×

โอหัง คลั่งอำนาจ รู้จัก Hubris Syndrome อาการยอดฮิตของผู้นำประเทศ

01.03.2019
  • LOADING...
Hubris Syndrome

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เดวิด โอเวน (David Owen) นักการเมืองรุ่นเก๋าชาวอังกฤษ แพทย์ และนักวิชาการที่ศึกษาด้านจิตวิทยาเรียกอาการ ‘โอหัง’ เมื่อเกิดความ ‘บ้าอำนาจ’ ขึ้นมาว่าเป็น ‘โรค’ อย่างหนึ่ง คือ Hubris Syndrome ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็อาจแปลได้ง่ายๆ ว่า ‘โรคโอหัง’
  • โอเวนระบุอาการทางคลินิก (Clinical Features) ของโรคโอหังเอาไว้ 14 ประการด้วยกัน เช่น ชอบเหยียดหยามคนอื่นว่าโง่กว่าตัวเอง สูญเสียความสามารถในการมองเห็นความเป็นจริง ขยันทำงานไม่หยุดหย่อน แต่ผลงานที่ออกมาไร้ประสิทธิภาพและสมรรถภาพ ฯลฯ
  • ลักษณะสำคัญของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจ คือมักจะหุนหันพลันแล่นมากขึ้น ตระหนักถึง ‘ความเสี่ยง’ ต่างๆ น้อยลง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะมีความสามารถในการมองโลกจากมุมมองของคนอื่นๆ น้อยลงอย่างมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก และเข้าใจคนอื่นน้อยลง

​นักประวัติศาสตร์การแพทย์ที่ศึกษาเรื่อง ‘ความบ้า’ (Madness) อย่าง รอย พอร์เตอร์ (Roy Porter) เคยเขียนเอาไว้ใน A Social History of Madness ว่า

 

ประวัติศาสตร์ของความบ้า ก็คือประวัติศาสตร์ของอำนาจ เพราะเมื่อจินตนาการถึงอำนาจขึ้นมาแล้ว ความบ้าก็เป็นได้ทั้งไร้สมรรถภาพใดๆ โดยสิ้นเชิง หรือไม่ก็อาจทรงพลังครอบจักรวาลได้ เราต้องใช้อำนาจเพื่อควบคุมความบ้า ความบ้านั้นคุกคามโครงสร้างอำนาจแบบปกติ ความบ้าคือการพล่ามพูดไม่หยุดหย่อนอย่างไร้ที่สิ้นสุด บ่อยครั้งเป็นการพูดคนเดียวอย่างคลั่งไคล้ถึงอำนาจ

 

ถ้ามองแบบรอย พอร์เตอร์ ความบ้าและอำนาจคือของที่มักจะมาคู่กันเสมอ

 

​กับเรื่องนี้ เดวิด โอเวน (David Owen) ที่เป็นนักการเมืองรุ่นเก๋าชาวอังกฤษ ผู้ลาออกจากพรรคแรงงานเพื่อมาก่อตั้งพรรค Social Democratic (SDP) และเป็นแพทย์กับนักวิชาการที่ศึกษาด้านจิตวิทยาด้วย เรียกอาการ ‘โอหัง’ เมื่อเกิดความ ‘บ้าอำนาจ’ ขึ้นมาว่าเป็น ‘โรค’ อย่างหนึ่ง คือ Hubris Syndrome ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็อาจแปลได้ง่ายๆ ว่า ‘โรคโอหัง’

 

​โอเวนบอกว่า โรคโอหังเกี่ยวพันกับอำนาจโดยตรง มันมักจะปรากฏขึ้นมาเมื่อคนคนหนึ่งอยู่ในอำนาจหรือได้บริหารอำนาจเป็นเวลานาน ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคโอหังมากขึ้นเท่านั้น

 

แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกคน เพราะคนที่รักษาความถ่อมตัว เปิดกว้างต่อคำวิจารณ์ หรือมีอารมณ์ขัน จะไม่ค่อยมีอาการของโรคโอหังที่ว่านี้ โดยโอเวนบอกว่า ตัวอย่างของผู้นำที่เป็นโรคนี้มีอาทิ เดวิด ลอยด์ จอร์จ (นายกรัฐมนตรีของอังกฤษยุคต้นศตวรรษที่ 20), มาร์กาเร็ต แทตเชอร์, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และโทนี แบลร์ (บทความที่เขาเขียนถึงเรื่อง Hubris Syndrome เกิดก่อนหน้าที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นสู่อำนาจ ไม่อย่างนั้นเดาว่าเขาต้องใส่ชื่อทรัมป์เข้าไปด้วยแน่ๆ)

 

​คำว่า Hubris Syndrome นั้น ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นศัพท์ทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการพูดถึงและศึกษาโดยนักจิตวิทยามากมายในโลกนะครับ โดยส่วนใหญ่มองว่า โรคโอหังนี้เป็นความผิดปกติที่เกิดกับผู้นำ เรียกว่า Leadership Personality Disorder คือพอเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากๆ เข้า ก็จะเกิดความผิดปกติทางจิตข้ึนมาโดยไม่รู้ตัว

 

​ตัวอย่างเช่น เวลาคนจะขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ตัวเองหลายอย่างใช่ไหมครับ เช่นว่าผู้นำต้องมีความเข้มแข็ง เด็ดขาด แต่ก็ต้องไม่ก้าวร้าว ผู้นำมักจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน ช่างสังเกต และเข้าอกเข้าใจคนอื่น พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้นำย่อมเป็นคนที่มี ‘คุณสมบัติดีๆ’ อย่างที่ ‘อภิมนุษย์’ พึงเป็น จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดนะครับ เช่น อาจได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในสายงานก็ได้)

 

​แต่ที่น่าสนใจก็คือ โอเวนพบว่า เมื่อมีอำนาจขึ้นมาระยะหนึ่ง หลายคนกลับสูญเสียความสามารถในความเป็น ‘ผู้นำ’ เหล่านี้ไป โดยเกิดพฤติกรรมโอหัง (Hubristic Behaviour) ขึ้นมา โดยโอเวนระบุอาการทางคลินิก (Clinical Features) ของโรคโอหังเอาไว้ 14 ประการด้วยกัน เช่น ชอบเหยียดหยามคนอื่นว่าโง่กว่าตัวเอง สูญเสียความสามารถในการมองเห็นความเป็นจริง ขยันทำงานไม่หยุดหย่อน แต่ผลงานที่ออกมาไร้ประสิทธิภาพและสมรรถภาพ ฯลฯ

 

​เขายังบอกด้วยว่า มีความผิดปกติทางจิตอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ถือว่าเกี่ยวเนื่องหรือเป็น ‘โรคโอหัง’ ในระดับ (Continuum) ต่างๆ เช่น อาการที่เรียกว่า ADHD หรือ Adult Attention Deficit Hyperactivity Disorder ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดในเด็ก พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะหายไป แต่พวกที่เป็นผู้มีอำนาจและเป็นโรคโอหัง อาการทำนองนี้จะกลับมา

 

​นักพฤติกรรมศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของพวกผู้นำเหล่านี้ ขนานนามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Power Paradox หรือ ‘ปฏิทรรศน์แห่งอำนาจ’ คือเมื่อเรามีอำนาจขึ้นมาแล้ว เรากลับสูญเสียความสามารถที่จำเป็นในการขึ้นสู่อำนาจไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกผู้นำที่เป็นโรคโอหังคลั่งอำนาจ มักจะสูญเสียสิ่งที่เรียกว่า Empathy ในมนุษย์คนอื่นไป

 

​คำถามก็คือ – ทำไมพวกผู้นำถึงเป็นแบบนี้กัน

 

​Empathy เป็นเรื่องที่เกิดจาก ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่เรามีกับคนอื่นๆ นะครับ เช่น ถ้าคุณเห็นคนถูกตีหัว บางทีคุณจะหยีตา หรือกระทั่งยกมือขึ้นคลำศีรษะด้วยซ้ำไป เพราะคุณรู้สึก ‘เจ็บแทน’ หรือเวลาคุณเห็นคนกินของเปรี้ยวแล้วน้ำลายไหล ทั้งที่บางทีภาพการกินของเปรี้ยวนั้นอยู่ในทีวี คุณไม่ได้กลิ่นของเหล่านั้นด้วยซ้ำ

 

​ความรู้สึกร่วมพวกนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่นักประสาทวิทยาเรียกว่า Mirroring คือเหมือนกับตัวคุณเป็น ‘กระจก’ ส่องสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ภายใน มันคือการที่สมองของคุณเกิดการ ‘เลียนแบบ’ พฤติกรรมต่างๆ ของคนอื่น โดยตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ คือเซลล์ประสาทที่เรียกว่า ‘เซลล์ประสาทกระจก’ (Mirror Neurons) เมื่อเรารับรู้อะไรบางอย่างขึ้น มันจะจำลองการตอบสนองแบบเดียวกันขึ้นในหัวของเรา ทำให้เราเกิด ‘ความรู้สึกร่วม’ กับมนุษย์คนอื่น

 

​แต่นักประสาทวิทยาค้นพบว่า ‘อำนาจ’ นั้น มีโอกาสทำให้กระบวนการ Mirorring หรือเซลล์ประสาทกระจกในตัวคนที่เป็นผู้ครอบครองอำนาจเสียไปได้

 

​นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ชื่อ ดาเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) ได้ศึกษาพฤติกรรมของคนจำนวนมากเป็นเวลานานราวสองทศวรรษ โดยเปรียบเทียบคนที่ ‘ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจ’ (Under the Influence of Power) กับคนทั่วไป เขาพบว่าคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจนั้น จะมีพฤติกรรมในการแสดงออกต่างๆ เหมือนกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองร้ายแรงในระดับ Traumatic Injury

 

​ลักษณะสำคัญของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจ คือมักจะหุนหันพลันแล่นมากขึ้น ตระหนักถึง ‘ความเสี่ยง’ ต่างๆ น้อยลง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะมีความสามารถในการมองโลกจากมุมมองของคนอื่นๆ น้อยลงอย่างมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก และเข้าใจคนอื่นน้อยลง

 

​การศึกษาของเคลต์เนอร์ ได้รับการยืนยันด้วยการศึกษาของนักประสาทวิทยาชื่อ ซุควินเดอร์ โอบิ (Sukhvinder Obhi) แห่งมหาวิทยาลัย McMaster ในออนแทรีโอ ซึ่งแม้จะศึกษาเรื่องเดียวกันกับเคลต์เนอร์ ทว่ามีจุดเน้นต่างกัน คือเป็นการดูการทำงานของสมอง ว่าสมองของคนที่มีอำนาจและคนที่ไม่มีอำนาจนั้น เมื่อถูกกระตุ้นแล้วจะทำงานต่างกันอย่างไร

 

​โอบิพบว่า ตัว ‘อำนาจ’ นั้น มันไปทำลายกระบวนการกระจก (Mirorring) ที่ว่าไปข้างต้น ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิด Empathy ขึ้นมา และเชื่อว่าเป็นกระบวนการทางสมองที่ทำให้มนุษย์ (และสัตว์ประเภท ‘สัตว์ฝูง’ อื่นๆ) มีพัฒนาการร่วมทางสังคม ทำให้เราดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะความรู้สึกร่วมทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมา โดยเซลล์ประสาทกระจกนั้นพบได้ในพื้นที่สมองหลายบริเวณ เรียกว่าเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งสมองเลยก็ว่าได้ แต่ในคนที่มีอำนาจ (หรือคิดว่าตัวเองมีอำนาจ) กระบวนการทำงานของสมองแบบนี้จะลดน้อยลง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกร่วมกับคนอื่น เข้าใจคนอื่นได้น้อยลง และดังนั้นจึงนำพาคนที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเองเข้าสู่ ‘ความเสี่ยง’ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

​การทดลองที่แสดงให้เห็นว่าคนมีอำนาจสูญเสียความเข้าใจในคนอื่นยังมีอีกหลายการทดลองนะครับ เช่น ให้คนมีอำนาจกับไร้อำนาจดูภาพคนอื่น แล้วประเมินความรู้สึกของคนในภาพออกมา ปรากฏว่าคนที่มีอำนาจจะประเมินความรู้สึกของคนในภาพผิดมากกว่าคนที่ไร้อำนาจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนที่มีอำนาจเข้าใจคนอื่นน้อยกว่าคนที่ด้อยอำนาจ

 

​เขาบอกว่า ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่คนไร้อำนาจมีเหมือนๆ กัน และถ่ายทอดถ่ายเทระหว่างกันผ่านการทำงานของเซลล์ประสาทกระจกนั้น ทำให้คนทั่วๆ เกิดการ ‘เลียนแบบ’ (mimicking) กันและกันได้ คนทั่วไปจะหัวเราะไปกับเสียงหัวเราะของคนอื่น ร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้าของคนอื่น เจ็บปวดไปกับเรื่องเจ็บปวดของคนอื่น เพราะเซลล์ประสาทกระจกจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเดียวกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – มันเตือนให้เรารู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ระหว่างกัน

 

​แต่ผู้มีอำนาจหรือคิดว่าตัวเองมีอำนาจมักสูญเสียความสามารถนี้ไป คนเหล่านี้มักจะไม่หัวเราะกับเรื่องขำขันของคนอื่น ไม่ร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้าของคนอื่น เพราะการรับรู้ความรู้สึกที่ว่าเสียไปแล้ว ผู้นำที่คลั่งอำนาจหรือเป็นเผด็จการส่วนใหญ่จึงมักมีพฤติกรรม ความคิด และความเชื่อที่ไม่เหมือนคนทั่วไป ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Empathy Deficit ขึ้น

 

​มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Finance ชื่อ What Doesn’t Kill You Will Only Make You More Risk-Loving: Early-Life Disasters and CEO Behavior เป็นการศึกษาซีอีโอของบริษัทต่างๆ พบว่าซีอีโอที่ในวัยเด็กเคยผ่านพบกับภัยธรรมชาติแบบโหดๆ ถึงขนาดที่มีคนตายจำนวนมาก (หรือมีคนใกล้ตัวตาย) เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ทอร์นาโด ฯลฯ เมื่อได้เป็นซีอีโอแล้ว จะมีการทำงานในแบบที่พาบริษัทไปเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ‘น้อย’ กว่าซีอีโอที่ไม่เคยผ่านพบประสบการณ์เหล่านี้ (เรียกว่ามีความเป็น Risk-Seekers น้อยกว่า)

 

แต่ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ ซีอีโอที่ตอนเด็กๆ เคยเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติใหญ่ๆ แต่เป็นภัยที่ไม่ได้มีคนใกล้ตัวตาย หรือมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก กลับมีแนวโน้มทำงานแบบพาบริษัทไปเสี่ยงหรือเป็น Risk-Seekers มากที่สุด

 

​พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่เคยเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายจริงๆ ถึงระดับความเป็นความตาย จะไม่ค่อยอยากพาคนอื่นไปเสี่ยงหรือไปตายด้วย เพราะมีฐานแห่ง ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่ทำให้เกิด Empathy อยู่ลึกๆ ภายใน แต่คนที่นึกว่าตัวเองเก่ง นึกว่าตัวเองเคยเสี่ยงภัยมาแล้ว แต่ไม่ได้เผชิญหน้ากับความเป็นความตายที่แท้จริง จะมีแนวโน้มพาความเสี่ยงมาสู่กลุ่มคนที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเองได้มากกว่า

 

​ที่จริงแล้ว เดวิด โอเวน เอง ก็ยอมรับนะครับว่าตัวเขามีอาการของโรคโอหังนี้ด้วย โดยเขาบอกว่า โรคโอหังมีได้หลายแบบ ทั้งแบบเป็นมากเป็นน้อย ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว บางคนก็มีลักษณะอื่นๆ ร่วมด้วย (เช่น มีอารมณ์ขัน) ทำให้อาการโอหังลดน้อยลง แต่ปัญหาของโรคโอหังก็คือ ผู้นำพวกนี้จะไม่มีความสามารถในการมองเห็น ‘โลกจริง’ ได้ จึงอาจนำพาสังคม ธุรกิจ กิจการ หรือองค์กรที่ตัวเองเป็นหัวหน้า ไปสู่หายนะได้

 

​โอเวนบอกว่า ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งไม่ได้หมายถึงสังคมการเมืองอย่างเดียวนะครับ องค์กรธุรกิจหรือแม้แต่ครอบครัวก็มีความเป็นประชาธิปไตยได้) จะพัฒนาระบบตรวจสอบแบบ Check and Balance ขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจ จะได้ปกป้องสังคมจากผู้นำที่มีปัญหาแบบนี้ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลนี้ จะทำให้อำนาจไม่ตกไปอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ซึ่งจะมีโอกาสทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตขึ้นมาได้

 

​นั่นเป็นวิธีป้องกันในระดับภาพใหญ่ ส่วนในระดับปัจเจก เราป้องกันโรคโอหังที่อาจเกิดกับตัวเองได้ด้วยการฝึกตัวเองให้มี Empathy ด้วยวิธีต่างๆ เช่น พยายาม ‘ฟัง’ และทำความเข้าใจคนอื่น รู้จักขอโทษ รวมไปถึงการฝึกความรู้สึกสำนึกบุญคุณคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเรามากๆ ซึ่งฟังดูเหมือนคำสอนของครูอนุบาล แต่แท้จริงแล้ว สมองของคนที่ป่วยเป็นโรคโอหังคลั่งอำนาจ ก็ต้องการการ ‘ฝึก’ แบบเด็กอนุบาลด้วยเหมือนกัน เพราะการฝึกเหล่านี้จะทำให้กระบวนการ Mirroring ในสมองกลับมาทำงานได้ดีขึ้น

 

​ย้อนกลับไปที่รอย พอร์เตอร์ อีกครั้ง

 

​เราจะพบว่า – ประวัติศาสตร์โลกแทบทั้งหมดล้วนคือประวัติศาสตร์ของผู้นำ หรือคือประวัติศาสตร์ของ ‘อำนาจ’ ทั้งสิ้น

 

​ดังนั้น ถ้าผู้นำมีความ ‘บ้า’ ของโรคโอหังอยู่ในตัว คำพูดของ รอย พอร์เตอร์ ก็ถูกต้องทีเดียว

 

​เพราะประวัติศาสตร์ของอำนาจ อาจกลายเป็นประวัติศาสตร์ของความบ้าขึ้นมาได้ทุกเมื่อ



หมายเหตุ: บางส่วนของบทความนี้ดัดแปลงจากบทความเก่าของผู้เขียน (ดูได้จาก tomorn.co/2017/07/09/hubris-syndrome)

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising