วานนี้ (22 กุมภาพันธ์) ทางการเยอรมนีเตรียมสั่งระงับโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซียที่ส่งตรงถึงเยอรมนีมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.5 แสนล้านบาท) ที่สร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลเยอรมนีให้สามารถเริ่มดำเนินกิจการได้ และดูเหมือนว่าเยอรมนีจะต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวใหม่ หลังรัสเซียประกาศรับรองเอกราชให้กับโดเนตสก์และลูฮันสก์ สองแคว้นที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาส หรือทางภาคตะวันออกของยูเครน ในฐานะรัฐอิสระ สะท้อนการไม่เคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
โดย โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี ประกาศจุดยืนชัดเจน จะไม่รับรองเอกราชให้แก่สองแคว้นดังกล่าวของยูเครน และพิจารณาไม่อนุมัติใบอนุญาตดำเนินกิจการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ให้แก่รัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรัฐบาลเยอรมนีจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย
หลายฝ่ายมองว่า การรับรองเอกราชให้แก่ดินแดนในยูเครนตะวันออก เป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนกำลังพลเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการรุกรานยูเครน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้นำคนใหม่ของเยอรมนีได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับภัยคุกคามของรัสเซียในฐานะเสาหลักของยุโรป ดังเช่นในสมัย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าของเยอรมนี
โชลซ์ระบุว่า ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับชั่วโมงที่ยากลำบากในรอบเกือบ 80 ปี นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สงครามครั้งใหม่อาจปะทุขึ้นในยุโรปตะวันออก หน้าที่ของพวกเราทุกคนคือป้องกันการเกิดหายนะดังกล่าว
รัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าชธรรมชาติรายใหญ่ให้แก่ยุโรป โครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 เกิดขึ้นภายหลังความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีรอยร้าว หากโครงการท่อส่งก๊าซนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปจะทำให้หลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะโปแลนด์และยูเครน แสดงความกังวลถึงอิทธิพลของรัสเซียที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในภาคธุรกิจพลังงานของยุโรป รวมถึงทำให้ยูเครนไม่ได้รับประโยชน์จากท่อส่งก๊าซเดิมของรัสเซียที่ตัดผ่านประเทศของตน แต่ถ้าหากสั่งระงับโครงการนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก 40% ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในยุโรปล้วนนำเข้ามาจากรัสเซีย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ชมคลิป: ประมวลเหตุการณ์ หลังรัสเซียรับรองเอกราชให้ดินแดนในยูเครนตะวันออก
- ประมวลสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ก่อนไบเดนส่งสัญญาณพร้อมประชุมสุดยอดกับปูติน
- ‘ถ้า’ สงครามรัสเซีย–ยูเครนเกิดขึ้นจริง เราพลเมืองโลกจะได้รับผลกระทบอย่างไร
- ชมคลิป: ‘รัสเซีย–ยูเครน’ เปิด 4 ตัวละครหลัก ใครอยู่ฝ่ายไหน มีบทบาทอย่างไร? | KEY MESSAGES
- วิธีทางการทูตจะช่วยป้องกันการเกิดสงครามใน ‘วิกฤตการณ์ยูเครน’ ได้จริงหรือ?
- อ่าน ‘ประเด็นน่าจับตาในการเมืองโลก 2022 กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข’ และชมคลิปเพิ่มเติม
- ‘วิกฤตยูเครน 101: หรือความขัดแย้งในศักราชใหม่จะมาถึงทางตัน?’
- ‘ฉากทัศน์ความขัดแย้งวิกฤตการณ์ยูเครน–รัสเซีย มีโอกาสเกิดสงครามหรือไม่?’
- รวมลิงก์ จับตาวิกฤต ‘รัสเซีย–ยูเครน’ ทุกเรื่องต้องรู้ในความขัดแย้ง
ภาพ: Nord Stream 2 / EYEPRESS Images via Reuters
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/02/22/germany-halts-certification-of-nord-stream-2-amid-russia-ukraine-crisis.html
- https://www.dw.com/en/ukraine-crisis-germany-halts-nord-stream-2-approval/a-60867443
- https://www.theguardian.com/world/2022/feb/22/germany-halts-nord-stream-2-approval-over-russian-recognition-of-ukraine-republics