×

ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 1.3 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์ ตามด้วยสิงคโปร์ เผยยอดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดรอบ 10 ปี

23.01.2024
  • LOADING...

ต่างชาติขนเงินลงทุนเข้าไทยปี 2566 แตะ 1.3 แสนล้านบาท นักลงทุนญี่ปุ่นครองแชมป์ ขณะที่ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ทะลุ 8.5 หมื่นราย ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.6 แสนล้านบาท กรมพัฒนาธุรกิจการค้าประเมินปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังโต ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงคู่ค้าจีน ภูมิรัฐศาสตร์อาจฉุดรั้ง GDP ไทย

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า DBD DataWarehouse ซึ่งเป็นข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วิเคราะห์และประมวลผลภาพรวมการลงทุนของคนไทยและชาวต่างชาติตลอดปี 2566 ว่า ปีที่ผ่านมานักลงทุนและต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนไทยจัดตั้งธุรกิจใหม่ 8.5 หมื่นราย ซึ่งเป็นยอดการจัดตั้งธุรกิจสูงสุดในรอบ 10 ปี (2557-2566) ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.6 แสนล้านบาท  

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดย 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่

 

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 
  • ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 
  • ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 

 

ขณะที่ชาวต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าไทย ภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยม ได้แก่

 

  • บริการรับจ้างผลิต 
  • บริการด้านคอมพิวเตอร์ 
  • บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และบริหารจัดการ 

 

โดยประเทศที่ลงทุนในไทยมากสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น ครองแชมป์อันดับ 1 ทั้งจำนวนนักลงทุน 137 ราย (20.5%) และเงินที่นำเข้ามาลงทุนรวม 32,148 ล้านบาท (25.2%) อันดับที่ 2 สิงคโปร์ นักลงทุน 102 ราย (15.3%) ทุน 25,405 ล้านบาท (19.9%)

 

อรมนกล่าวอีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศในสายตานักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน ทำให้เกิดความมั่นใจและพร้อมลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

 

สรุปภาพรวมจดทะเบียนธุรกิจปีที่ผ่านมา

 

ปี 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ถึง 12% ซึ่งจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นไปตามการคาดการณ์การจดทะเบียนฯ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ 82,000-85,000 ราย ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นจากปี 2565 บวกกับปัจจัยส่วนหนึ่งที่กระตุ้นในด้านต่างๆ จากรัฐบาล ทั้งโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) ที่กลับมาเดินหน้าก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจากล่าช้าช่วงสถานการณ์โควิด และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวมของปี 2566    

 

ขณะเดียวกันการเลิกประกอบกิจการถือว่าเป็นแนวโน้มปกติ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเลิกประกอบกิจการกับการจัดตั้งธุรกิจพบว่า เลิกกิจการคิดเป็น 27.41% ของการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 28.61% และอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2561-2565) ซึ่งอยู่ที่ 29.75% ประกอบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการในปี 2566 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2565 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การเลิกประกอบกิจการยังคงเป็นปกติ และการจัดตั้งธุรกิจยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปี 2565

 

มองมาตรการ Easy e-Receipt แก้หนี้นอกระบบ ปลุกฟื้นเศรษฐกิจ

 

ปี 2567 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3.7% และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 2.7% สอดคล้องกับกระทรวงการคลังที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุนของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง

 

รวมทั้งมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการ e-Refund, มาตรการลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt), มาตรการแก้หนี้นอกระบบ และนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะช่วยสร้างกระแสหรือความนิยมและมูลค่าเพิ่ม 

 

จับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก เศรษฐกิจจีนชะลอ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบหรือความเสี่ยงที่ควรจับตามองซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในปี 2567 ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่อาจส่งผลต่อการค้าและการลงทุนโลก, ความผันผวนของตลาดการเงินโลก, สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อสถานการณ์แล้งและต้นทุนราคาอาหาร นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนสูง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในปี 2567 ได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising