×

Brexit ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอย่างไร

01.02.2023
  • LOADING...

สหราชอาณาจักรลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) มานานถึง 3 ปีแล้ว ก่อนที่ประเทศแห่งนี้ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลกจะเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงปัญหาภาวะขาดแคลนพลังงานเนื่องจากสงครามและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงอาจยิ่งทำให้ยากที่จะถอดรหัสว่าผลกระทบของ Brexit ที่มีต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรนั้นเป็นอย่างไร และนี่คือภาพรวมบางมิติที่เกิดขึ้น 

 

การค้า

หลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรเมื่อปี 2021 บริษัทต่างๆ ที่ทำการค้ากับสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับกฎระเบียบใหม่ เอกสารรูปแบบใหม่ และมาตรฐานการตรวจสอบใหม่ สำหรับสินค้าบางประเภท สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับมูลค่าการค้ากว่า 5.5 แสนล้านปอนด์ ระหว่างสหราชอาณาจักรและพันธมิตรทางการค้าที่เคยใกล้ชิดที่สุดอย่างสหภาพยุโรป 

 

โดยปริมาณการส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังสหภาพยุโรปลดลงในช่วงแรกของ Brexit และฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด หลายฝ่ายมองว่าตัวเลขการค้าอาจเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ หากไม่ใช่เพราะผลกระทบจาก Brexit 

 

ผลสำรวจล่าสุดขององค์การหอการค้าสหราชอาณาจักรชี้ว่า บริษัทกว่าครึ่งหนึ่งที่ตอบแบบสำรวจยังคงต้องปรับตัวและต่อสู้กับระบบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ความล่าช้าและมากขั้นตอนจะยิ่งเพิ่มอุปสรรคให้กับบรรดาผู้ส่งออกรายย่อย ส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกมีความหลากหลายลดลง ขณะที่การนำเข้าสินค้าก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ ค่อยๆ ฟื้นตัว ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับโรคระบาดและภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่

 

ประเทศส่วนใหญ่ในประชาคมโลกต่างเผชิญกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่หลังจากนั้นประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ยกเว้นสหราชอาณาจักร กลับมีสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาพรวมการค้าของสหราชอาณาจักรกับประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลก รวมถึง EU กลับลดลง เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรไม่ได้กลับมาฟื้นตัวภายหลังยุคโควิดระบาดหนักผ่านพ้น

 

ข้อตกลงการค้า 

มีข้อตกลงการค้าทั้งหมด 71 ฉบับเกิดขึ้นภายหลังจาก Brexit แต่ข้อตกลงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นข้อตกลงที่สหราชอาณาจักรเคยทำมาก่อนแล้วเมื่อครั้งยังเป็นสมาชิกของ EU อีกทั้งทางการสหราชอาณาจักรยังลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่กับประเทศพันธมิตรอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อหวังกระตุ้นภาพรวมการค้าของประเทศ แต่ข้อตกลงเหล่านี้คาดว่าจะสามารถช่วยส่งเสริมการค้าได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และอาจใช้ระยะเวลาหลายปี เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยเป็นสมาชิก EU

 

นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังพยายามเจรจาการค้ากับอินเดียและบรรดาประเทศสมาชิกข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ข้อตกลงการค้ากับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงไม่ชัดเจนมากนัก

 

การลงทุน

ปริมาณเม็ดเงินที่บริษัทห้างร้านต่างๆ จะทุ่มให้กับโรงงาน การฝึกอบรม อุปกรณ์ และเทคโนโลยี ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างสหราชอาณาจักรกับ EU โดยปริมาณการลงทุนนั้นค่อยๆ ลดต่ำลงนับตั้งแต่การลงประชามติ และจะยังคงเป็นในลักษณะนี้ต่อไปอีกสักระยะ เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ยังคงระแวดระวังถึงแนวโน้มและทิศทางการลงทุนภายหลัง Brexit 

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจาก Brexit รวมถึงข้อตกลงที่ยังไม่เรียบร้อยกับไอร์แลนด์เหนือ มีส่วนทำให้การลงทุนในสหราชอาณาจักรลดน้อยลง ท้ายที่สุดสภาวการณ์นี้อาจกำลังสะท้อนว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมีประสิทธิภาพน้อยลง และมีรายได้ต่ำกว่าจุดที่สหราชอาณาจักรเคยเป็นเมื่อครั้งอดีต 

 

การจ้างงาน

นอกจาก Brexit จะส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนแล้ว ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรกับบรรดาประเทศสมาชิก EU อีกด้วย 

 

งานศึกษาของกลุ่มนักคิดประจำศูนย์ Centre for European Reform และกลุ่ม UK in a Changing Europe ชี้ว่า สหราชอาณาจักรมีแรงงานลดลงราว 330,000 ราย อันเป็นผลมาจาก Brexit แม้ตัวเลขดังกล่าวอาจจะเป็นเพียง 1% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ แต่ภาคการขนส่ง ภาคงานต้อนรับ และภาคธุรกิจค้าปลีกต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักมากเป็นพิเศษ 

 

แนวโน้มในอนาคต

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างย่ำแย่ของสหราชอาณาจักรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ยังไม่ฟื้นตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่ง Brexit อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวการณ์นี้ 

 

ข้อมูลจาก OECD ชี้ว่า ประเทศมหาอำนาจในกลุ่มประเทศ G7 อย่างสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตของ GDP ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 อยู่ที่ 4.3% ตามมาด้วยแคนาดา 3% และอิตาลี 1.8% ขณะที่สหราชอาณาจักรมีอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นอยู่ที่ -0.4% ซึ่งต่ำสุดในบรรดาประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ 

 

ขณะที่หน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐอย่างสำนักงานความรับผิดชอบด้านงบประมาณชี้ว่า ท้ายที่สุดแล้วสหราชอาณาจักรอาจเผชิญหน้ากับความถดถอยทางเศรษฐกิจมากถึง 4% หากพลเมืองสหราชอาณาจักรเลือกโหวต No ให้กับการลงประชามติ Brexit ในวันนั้น แม้ว่าผู้มีสิทธิลงประชามติจำนวนไม่น้อยมักจะคำนึงถึงมิติด้านอธิปไตยของรัฐมากกว่ามิติทางเศรษฐกิจก็ตาม 

 

นับจากนี้ยังมีภารกิจอีกมากโขที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจำต้องเร่งจัดการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของ EU 

 

แฟ้มภาพ: Ivan Marc / Shutterstock

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising