็นสยามอีก ซึ่งบริเวณที่แก่งกระจานดังกล่าวนั้น ก่อนหน้านี้สักร้อยสองร้อยปีก่อนไม่มีคนอยู่นะครับ บริเวณตรงนั้น ฉะนั้นก็จะไม่ถือนะครับว่าเป็น Indigenous Peoples” 

 

จริงหรือไม่ที่ชาวกะเหรี่ยงเพิ่งมาอยู่ในเขตแก่งกระจานเมื่อร้อยกว่าปี หรืออยู่มาหลังคนไทย ผมว่ามันไม่ใช่ประเด็นที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดในเรื่องสิทธิของความเป็นชนพื้นเมืองเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะประเด็นของมันอยู่ตรงที่เราตระหนักในสิทธิของพวกเขามากน้อยแค่ไหน บางคนอาจมองว่า ในเมื่อคนไทยเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิมากกว่ากะเหรี่ยง เรื่องนี้ก็เหมือนกับไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เพราะในข้อเท็จจริงทั้งเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็มีคนกลุ่มอื่นอยู่มาก่อนไทย เช่น ลัวะ (ละว้า), มอญ, เขมร ถ้าคนพวกนี้อ้างสิทธิของการมาอยู่ก่อน ทำไมจึงไม่สามารถอ้างได้ 

 

ดังนั้น ประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิ หรือการปฏิเสธการมีอยู่ของ Indigenous Peoples มันจึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนกลุ่มใหญ่กับชนกลุ่มเล็ก หรือคนมีอำนาจกับไร้อำนาจ ซึ่งเรื่องกะเหรี่ยงบางกลอยนี้จึงสะท้อนให้เห็นเราเห็นปัญหาอะไรมากมายของสังคมและการเมืองไทย 

 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการเมืองของการใช้คำที่ส่งผลในทางปฏิบัติต่อกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผมชื่นชมประเทศนอร์เวย์ไม่เห็นด้วยกับมรดกโลกแก่งกระจานนี้ ผมไม่แน่ใจว่าการที่รัฐแยกคนออกจากป่าเพียงเพื่อหวังให้ได้ป่าบริสุทธิ์สักผืนหนึ่งขึ้นเป็นมรดกโลกนั้น มันคุ้มค่ากันไหมกับการดึงจิตวิญญาณที่อยู่คู่กับผืนป่ามาไม่รู้กี่ร้อยปีออกไป หรือเราตกอยู่ในกับดักของวิธีแยกคนออกจากป่าตามแนวทางการอนุรักษ์ป่าแบบเก่ามากจนเกินไปหรือไม่ ยังไม่ต้องรีบตอบตอนนี้ เพราะบางเรื่องอาจต้องให้เวลาผ่านไปอีกหลายสิบปีแล้วมองทบทวนกลับมาครับ  

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising