×

‘Impact Investing’ กับการลงทุนแบบ Responsible Investment

20.08.2021
  • LOADING...
Impact Investing

บทความตอนนี้จะให้ข้อมูลจากการสืบค้นคำว่า ‘Impact Investing’ หรือการลงทุนที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นอีกความหมายของ ‘Responsible Investment’ หรือการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบ


ความหมายและความเป็นมา

จากข้อมูลใน Wikipedia สรุปไว้ว่า Impact Investing คือการลงทุนในบริษัท หรือกองทุนรวมที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบที่ดีและวัดได้ที่มีต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม โดยยังก่อให้เกิดผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุนได้ด้วย นักลงทุนสไตล์นี้ถูกเรียกว่า ‘Impact Investors’ จะคอยค้นหาบริษัทหรือองค์กรที่สามารถดำเนินธุรกิจที่สร้างผลลัพธ์ชัดเจนว่าทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น หรือดำเนินธุรกิจที่แก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน หรือธุรกิจเกษตรแบบยั่งยืน เป็นต้น รูปแบบผลิตภัณฑ์การลงทุนอาจเป็น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ กองทุนรวม ซึ่งเมื่อรวมกลุ่มกันอาจถูกเรียกว่า ESG Products ที่ปัจจุบันกลายมาเป็น Asset Class ที่มีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ข้อมูลจาก Impact Investing โดย Thomas Walker, Stefanie D.Kibsey และ  Stephanie Lee ใน Sustainable Investing: Revolutions in Theory and Practice (2017) ให้ความรู้ว่า คำศัพท์ ‘Impact Investing’ เริ่มต้นขึ้นราวๆ ปี 2007 โดย Rockefeller Foundation ถัดจากนั้นก็เกิดกระแสการลงทุนในแนวทางนี้มากขึ้น จนมีพลังของนักลงทุนสไตล์นี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้กดดันให้บริษัทต่างๆเห็นว่ามีนักลงทุนอีกไม่น้อยที่ต้องการเห็นบริษัทต่างๆ พัฒนาแบบจำลองธุรกิจให้มีลักษณะ Sustainable Business Model ในตลาดทุนเองก็มีพัฒนาการจนเกิดผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในชื่อ Social Impact Bonds, Green Stocks ในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น Sustainable Agriculture, Renewable Energy และ Healthcare เป็นต้น

 

สหราชอาณาจักร (UK) ถือว่าเป็นผู้นำในเรื่อง Impact Investing โดยได้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเรื่องนี้ เช่น การออก Impact Bonds เป็นประเทศแรกๆ รวมทั้งการออกมาตรการลดภาษี 30% ถ้ามีการลงทุนในด้าน Social Investments บนความเชื่อที่ว่าปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนาน่าจะมีมากกว่าในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า 75% ของการลงทุนใน Impact Investment มาจากกลุ่มประเทศในอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย หากเงินทุนที่ไหลไปเป็นการลงทุนสำหรับแก้ไขปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา สิ่งนี้จะมีความหมายมาก เป็นสัญญาณที่ดีต่อโลกของเรา

 

ในมิติของนักลงทุนสถาบันที่เป็นต้นแบบ มีการกล่าวขวัญถึง Impax Asset Management Group ของสหราชอาณาจักร และ Triodos Investment Management ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่อมามีบริษัทจัดการลงทุน และกองทุนรวมในแนวนี้เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง ในด้านของธุรกิจก็มีการพัฒนาการเกิดธุรกิจที่มีความเข้มข้นในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่แตกต่างจากรูปแบบเดิม เช่น การเกิดบริษัทที่บอกว่าตนเองเป็น Benefit Corporation, Low-profit Limited Liability Company (L3C), Community Interest Company และ Social Enterprise เป็นต้น

 

องค์ประกอบสำคัญของ Impact Investing

ข้อมูลจาก thegiin.org สรุปองค์ประกอบสำคัญของ Impact Investing ไว้ดังนี้


1. ความตั้งใจ (Intentionality) การลงทุนในแนว Impact Investing นักลงทุนที่นำเงินมาลงทุนจะมีความตั้งใจว่าอยากเห็นเงินที่ไหลไปยังกิจการที่ทำธุรกิจแล้วก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

 

2. ความคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน (Investment With Return Expectations) นักลงทุนสไตล์นี้ก็ยังคงคาดหวังอัตราผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน

 

3. ช่วงของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังตามประเภทของสินทรัพย์ (Range of Return Expectations and Asset Class) กลุ่มสินทรัพย์ลงทุนแบบ Impact Investing มีหลายประเภท เช่น ตารสารหนี้ ตราสารทุน การลงทุนแบบ Venture Capital หรือ Private Equity เป็นต้น ซึ่งในแต่ละประเภทจะมีลักษณะของความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างๆ กัน

 

4. การวัดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Impact Measurement) ประเด็นสำคัญของการลงทุนสไตล์นี้ก็คือ ต้องทราบวิธีวัดและการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมว่าดีขึ้นอย่างไร ข้อมูลดังกล่าวนอกจากใช้ประเมินความสำเร็จของการใช้เงินทุนของผู้ระดมทุนแล้วยังสะท้อนถึงความโปร่งใส และความรับผิดชอบซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจด้วย ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จึงควรทราบกระบวนการที่ประกอบไปด้วย การกำหนดวัตถุประสงค์ด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมในโครงการลงทุน การกำหนดเป้าหมาย ผลลัพธ์การดำเนินงานและตัวชี้วัดการติดตามและบริหารจัดการ และการรายงาน

 

ตัวอย่างโครงการลงทุนแบบ Impact Investing

ข้อมูลจาก thegiin.org ได้ยกตัวอย่างการจับคู่ระหว่างนักลงทุนสถาบัน (Investor) และผู้ระดมทุน (Investee) หรือธุรกิจไว้หลายตัวอย่าง ในที่นี้จะยกมาเป็นบางตัวอย่าง ดังนี้

 

1. Root Capital (Investor) และ The Savannah Fruits (Investee)

เป็นตัวอย่างโครงการลงทุนแบบ Impact Investing ในธุรกิจด้านการเกษตรในแอฟริกา โดยให้เงินกู้ ขนาดการระดมทุน 230,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.9 ล้านบาท) Root Capital เป็นนักลงทุนที่มีลักษณะเป็นกองทุนที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด (Nonprofit) และมุ่งลงทุนเพื่อพัฒนาสังคม (Social Investment Fund) โดยเฉพาะในชนบท เพื่อสนับสนุนธุรกิจเกษตรขนาดกลางและขนาดย่อมในเขต Latin America และ Sub-Saharan Africa

สำหรับ The Savannah Fruits Company เป็นธุรกิจการเกษตรอยู่ในประเทศกานา ทวีปแอฟริกา ซึ่งมีลักษณะธุรกิจดังนี้

Savannah เป็นธุรกิจรับซื้อ Organic-Certified Shea Nuts จากชาวบ้านผู้หญิงยากจนในกานาประมาณ 1,500 คน ซึ่งเดิมปลูกและรวบรวม Shea Nuts ซึ่งหาตลาดได้ไม่สม่ำเสมอและถูกกดราคา Savannah ได้พัฒนา Business Model โดยการพัฒนากลุ่มแม่บ้านอีก 2,000 คน ให้นำผลผลิต Shea Nuts มาแปรรูปเบื้องต้นโดยคั้นให้เป็น Butter แล้วขายให้ Savannah ซึ่งให้ราคาดีกว่า แล้ว Savannah ส่ง Bulter นี้ขายไปยังโรงงานผลิตเครื่องสำอางในยุโรป ซึ่งมีความต้องการ Butter จาก Shea Nuts สูงมาก แบบจำลองธุรกิจนี้จึงถือว่าเป็นประโยน์มากต่อกลุ่มแม่บ้านยากจนในประเทศกานา และ Savannah เองก็ได้กำไรจากโครงการนี้ไม่มากนัก แต่ก็ยังสามารถชำระหนี้เงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้

 

2. Esmee Fairbairn (Investor) และ Bridges Social Entrepreneurs Fund (Investee)

เป็นตัวอย่างของโครงการลงทุนด้านสังคม โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินในลักษณะหุ้นสามัญ ขนาดการลงทุน 750,000 ปอนด์ บนพื้นที่ยุโรปตะวันตก เป็นโครงการที่ Esmee Fairbairn Foundation( Esmee) เป็นผู้ให้เงินทุน Esmee เป็นมูลนิธิที่ทำงานโดยมุ่งช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตในสหราชอาณาจักร (UK) ส่วน Bridges Social Entrepreneurs Fund (Bridges) เป็นกองทุนที่มุ่งสนับสนุนเงินทุนให้แก่ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Social Enterprise ซึ่งมักต้องการการเติบโต แต่ขาดแคลนเงินทุน

ตัวอย่างนี้เกิดในปี 2009 เมื่อ Bridges มีเป้าหมายอยากช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ Social Enterprise ที่อยู่ในขั้น Growth Stage ใน UK โดยกำหนดว่ายังต้องการอัตราผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับการลงทุน Bridges ต้องการระดมทุนขนาด 1.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า Flexible Investment Structure เช่น Quasi-equity หรือ Debt ก็ได้  เพื่อใช้ในการนี้และเสนอขอเงินทุนต่อ Esmee

Esmee นำเสนอรูปแบบการลงทุน 750,000 ปอนด์ เป็นหุ้นสามัญของ Bridges ในลักษณะที่เรียกว่า Equity: Partnership Share in a Limited Partnership โดยมีระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป (ซึ่ง Bridges สามารถซื้อคืนได้) และเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปที่สนใจเข้าซื้อหุ้นสามัญของ Bridges ในลักษณะนี้ได้เพื่อระดมทุนในส่วนที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ Bridges สามารถนำเงินทุนนี้ไปสนับสนุน Social Enterprises แบบที่ต้องการได้ ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า  Bridges จะต้องสรุปรายงานผลการดำเนินงาน และการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมต่อนักลงทุนที่ถือหุ้นให้ทราบเป็นระยะด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising