×

สมรภูมิทะเลแดงป่วนค้าโลก! จับตาราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และอาหาร หลังต้นทุนขนส่งพุ่ง 4 เท่า

22.01.2024
  • LOADING...

สถานการณ์ความขัดแย้งวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทะเลแดง (Red Sea) ยังคงไม่มีท่าทีจะยุติลงง่ายๆ เริ่มกระทบไปยังสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งซีอีโอ Maersk เรือยักษ์ใหญ่ ยอมรับว่า การขนส่งทางเรือทั่วโลกอาจชะงักไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน 

 

ล่าสุดวันนี้ (22 มกราคม) กลายเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์สำคัญสำหรับตลาดน้ำมันดิบ ถึงผลกระทบซัพพลายและราคาน้ำมันที่ต้องเตรียมความพร้อมจากฝีมือของกลุ่มกบฏฮูตีที่โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อตอบโต้กรณีอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา หลังจากที่สัปดาห์ที่ผ่านมาบรรดาเจ้าของเรือหลายลำ โดยเฉพาะเส้นทางเอเชีย-ยุโรปที่ขนสินค้าเกษตรและอาหารเลือกที่จะเลี่ยงทะเลแดง เพราะในขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบวงกว้าง 

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาบรรดาสายเดินเรือสินค้าเกษตรและอาหารเปลี่ยนแผนไปใช้เส้นทางอ้อมทะเลแดง ซึ่งแน่นอนว่าการขนส่งที่นานขึ้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาหารเน่าเสียง่าย ไม่สามารถขายได้ ส่งผลให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารต่างต้องประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มงวด 

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกชาวอิตาลีที่กังวลว่ากีวี ผลไม้ และกาแฟ จะเน่าเสีย รวมไปถึงผู้ให้บริการขนส่งสัตว์ที่มุ่งหน้าไปยังตะวันออกกลางต่างเปลี่ยนเส้นทาง จึงคาดการณ์ว่า การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเส้นทางเอเชีย-สหภาพยุโรปได้รับความเสียหายไปแล้วเกือบ 7 หมื่นล้านยูโร โดยมีไทยรวมอยู่ด้วย 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  


 

 

คาดการณ์ผลกระทบการค้าสินค้านำเข้าและส่งออกเส้นทางเอเชีย-ยุโรปจากวิกฤตทะเลแดง

(หน่วย: พันล้านยูโร)

 

นิติน อากราวัล กรรมการผู้จัดการของ Euro Fruits ซึ่งเป็นผู้ส่งออกองุ่นรายใหญ่ของอินเดีย กล่าวว่า ปกติแล้วบริษัทจัดส่งองุ่นสดไปยังยุโรปผ่านทางทะเลแดง แต่ต้องปรับใช้เส้นทางอื่นซึ่งในเวลานาน ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 4 เท่า ใช้เวลานานขึ้น 2 เท่า

 

นอกจากนี้ผู้ส่งออกชาวอิตาลี ซึ่งส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไปยังเอเชียมูลค่าประมาณ 4.4 พันล้านดอลลาร์ กังวลว่า การเดินทางไปทั่วแอฟริกาจะส่งผลเสียต่อความสดและเพิ่มต้นทุนสำหรับผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล กีวี และส้ม รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังปลายทางยุโรป เช่น เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์นม และไวน์ เป็นต้น ขณะเดียวกันการนำเข้าชา เครื่องเทศ และสัตว์ปีก ต่างล่าช้าออกไปและล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมด

 

วิกฤตเริ่มขยายวงกว้าง

 

CELCAA ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ค้าอาหารเกษตร ระบุว่า เรือที่บรรทุกเมล็ดพืชประมาณ 1.6 ล้านตัน รวมไปถึง Mercanta ผู้นำเข้ากาแฟในสหราชอาณาจักร ได้ระงับการขนส่งสินค้าในแอฟริกาตะวันออก เช่น ยูกันดาและเวียดนาม เป็นประเทศหลักที่นำเข้ากาแฟยุโรป มุ่งหน้าไปยังคลองสุเอซ ต่างก็เปลี่ยนเส้นทางไปยังเส้นทางอื่นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข่าวกรองเคปเลอร์ระบุว่า ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผลที่ส่งไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ทั้งนี้ วินเซนต์ เคลิร์ก ซีอีโอของ Maersk ระบุว่า การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงอาจกินเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน

 

ห่วงโลกรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ผู้บริหารธนาคารหลายรายยังแสดงความกังวลว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการลดอัตราดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น

 

ซึ่งบริษัทขนส่งได้เพิ่มราคาเป็น 3 เท่าในการคิดค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากเอเชียไปยังยุโรป ส่วนหนึ่งเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเดินเรือทั่วแอฟริกาสำหรับเจ้าของเรือที่ยังคงใช้ทะเลแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมัน ต้องเผชิญกับเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น

 

ผู้ค้าปลีกอย่าง IKEA เตือนว่า การหลีกเลี่ยงคลองสุเอซอาจทำให้สินค้าล่าช้าออกไปอีก และขณะนี้โรงงานรถยนต์บางแห่งในยุโรปต้องระงับการดำเนินงานชั่วคราวขณะรอชิ้นส่วนประกอบจากเอเชีย

 

อย่างไรก็ตาม JPMorgan ประเมินว่า หากเหตุการณ์ยืดเยื้อ ราคาสินค้าและการบริโภคทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 0.7% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้  

 

จับตาสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก 

 

รายงานระบุว่า วันนี้ (22 มกราคม) บรรดาผู้ขนส่งน้ำมันจำนวนมากยอมตัดใจ เมินสัญญาเช่าเรือเดิม และเร่งหาเช่าเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อขนส่งน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงอื่นๆ สำหรับเส้นทางที่จะหลีกเลี่ยงเขตอันตรายอย่างทะเลแดง ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น จนเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง 

 

โดยการขนส่งสินค้าทางเรือแทบทั้งหมดจะเป็นการทำสัญญาระยะยาวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน 

 

อเล็กซานเดอร์ เซเวอรีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Euronav ซึ่งเป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันมากกว่า 5 หมื่นล้านบาร์เรล ระบุว่า เจ้าของเรือจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างก็หาทางเลี่ยงทะเลแดง หลังสถานการณ์ดังกล่าวจากที่ดูเหมือนจะสามารถยุติลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น กลับมีแนวโน้มลากยาวกินเวลาร่วมหลายเดือน 

 

ขณะนี้มีรายงานว่า มีการจ้างเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อขนส่งสินค้าเชื้อเพลิงให้แล่นไปยังเอเชียแทนยุโรป ทำให้มีต้นทุนขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการจองเรือขนส่งน้ำมันดิบของอิรักหลายลำโดยใช้เรือบรรทุกน้ำมัน ซึ่งจะเดินทางอ้อมหลายพันกิโลเมตรไปทางฝั่งแอฟริกา

 

อานิสงส์เจ้าของเรือบรรทุกน้ำมัน 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแต่ ทอร์ม เจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันชาว เดนมาร์ก กล่าวว่า การเดินทางไปยังเอเชียมากขึ้นเพื่อขนส่งเชื้อเพลิงกลั่น ช่วยผลักดันรายได้ของเรือบรรทุกน้ำมันจาก 35,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เป็น 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ขณะที่เรือ Suezmax ซึ่งสามารถแล่นเต็มลำคลองที่เชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป มีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 50% หรือเกือบ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

 

นอกจากนี้แม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ไหลจากอ่าวเปอร์เซียไปยังยุโรปจะพบได้น้อยกว่าที่ไหลเข้าสู่เอเชีย แต่แนวโน้มเส้นทางการขนส่งดังกล่าวยังคงเผยให้เห็นทัศนคติของเจ้าของเรือที่มีต่อการขนส่งผ่านทะเลแดง โดยเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มฮูตีหลายครั้ง ได้เปลี่ยนเส้นทางไปแล้วส่วนใหญ่ก่อนการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร 

 

ค่าระวางเรือเอเชีย-ยุโรปพุ่ง 4 เท่า

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทยเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะการขนส่งสินค้าของไทยได้รับผลกระทบแล้ว โดยเฉพาะสินค้าที่ขนส่งระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป 

  

ซึ่งเผชิญอัตราค่าระวางเรือและค่าเบี้ยประกันความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,000-5,000 ดอลลาร์ เทียบอัตราเดิมสูงขึ้นถึง 4 เท่า และการเดินทางที่ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 14 วัน 

 

โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปยุโรป ได้แก่ กลุ่มคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมณี จักรยานยนต์ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลเกษตร ส่วนสินค้านำเข้าจากยุโรป ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ แผงวงจร รวมทั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ล้วนได้รับผลกระทบจากค่าโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น  

 

ขณะที่ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องและตลาดแรงงานอ่อนแอลง อีกทั้งยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้าน โดยในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่กว่า 60 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% ของโลก 

 

“การค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกเผชิญความเสี่ยงใหม่จากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในบริเวณทะเลแดงและปัญหาน้ำแล้งในคลองปานามา ก่อให้เกิดความแออัดในการขนส่งทางเรือหรือต้องปรับเส้นทางเดินเรือ ทำให้ระยะเวลาการเดินทางและต้นทุนขนส่งสูงขึ้น” 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising