×

‘ไบเดน’ พบ ‘พาวเวลล์’ ถกเครียดเรื่องเงินเฟ้อ หวังเร่งจัดการกู้วิกฤต พลิกเศรษฐกิจฟื้น

01.06.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

การประชุมระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กับ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (31 พฤษภาคม) เพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี มีขึ้นท่ามกลางการจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งความพยายามครั้งสำคัญของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนในการกู้วิกฤตความเชื่อมั่น ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

 

ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า การพบปะครั้งนี้มีขึ้นเพื่อหารือในประเด็นที่ตนเองให้ความสำคัญสูงสุด นั่นคือการหาแนวทางจัดการเงินเฟ้อ เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถก้าวจากภาวะฟื้นตัว ไปสู่ภาวะการเติบโตได้อย่างมีเสถียรภพ

 

นอกจากพาวเวลล์แล้ว เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยังเข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้ย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า การพูดคุยมุ่งเน้นเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก และรัฐบาลไม่มีเจตนาจะก้าวก่ายอิสระในการทำงานของ Fed แต่อย่างใด และกล่าวว่าตนเองยังคงเคารพในเสรีของ Fed อยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง

 

การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่พาวเวลล์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธาน Fed เป็นสมัยที่ 2 ซึ่งนอกจากหารือเรื่องประเด็นหลักอย่างเงินเฟ้อแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็มีการพูดคุยในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจทั่วไปของสหรัฐฯ ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

 

ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งแตะเกิน 8% ถือเป็นเงามืดสั่นคลอนอำนาจการบริหารของประธานาธิบดีไบเดน ที่ตั้งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้แข็งแกร่งขึ้นหลังเผชิญกับปัญหาการเติบโต เพราะการระบาดของไวรัสโควิด

 

แม้ภาพรวมตัวเลขการจ้างงานจะทยอยฟื้นกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนเกิดไวรัสโควิดระบาด และเศรษฐกิจโดยรวมยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ แต่ราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและน้ำมัน ที่พากันปรับขึ้นกันอย่างดุเดือด กำลังผลักดันให้ชาวอเมริกันทั้งหลายไม่พอใจเพิ่มขึ้น

 

เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ Fed ได้เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว พร้อมให้คำมั่นที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือไม่เกิน 2% โดย Fed ระบุว่าอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง เพื่อทำให้เศรษฐกิจลดความร้อนแรงลง แม้ว่าผลลัพธ์ของการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม

 

นอกเหนือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า ประเด็นเงินเฟ้อยังเป็นปมร้อนแรงในเวทีการเมืองของสหรัฐฯ โดยจากการสำรวจโดย Pew Research Center เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นประเด็นที่คนอเมริกันกังวลมากที่สุด คือมากถึง 70% รองลงมาคือปัญหาอาชญากรรมและอาวุธปืนที่ 54%

 

นักวิเคราะห์มองว่าประธานาธิบดีไบเดนกำลังพยายามดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อผู้บริโภคชาวอเมริกันก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งคาดว่าพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มจะสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรครีพับลิกัน

 

ทั้งนี้คะแนนการเห็นชอบในการทำงานและนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนอยู่ในช่วง 40% ซึ่งสะท้อนได้ว่าผู้นำสหรัฐฯ ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากชาวอเมริกันเกี่ยวกับความสามารถในการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว

 

ในส่วนของสถานการณ์เงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ทาง The Conference Board สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศประจำเดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวลดลงเหลือ 106.4 จากระดับ 108.6 ในเดือนเมษายน ซึ่งค่าที่ลดลงนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของชาวอเมริกันที่มีต่อสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และอนาคตของตนเองว่าค่อนข้างมืดมน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความวิตกกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี

 

ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นมาตรวัดประเมินความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ธุรกิจและการจ้างงาน ก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน จาก 152.9 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ 149.6 ในเดือนพฤษภาคม

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะในด้านรายได้ ภาคธุรกิจ และตลาดแรงงาน ประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน จาก 79 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ 77.5 ในเดือนพฤษภาคม

 

ทั้งนี้ทาง The Conference Board ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันได้รับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโดยรวมแล้วชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังมีมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านลบมากกว่าด้านบวก

 

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีขึ้นเพียงไม่นานก่อนหน้าที่ไบเดนจะพบปะหารือกับพาวเวลล์ที่ทำเนียบขาว โดยมีประเด็นหารือหลักก็คือเรื่องการจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อมูลค่ารายได้ที่ลดลงของชาวอเมริกันทั่วประเทศ

 

ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวอเมริกันยังปรับลดความหวังที่มีต่อตลาดแรงงานลงเล็กน้อย แม้ว่านายจ้างในสหรัฐฯ จะเพิ่มงานอย่างน้อย 400,000 ตำแหน่งเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 3.6% ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดเมื่อ 2 ปีก่อน และสูงกว่าระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีที่เคยทำไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้วเช่นกันที่ 3.5 %

 

รายงานของ The Conference Board ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อสูงทำให้การซื้อสิ่งของที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ บ้าน และเครื่องใช้ที่สำคัญ ทั้งหมดปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยต้นทุนที่สูงขึ้นยังคงเป็นปัญหากังวลสูงสุดสำหรับผู้บริโภค จนต้องจำกัดการใช้จ่ายให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็น เพื่อรับมือกับภาวะของแพง

 

ลินน์ ฟรังโก ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ (The Conference Board’s Senior Director of Economic Indicators) ของ The Conference Board ระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้า สิ่งที่คาดการณ์ได้ก็คือราคาข้าวของที่พุ่งสูงขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม จะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านลบอย่างต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปีนี้

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising