×

ทองคำรูปพรรณพุ่ง 24,100 บาท รับโอกาสธนาคารกลางทั่วโลกลดดอกเบี้ย

19.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) ราคาทองคำรูปพรรณ (96.5%) อยู่ที่บาทละ 24,100 บาท โดยเพิ่มขึ้น 150 บาทจากเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่บาทละ 23,950 บาท ขณะที่ราคาทองคำแท่ง (96.5%) วันนี้อยู่ที่บาทละ 23,600 บาท เพิ่มขึ้น 150 บาทจากวันก่อนหน้าที่บาทละ 23,450 บาท

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดการเงินและการลงทุน หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวว่าราคาทองคำรอบนี้ปรับตัวขึ้นเพราะ
1. นักลงทุนมองหาสินทรัพย์อื่นเพื่อมาเป็นทางเลือก จากมุมมองดอกเบี้ยทั่วโลกอาจปรับตัวลง แม้ว่าระยะนี้ธนาคารกลางใหญ่ของโลกยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โอกาสการลดดอกเบี้ยกลับมามีมากขึ้น 

  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตลาดมองว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในเดือนกันยายน
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจต้องลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ ทำให้

2. ตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนไม่กล้ากลับเข้าลงทุนในหุ้น ขณะเดียวกันเมื่อผลตอบแทน (Yield) ลงต่ำ ยิ่งแสดงว่าพันธบัตรราคาแพงขึ้น ทำให้นักลงทุนย้ายมาพักเงินที่ทองคำมากขึ้นเช่นกัน 

 

ทั้งนี้แนวโน้มราคาทองในระยะถัดไป คาดว่าในระยะสั้นราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นเร็วอาจเจอกับแรงขายเพื่อทำกำไรบางส่วน ส่งผลให้ทองคำน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,525-1,625 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

 

แต่ในระยะยาว เชื่อว่าหากธนาคารกลางใหญ่ของโลกกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และความเสี่ยงการเมืองของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นช่วงปลายปีจะยังเป็นแรงส่งให้ราคาทองคำไม่ปรับตัวลดลงมากนัก โดยยังคงมองเป้าหมายเดิมสิ้นปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,666 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (เพิ่มขึ้น 10% จากปลายปี 2562) 

 

ส่วนราคาทองคำไทย เชื่อว่าจะมีแรงขายมากขึ้นหากราคาเข้าใกล้ระดับบาทละ 25,000 บาท เป้าหมายปลายปี 2563 อยู่ที่บาทละ 25,500 บาท โดยกรอบการเคลื่อนไหวทั้งปีอยู่ที่บาทละ 22,000-27,000 บาท สาเหตุเพราะเชื่อว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าจากปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนไทย ปัจจุบันมีแรงหนุนสองทางคือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและราคาทองคำที่สูงขึ้น ดังนั้นนักลงทุนหุ้นสามารถเพิ่มการถือทองคำแทน เพราะมีความผันผวนใกล้เคียงกันราว 9-12% แต่ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ทั่วโลกใช้ในการเก็งกำไรเป็นหลัก จึงต้องระมัดระวัง ไม่ควรถือครองเกิน 15% ของพอร์ต  

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising