×

‘Goldman Sachs’ ออกโรงเตือนวิกฤตเงินเฟ้อ คาดปี 2022 ส่อรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

01.03.2022
  • LOADING...
‘Goldman Sachs’ ออกโรงเตือนวิกฤตเงินเฟ้อ คาดปี 2022 ส่อรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

Goldman Sachs สถาบันการเงินชั้นนำในสหรัฐฯ ประเมินสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปีนี้ ว่ามีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อลากยาว โดยไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาติตะวันตก ออกมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่กับรัสเซียกรณีบุกรุกยูเครน

 

ทั้งนี้ ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ระบุลงในรายงานฉบับใหม่ล่าสุดส่งตรงถึงลูกค้าของสถาบันว่า ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต่างหันมาให้ความสนใจในขณะนี้ก็คือ โอกาสที่ภาวะเงินเฟ้อจะคลี่คลายและขยับปรับตัวลดลง

 

ในมุมมองของ Goldman Sachs เมื่อพิจารณาโดยรวมกับความไม่แน่นอนทั้งหลายที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ Goldman Sachs ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปี 2022 นี้จากเดิมจะอยู่ที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 3.7 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 2 เท่าตัวของเป้าเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งไว้ที่ 2 เปอร์เซ็นต์

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภค ตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่สำคัญในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ เกือบแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค น่าจะผ่อนคลายความร้อนแรงลงมาอยู่ที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และ 2.9 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า

 

รายงานระบุอีกว่า ประเด็นที่ Goldman Sachs เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ 2 ข้อคือ การคาดการณ์เงินเฟ้อกับตลาดงานที่ฟื้นกลับมาแข็งแกร่ง

 

โดย Goldman Sachs อธิบายว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเริ่มต้นอาจยาวนานพอและถึงระดับสูงสุดพอที่จะเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อในลักษณะที่ส่งผลต่อค่าจ้างและการตั้งราคาสินค้าและบริการ และการคาดการณ์เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นจาก ‘ระดับที่สูงมาก’ อยู่แล้ว หากการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นหรือขัดขวางระบบห่วงโซ่การผลิต หรือซัพพลายเชน

 

นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะหากภาคธุรกิจและผู้บริโภคในตลาดคาดว่าราคาสินค้าจะยังคงเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจและผู้บริโภคย่อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง

 

ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ Goldman Sachs ยังได้ประเมินถึงแนวโน้มตลาดงานในสหรัฐฯ ที่กำลังฟื้นตัวด้วยดีอยู่ในเวลานี้ โดย Goldman Sachs เริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า ช่องว่างระหว่างตำแหน่งงานที่มีอยู่ในตลาดกับจำนวนคนทำงานอยู่ระดับที่กว้างที่สุดนับตั้งแต่หลังสงคราม

 

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง บวกกับตลาดงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งสวนทางจำนวนแรงงาน Goldman Sachs คาดว่าจะจุดชนวนวงจร Wage-Price Spiral ขึ้น

 

สำหรับ Wage-Price Spiral นี้ คือผลพวงจากการที่ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นอย่างมากจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาสินค้าทุกประเภท ซึ่งในกรณีที่ผู้บริโภคมีการคาดการณ์ว่า การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าวจะลากยาว ผู้บริโภคกลุ่มนั้น ในฐานะลูกจ้างบริษัท จะเริ่มเปิดฉากต่อรองกับนายจ้าง เพื่อขอขึ้นเงินเดือน/ค่าจ้าง ในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ณ เวลานั้นๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาระภาษีที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อนายจ้างมีภาระต้นทุนที่สูงเพราะค่าแรงพนักงานเพิ่ม ก็จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นเพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้

 

กลายเป็นภาวะที่เงินเดือนวิ่งไล่ตามราคา แล้วราคาก็ปรับขึ้นไล่ตามเงินเดือน วนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

 

ทั้งนี้ จากตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระลอกใหม่ของ Goldman Sachs ทำให้สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้ง ต่อเนื่องตามจำนวนการประชุม Fed ที่เหลือทั้งหมดในปีนี้

 

อ้างอิง:  

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising