×

ประเด็นน่าจับตาในการเมืองโลก 2022 กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

29.12.2021
  • LOADING...
การเมืองโลก 2022

นี่คือภาพรวมประเด็นน่าจับตามองในการเมืองโลก 2022 ในทัศนะของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข โดยแบ่งโจทย์ใหญ่เป็น 2 ส่วน โจทย์ส่วนหนึ่งจะยังคงเป็นโจทย์ของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ (Great Power Competition) กับโจทย์อีกชุดหนึ่งที่เป็นโจทย์ชีวิตของผู้คนในสังคมโลกที่เกี่ยวพันกับโจทย์เรื่องโรคระบาดอย่างโควิด (COVID-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของโควิดในปี 2022 รวมถึงโจทย์โควิดที่ซ้อนทับกับโจทย์สำคัญในมิติต่างๆ

 

ดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่พอช่วงปลายปีมาถึง THE STANDARD จะต้องมาร่วมพูดคุยถึงภาพรวมประเด็นร้อนในการเมืองโลกที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาและประเด็นน่าจับตามองในปีถัดๆ ไป กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์พิเศษประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ศ.ดร.สุรชาติเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการฉายให้เห็นภาพใหญ่ของการเมืองโลก 2022 จะมีโจทย์ใหญ่ 2 ส่วน โจทย์ส่วนหนึ่งจะยังคงเป็นโจทย์เดิมคือ การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ (Great Power Competition) กับโจทย์อีกชุดหนึ่งที่อาจไม่ใช่โจทย์การเมืองโดยตรง นั่นคือโจทย์เรื่องโรคระบาดอย่างโควิด (COVID-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของโควิดในปี 2022 รวมถึงโจทย์โควิดที่ซ้อนทับกับโจทย์สำคัญในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์วิกฤตเศรษฐกิจโลก โจทย์วิกฤตด้านอากาศ โจทย์วิกฤตด้านอาหาร เป็นต้น

 

“ถ้าคุณรู้สึกว่าคำว่า สงครามเย็น (Cold War) เซนสิทีฟเกินไป ภาษาที่นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใช้วันนี้คือ เราถอยกลับไปใช้คำในต้นศตวรรษที่ 20 อย่าง Great Power Competition ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งปี 2022 ก็จะเห็นโจทย์นี้ต่อไปอีก กับโจทย์อีกชุดหนึ่งที่ไม่ได้เป็นโจทย์การเมืองแต่เป็นโจทย์ชีวิต มีวิกฤตของชีวิตคนหรือวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์เป็นโจทย์ใหญ่”

 

หากเราแยกโจทย์ส่วนแรก Great Power Competition ออกเป็นรายละเอียด มิติที่เราจะเห็นคือ 

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Khanthachai C / Shutterstock

 

1. การแข่งขันทางการเมือง (Political Competition) หรือที่ผมเรียกจริงๆ คือสงครามการเมืองของรัฐมหาอำนาจใหญ่ เราจะเห็นการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย โดยเฉพาะในส่วนของสหรัฐฯ กับจีน คำถามที่น่าสนใจคือ การแข่งขันนี้จะนำไปสู่อะไรในปี 2022 ที่สำคัญเราตอบได้ว่า การแข่งขันนี้มีนัยยะของการสร้างอำนาจ เพื่อที่จะตอบว่าใครจะเป็นรัฐมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งในเวทีโลก ผมเชื่อว่าปี 2022 จะเข้มข้นขึ้น

 

การเมืองโลก 2022sms

ภาพ: Pla2na / Shutterstock

 

2. การแข่งขันทางเศรษฐกิจ (Economic Competition) โดยเฉพาะสงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สงครามเศรษฐกิจโดยตรงในรูปแบบของกำแพงภาษี ซึ่งในปัจจุบันแม้จะมีการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศของสหรัฐฯ แต่ประเด็นเรื่องกำแพงภาษีเหล่านี้ไม่ได้ถูกยกเลิกทิ้งทั้งหมด รวมถึงเราจะเห็นการแข่งขันทางด้านการเงิน กล่าวคือ ปี 2022 ก็จะยังเป็นปีที่ดอลลาร์กับหยวนจะสู้กันในเวทีโลก และเราก็จะเห็นการแข่งขันเพื่อควบคุมตลาดการค้าและตลาดการลงทุนในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก เราจะเห็นบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของจีนจากการขยายโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative: BRI) คำตอบที่เราพอจะเห็นก็คือ ใครที่จะเป็นผู้กำหนดระเบียบเศรษฐกิจของโลกในอนาคต ปีหน้าเศรษฐกิจจีนจะโตขึ้นมาเทียบชั้นกับสหรัฐฯ ได้มากน้อยแค่ไหน

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: PopTika / Shutterstock

 

3. การแข่งขันทางเทคโนโลยี (Technology Competition) ทุกวันนี้การแข่งขันด้านนี้เป็นมิติใหญ่ ปี 2022 เราจะเห็นการแข่งขันทางเทคโนโลยีใน 2 ส่วนหลัก คือการแข่งขันของเทคโนโลยีในภาคพลเรือนกับภาคการทหาร บางคนอาจมองว่าทั้ง 2 ภาคอาจแยกไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีการนำมาใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นในปี 2022 เราจะเห็นการแข่งขันที่รวมศูนย์อยู่กับเรื่องของ 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเรื่องของหุ่นยนต์ บางคนอาจจะบอกว่าทั้งหมดนี้คือ Metaverse ซึ่งการแข่งขันในด้านนี้จะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงการแข่งขันทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ โดยเฉพาะประเด็นวัคซีนโควิดว่า วัคซีนของใคร ชนิดไหนมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2022

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Vchal / Shutterstock

 

4. อาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Weapon) การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจในมิตินี้อาจไม่ใช่การแข่งขันโดยตรง แต่เป็นบทบาทของรัฐมหาอำนาจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ หลายฝ่ายอาจมองว่าโจทย์ชุดนี้อาจจะไม่เป็นประเด็นสำหรับสังคมไทย รู้สึกห่างไกล เป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับในเวทีโลกปี 2022 โจทย์นี้ยังคงเป็นโจทย์สำคัญ รวมถึงปัญหาของการเจรจาในการควบคุมอาวุธและลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในส่วนระดับของรัฐมหาอำนาจใหญ่เอง เช่น กรณีสหรัฐฯ-รัสเซีย กับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ที่ยังอยู่กับรัฐในภูมิภาค อย่างกรณีของอิหร่านและเกาหลีเหนือ คำถามใหญ่คือเสถียรภาพของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์และรัฐนิวเคลียร์ในระบบระหว่างประเทศจะต้องทำอย่างไร มีวิธีป้องกันอะไรที่จะทำให้ความขัดแย้งนี้ไม่ขยายตัวไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นคำถามไม่ได้ต่างจากเดิม

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Sasa Dzambic Photography / Shutterstock

 

5. บทบาทของรัสเซียในเวทีโลก รัสเซียกำลังฟื้นตัว ภาพปรากฏที่เห็นชัดถึงการขยายอิทธิพลของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่เดิมของตัวเองอย่างในจอร์เจีย หรือปัจจุบันคือในกรณีของยูเครน รวมถึงการขยายบทบาทของรัสเซียในตะวันออกกลาง ต้องจับตาดูว่าหลังปีใหม่รัสเซียจะตัดสินใจใช้กำลังจัดการกับปัญหายูเครนหรือไม่ แล้วถ้ารัสเซียตัดสินใจใช้กำลังจัดการกับยูเครน จะมีนัยยะกับบรรดารัฐที่เคยอยู่กับรัสเซียในสมัยที่ยังคงเป็นสหภาพโซเวียตหรือเปล่า รวมถึงโจทย์ใหญ่ที่สุดก็คือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับ NATO และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับ EU ขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าอีกส่วนหนึ่งคือ ถ้ารัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน สหรัฐฯ จะส่งกำลังเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ โจทย์นี้คงต้องดูกันหลังปีใหม่ 

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: 360b / Shutterstock

 

6. บทบาทของสหภาพยุโรป (EU) ในช่วงที่ผ่านมาสหภาพยุโรปเผชิญปัญหาใหญ่ นอกจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักร (Brexit) แล้ว โจทย์ใหญ่ของยุโรปกลายเป็นการระบาดของเชื้อโควิด อีกทั้งบทบาทของเยอรมนีในยุคหลัง อังเกลา แมร์เคิล เยอรมันจะวางบทบาทของตัวเองอย่างไร เป็นคำถามใหญ่ เพราะเยอรมนีวันนี้เป็นเสาหลักของสหภาพยุโรป คู่ขนานไปกับฝรั่งเศส 

 

การเมืองยุโรปตอบง่าย เพราะว่าการเมืองยุโรปไม่มีรัฐประหาร นั่นหมายความว่าการเมืองยุโรปในปีหน้าขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

 

แต่เนื่องจากการเมืองยุโรปตอบง่าย เพราะว่าการเมืองยุโรปไม่มีรัฐประหาร นั่นหมายความว่าการเมืองยุโรปในปีหน้าขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น วันนี้เราเห็นแล้วว่า อังเกลา แมร์เคิล ตัดสินใจยุติบทบาททางการเมือง หลังจากอยู่ครบ 4 เทอม อยู่ในอำนาจนานถึง 16 ปี แล้วก็กลายเป็นเสาหลักของอียู ในขณะที่ เอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำของฝรั่งเศส ที่วันนี้ก็อยู่ในฐานะอีกหนึ่งเสาหลักของอียู การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบหน้าในเดือนเมษายน 2022 มาครงจะสามารถชนะและประคับประคองบทบาทของตัวเองต่อได้ไหม กระแสประชานิยมปีกขวาในการเมืองยุโรปจะสามารถขับเคลื่อนการเมืองยุโรปในปี 2022 ได้มากน้อยเพียงไร คงต้องรอดูจากคำตอบที่ใหญ่ที่สุดคือผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2022

 

ขณะที่โจทย์อีกส่วนหนึ่งเป็นโจทย์ชีวิตของผู้คนในสังคมโลก มีมิติที่น่าสนใจ ดังนี้

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Faboi / Shutterstock

 

– วิกฤตโควิด (COVID Crisis) ปี 2022 เชื้อไวรัสโคโรนาอันเป็นต้นเหตุของโรคโควิดยังคงอยู่กับเรา คำถามปี 2022 ก็คือเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนจะลดการแพร่ระบาดและความรุนแรงลงพอที่เราจะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ จะมีเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ รวมถึงคำถามใหญ่ก็คือ การพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธ์ุตัวใหม่จะสามารถทำได้รวดเร็วพอที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดในปี 2022 ได้หรือไม่ หลายฝ่ายอาจกำลังมองว่าเชื้อโอไมครอนไม่รุนแรงเท่าเชื้อเดลตาและพยายามที่จะใช้ชีวิตปกติ แต่เอาเข้าจริง แม้อาการของผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อเดลตา แต่เราก็เห็นการติดเชื้อขนาดใหญ่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและหลายประเทศในแถบยุโรป โจทย์ใหญ่วันนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าปี 2022 โควิดจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ จะเดลตาหรือจะโอไมครอน แต่โจทย์วิกฤตโควิดจะยังคงอยู่กับเรา หลังแพร่ระบาดมานานกว่า 2 ปี

 

สิ่งที่เป็นผลกระทบจากโควิดที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในสภาวะอย่างนี้ความหวังที่เศรษฐกิจปี 2022 จะสดใสก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ ขณะที่วิกฤตด้านความมั่นคงของมนุษย์ อันเป็นผลพวงของวิกฤตโรคระบาดได้สร้างโจทย์ปัญหาด้านความยากจน (Global Poverty) และโจทย์เรื่องการตกงานและว่างงาน (Global Unemployment) ที่ขยายกลายเป็นโจทย์ใหญ่ระดับโลกและส่งผลกระทบกับชีวิตทางสังคมและชีวิตทางเศรษฐกิจของมนุษย์

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: TR STOK / Shutterstock

 

– วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ปัจจุบันไม่ใช่โจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) แต่เราจะเห็นภาษาใหม่ที่ใช้กันคือ Climate Crisis เราอาจต้องยกเครดิตให้กับน้องผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ เกรตา ธันเบิร์ก ที่เธอมีส่วนสำคัญในการเปิดประเด็นนี้ จนทุกวันนี้ผู้นำโลกและผู้คนในโลกปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตของโลกชุดหนึ่ง โดยถ้าเราย้อนกลับไปต้นปี 2021 จะเห็นวิกฤตไฟป่า ตัดภาพมาปลายปีเราเห็นพายุ สิ่งที่เกิดขึ้นตอบเราชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงความแปรปรวนของฤดูกาล เพราะฉะนั้นโจทย์นี้จะยังคงเป็นโจทย์ของปี 2022 สภาพภูมิอากาศอาจจะแปรปรวนมากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้

 

ใครที่ติดตามบทสัมภาษณ์ระหว่างผมกับทาง THE STANDARD ผมจะยกประเด็นหนึ่งไว้เสมอก็คือ ให้ดูไฟป่าในเวทีโลกในช่วงต้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประมาณปี 2018 เป็นต้นมา ไฟป่าเป็นภาพสะท้อนที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่ง ส่วนในกรณีบริบทของไทยก็อาจจะเจอฝุ่นพิษ ฝุ่นที่มากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกแบบหนึ่ง โจทย์ Climate Crisis จะเป็นโจทย์ที่คู่ขนานอยู่กับการแพร่ระบาดของโควิด ถ้าเอาโรคระบาดบวกกับความผันแปรของสภาพภูมิอากาศที่เป็นวิกฤต ผลกระทบใหญ่คือขีดความสามารถในการผลิตอาหารของสังคม ตัวแบบหนึ่งที่เราเริ่มเห็นชัดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคือสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกา

 

กล่าวคือ Global Pandemic + Global Climate Crisis นำไปสู่ Global Food Crisis 

 

เป็นการหลอมรวมของโจทย์ด้านความมั่นคง โจทย์ชีวิตชุดใหญ่ก็คือวิกฤตโรคระบาด วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ แล้วก็วิกฤตด้านอาหารให้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ชุดเดียวกัน 

 

ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงปี 2020-2021 ทำให้โจทย์ชุดหนึ่งเบาบางลง นั่นคือปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศ โดย ศ.ดร.สุรชาติหวังว่าในปี 2022 การก่อการร้ายจะไม่ขยายตัวมากนัก ถ้าดูจากปี 2021 ที่ผ่านมา โจทย์ชุดนี้ไม่ได้เป็นโจทย์ใหญ่เหมือนกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: JOKE_PHATRAPONG / Shutterstock

 

– วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ถ้ามองผ่านมิติเศรษฐกิจการเมือง เศรษฐกิจโลกในปี 2022 ก็คงยังมีปัญหาความไม่แน่นอนจากทั้งปัจจัยการแข่งขันและจากปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด ศ.ดร.สุรชาติมองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2022 มีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองอยู่ 10 เรื่อง ได้แก่

 

1) การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกเหมือนช่วงที่เราเห็นการเปิดสงครามการค้าในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่

 

2) วันนี้คงต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนตกต่ำลง ไม่ได้เป็นปัจจัยบวกเท่าไร

 

3) การถดถอยของเศรษฐกิจจีนเองก็มีสัญญาณเป็นระยะเหมือนกัน รวมทั้งโจทย์ใหญ่ที่จีนเผชิญคือปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีน พูดง่ายๆ ก็คือฟองสบู่ จะมีฟองสบู่ในจีนไหม เพราะว่าปัญหาอสังหาฯ ในจีนก็ไม่ได้ต่างจากกรณีของวิกฤตต้มยํากุ้งในไทยหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ เป็นโจทย์ที่แทบไม่ต่างกัน

 

4) การระบาดของโควิดในปี 2022 จะขยายตัวมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้มากน้อยเพียงใด พูดง่ายๆ ก็คือในทางเศรษฐกิจการระบาดของเชื้อตัวนี้ก็ยังมีผลกระทบในปีหน้า คงต้องดูว่าจะกระทบหนักหรือกระทบเบา

 

5) หากจีนใช้กำลังกับปัญหาไต้หวัน จะส่งผลให้สหรัฐฯ ใช้กำลังเข้าแทรกแซงหรือไม่ อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่ต้องตามดูหลังปีใหม่นี้

 

6) ถ้ารัสเซียตัดสินใจจัดการกับปัญหายูเครนด้วยกำลัง สหรัฐฯ จะเข้าปกป้องหรือไม่

 

7) ความรุนแรงของวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและความอดอยากในเวทีโลกมากน้อยเพียงใดในปี 2022 ซึ่งก็จะกระทบกับเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

8) เราเริ่มเห็นการขยายตัวของการประท้วงทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าการประท้วงทางสังคมหรือการก่อความไม่สงบทางสังคมในปี 2022 จะยังเป็นโจทย์สำคัญ และก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

 

9) ความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจใหญ่จะทำให้โลกาภิวัตน์ (Globalization) ถดถอยลงกว่านี้อีกหรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่เราเห็นตั้งแต่สงครามการค้า หลายคนประเมินว่านี่คืออาการสโลว์ดาวน์ของ Globalization เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องตามดูก็คือ 2022 อาการสโลว์ดาวน์นี้จะยังคงเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการต่อสู้ของรัฐมหาอำนาจใหญ่หรือไม่ 

 

10) ปัญหาราคาพลังงานจะเกิดความผันผวนหรือไม่

 

เพราะฉะนั้น 10 โจทย์สำหรับมิติเศรษฐกิจโลกในปี 2021 คำตอบมีอย่างเดียวคือความไม่แน่นอนและความผันผวนยังคงมีอยู่ 

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Anson_shutterstock / Shutterstock

 

ขยับกลับมาดูในส่วนของเอเชีย ถ้าถามว่าเรามองภาพในเวทีโลก มองโจทย์ต่างๆ ที่เป็นโจทย์ในระดับมหภาคของโลกแล้ว โจทย์ในเอเชียจะมีโจทย์ใหญ่ๆ ได้แก่

 

  1. ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดู เพราะว่าปัจจุบันปัญหา South China Sea ได้ขยายเป็นปัญหาระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ด้วยเช่นกัน

 

  1. ปัญหาสถานะของไต้หวัน

 

  1. ปัญหาการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมถึงในเมียนมา และการเรียกร้องประชาธิปไตยในบางส่วนของสังคมจีน

 

  1. ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

 

  1. ปัญหาความขัดแย้งตามแนวพรมแดนจีน-อินเดีย

 

  1. ปัญหาความสัมพันธ์ที่เริ่มไม่ราบรื่นระหว่างจีนกับออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งออสเตรเลียเริ่มมีท่าทีที่ไม่ค่อยไว้วางใจจีน รู้สึกว่าจีนขยายอิทธิพลเข้ามามาก ส่วนหนึ่งมาจากการขยายอิทธิพลของจีนเข้าไปในพื้นที่แถบแปซิฟิกใต้ ซึ่งกระทบกับสถานะของออสเตรเลียโดยตรง

 

  1. ผลกระทบที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยอาเซียนจะวางจุดยืนและจะกำหนดนโยบายอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2022 ต้องไม่ลืมว่าประธานอาเซียนคือ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่มีท่าทีคล้อยไปทางจีน

 

  1. จีนจะใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจในการสร้างอิทธิพลกับบรรดารัฐต่างๆ ในเอเชียอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือการส่งออกความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีน ในบางครั้งจบลงด้วยวิกฤตหนี้ ประเทศผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนสุดท้ายไม่สามารถส่งดอกส่งต้นได้ สุดท้ายจีนก็จะยึดสัมปทานในโครงการเหล่านั้นแล้วเข้าไปทำเอง ทำให้จีนสามารถเข้าไปควบคุมพื้นที่ดังกล่าวได้ แทนที่จะเป็นพื้นที่การลงทุนร่วมระหว่างจีนกับรัฐผู้รับความช่วยเหลือ แต่กลับกลายเป็นพื้นที่การลงทุนของจีนโดยตรง เช่น กรณีของจิบูตี ศรีลังกา ลาว และกัมพูชา เป็นต้น

 

  1. บทบาทของรัสเซียในเอเชีย

 

  1. ยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อเอเชีย เพราะในยุคทรัมป์ เราเห็นการสร้างยุทธศาสตร์ชุดใหญ่ คือ อินโด-แปซิฟิก เป็นการรวมชาติพันธมิตร 4 ชาติหลัก อย่าง สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย รวมเป็น ‘จตุรภาคี’ (Quadrilateral) ในขณะที่ยุคของไบเดน เราเห็นการสร้างพันธมิตรใหญ่ 3 ส่วน คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย อย่าง AUKUS โดยการออกยุทธศาสตร์ชุดใหญ่จากยุคทรัมป์ถึงยุคไบเดน บ่งชี้ถึงสัญญาณการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Sai Aung Main / AFP

 

ขณะที่สถานการณ์ที่น่าจับตามองในอาเซียน คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ในเมียนมา หลังรัฐประหารผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปี โดย ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ตกลง เป็นแต่เพียงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหรือการต่อสู้กับรัฐบาลทหารของเมียนมามักไม่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ กลายเป็นข่าวต่อเนื่องจนคนเริ่มรู้สึกว่าชาชินกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเรานั่งดูในรายละเอียด การต่อสู้เหมือนยกระดับขึ้นในแต่ละช่วงๆ ความน่าสนใจคือในปี 2022 การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยจะยกระดับมากขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ เมียนมาจะก้าวเข้าสู่สถานะของการเป็นสงครามกลางเมือง จนเกิด Civil War ได้จริงไหม

 

เพราะปัจจุบันการต่อต้านรัฐบาลขยายไปทั่ว แม้ว่ารัฐบาลทหารจะใช้มาตรการการปราบปรามอย่างรุนแรงก็ตาม แต่คำตอบชัดคือคนไม่กลัว เพราะฉะนั้นโจทย์ Democratization หรือโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา วันนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะอีกส่วนหนึ่งยึดโยงกับการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลจีนยังจำเป็นต้องให้ความสนับสนุนกับรัฐบาลทหารของนายพล มิน อ่อง หล่าย ไม่มากก็น้อย

 

ในขณะที่โจทย์ที่เขาขอเวลา 1 ปีคงทิ้งไปได้เลย พูดกันตรงๆ ไม่เคยมีรัฐบาลทหารที่ไหนรักษาคำสัญญา รวมทั้งรัฐบาลที่กรุงเทพฯ โจทย์ใหญ่จึงเป็นโจทย์ของอาเซียน เพราะหลังจากอาเซียนออกมติ 5 ข้อแล้ว จนถึงขณะนี้เรายังไม่เห็นการเดินทางมาเยือนเมียนมาของผู้แทนพิเศษ 

 

ยิ่งในปี 2022 ที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน เป็นโจทย์ที่สมาชิกในอาเซียนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอึดอัดอยู่ เพราะทุกคนรู้ว่าวันนี้ส่วนหนึ่งรัฐบาลกัมพูชามีทิศทางที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยม เนื่องจากตัวเองก็อยู่ในสถานะอย่างนั้น รวมถึงรัฐบาลกัมพูชาเองก็มีนโยบายที่ไม่ค่อยแตกต่างจากทิศทางของนโยบายของจีนต่อเมียนมา 

 

เพราะฉะนั้นความน่ากังวลก็คือ ถ้าอาเซียนยังเปิดพื้นที่ให้กับกองทัพเมียนมาก็เสมือนถอยกลับไปสู่ปัญหาเดิมคือ อาเซียนยอมที่จะปิดตาแล้วไม่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในชาติสมาชิก เป็นจุดยืนเดิมของอาเซียนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศสมาชิก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ต่างกับการส่งสัญญาณว่าอาเซียนยอมรับการรัฐประหาร ซึ่งแตกต่างจากองค์กรในภูมิภาคแอฟริกาที่ไม่ยอมรับและไม่เปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร โดยในปี 2021 นี้เราจะเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นในเมียนมา มาลี กินี และซูดาน โดยจะเห็นได้ว่ารัฐประหารในแอฟริกาไม่ได้รับการตอบรับจากองค์กรในภูมิภาค เราเองก็อยากเห็นอาเซียนเล่นบทเดียวกับองค์กรเหล่านั้นในภูมิภาคแอฟริกา 

 

ศ.ดร.สุรชาติมองว่า โจทย์ปี 2022 เหมือนกลับมาเป็นโจทย์เดิมในปีที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนครั้งก่อน ความน่าสนใจคือต้องไม่ลืมว่าจากครั้งก่อนสู่ครั้งปัจจุบัน ตัวผู้นำยังเป็นคนเดิม นโยบายในลักษณะที่หันไปทางจีนจะยิ่งเข้มข้นขึ้นหรือไม่ เพราะในวันนี้เป็นที่รู้กันว่าความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ ถดถอยลงไปมาก ท่าทีระยะหลังที่ชัดเจนคือกัมพูชาให้ความสำคัญกับปักกิ่ง พูดง่ายๆ ก็คือน้ำหนักในเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลกัมพูชาไปอยู่กับฝั่งจีน เพราะฉะนั้นจึงเป็นประเด็นว่า เมื่อกัมพูชาขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนจะผลักดันอาเซียนไปในทิศทางใดในปี 2022 

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Jack Taylor / AFP

 

ในส่วนของประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหานี้จะยังคงไม่เปลี่ยนไปตราบใดที่เรายังมีระบอบการปกครองที่เป็นอำนาจนิยม โดยเฉพาะในจีน รัสเซีย หรือในยุโรปตะวันออกบางส่วน อย่างในกรณีของฮังการี ที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในเรื่องของเพศสภาพ เรื่องของสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญ น่าสนใจว่ากฎหมายการสมรสของเพศเดียวกัน ปี 2022 จะมีประเทศไหนประกาศใช้เพิ่มขึ้นอีก

 

โดย ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า ประเด็น LGBTQ+ จะเกี่ยวโยงกับปัญหาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) เป็นโจทย์ที่ซ้อนอยู่ด้วยกัน ผมพูดเสมอว่าวันนี้ช่องว่างทางสังคม (Social Gap) หรือความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ไม่ได้เกิดจากมิติทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ในวิชาสังคมวิทยาแต่เดิมเราเชื่อว่าช่องว่างทางสังคมหรือความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของมิติเศรษฐกิจ (Economic Inequality) แต่จริงๆ แล้ว เราเห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการศึกษา และอันสุดท้ายที่ต้องไม่ลืมคือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากปัญหาเพศสภาพ ไม่ใช่กรณีของ LGBTQ+ อย่างเดียว แม้กระทั่งการเปรียบเทียบค่าตอบแทนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายก็เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ประจำปี ปี 2022 เราจะเห็นกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในประเทศไหนอีกบ้าง และประเทศที่ไม่ยอมรับจะต้านกระแสความหลากหลายทางเพศ หรือกระแส LGBTQ+ อย่างไร 

 

วันนี้โลกไม่ได้มีเพียงแค่ 2 เพศ คำถามคือกฎหมายที่ล้าหลังเกินชีวิตทางสังคมจะอยู่อย่างไร เมื่อสังคมก้าวหน้าไปแล้วมีความเปลี่ยนแปลง กฎหมายไม่ได้ออกมาเพื่อดำรงทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิม ถ้าจะบอกว่ากฎของโลกคือการมีมนุษย์ชายกับมนุษย์หญิง คำตอบนี้เราอาจจะบอกว่าไม่ใช่แล้วล่ะ พัฒนาการของโลกเผยให้เห็นเพศสภาพที่หลากหลายมากขึ้น กองทัพในหลายประเทศก็เปิดรับผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น 

 

กฎหมายต้องรับใช้สังคม ‘ไม่ใช่’ สังคมรับใช้กฎหมาย เมื่อไรก็ตามที่สังคมรับใช้กฎหมาย คำตอบคือ เราจะอยู่ในระบอบเผด็จการ

 

ระบบกฎหมายหนึ่ง ระบบความคิดแบบเดิมหนึ่ง ผมว่าเราต้องกล้าที่จะเปิดประตูให้กระแสความคิดใหม่ๆ ในสังคมเข้ามา ระบบกฎหมายไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตรึงให้สังคมหยุดอยู่กับที่ แต่ระบบกฎหมายออกมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังนั้นกฎหมายต้องรับใช้สังคม ‘ไม่ใช่’ สังคมรับใช้กฎหมาย เมื่อไรก็ตามที่สังคมรับใช้กฎหมาย คำตอบคือ เราจะอยู่ในระบอบเผด็จการ เหมือนกับที่ผู้นำรัฐประหาร ตอนทำรัฐประหารเขาไม่เคยเรียกร้องให้คนเคารพกฎหมาย แต่พอทำรัฐประหารเสร็จ กลับเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมายที่พวกเขาออก นับเป็นความตลกที่ย้อนแย้งสิ้นดี

 

การเมืองโลก 2022

ภาพ: Watsamon Tri-yasakda / THE STANDARD

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวทิ้งท้ายถึงภาพรวมประเด็นน่าจับตามองในการเมืองโลก 2022 ว่า ข้อสรุปง่ายๆ สั้นๆ ปี 2022 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่น่าตื่นเต้น เพราะเราเห็นความตื่นเต้นแบบทรัมป์ผ่านไปแล้ว ปีหน้าเราจะเห็นความตื่นเต้นแบบที่ไบเดนเปิดโจทย์ ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผู้นำจีนอย่างสีจิ้นผิงก็เข้มแข็งมากขึ้นกับการเมืองภายใน เพราะฉะนั้นการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่จะเป็นโจทย์สำคัญที่หนีไม่พ้น น่าสนใจว่าปี 2022 โจทย์ใหญ่ชุดนี้จะทำให้เราเห็นอะไรในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางการเมือง มิติเศรษฐกิจ มิติทางเทคโนโลยี รวมถึงมิติทางทหารและประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ 

 

บทบาทของรัสเซีย โดยเฉพาะในวิกฤตยูเครน รวมถึงบทบาทของสหภาพยุโรปภายหลังยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล จะเป็นอย่างไร เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย นอกจากนี้เรายังคงจะต้องอยู่กับโควิดต่อไป เดลตากับโอไมครอนจะจับมือกันเกิดเป็นเชื้อตัวใหม่หรือไม่ หวังว่าพันธมิตรโรคระบาดชุดนี้จะไม่ทรงพลังขึ้นในปี ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือวิกฤตเศรษฐกิจโลก วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงวิกฤตด้านอาหารโลกที่ยึดโยงอยู่กับปัญหาความยากจนและปัญหาการตกงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประกอบกับโจทย์ 10 โจทย์ของเอเชียที่เข้มข้นแน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์ของไต้หวัน

 

อีกทั้งโจทย์ใกล้บ้านอย่างโจทย์สงครามประชาธิปไตยในเมียนมา รวมถึงสงครามการเมืองในไทยจะคลี่คลายไปอย่างไร ในปี 2022 กระแสประชาธิปไตยในไทยจะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะฉะนั้นปี 2022 มีคำตอบอย่างเดียวคือ ปี 2022 อาจจะไม่สวยหรูทั้งหมด เพราะโรคระบาดยังอยู่กับเรา แต่อย่างไรก็ตาม ปี 2022 ยังเป็นปีที่มีความหวัง เพราะถ้าโรคระบาดเบาบางลง คำถามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นก็คือ หนทางของการสร้างอนาคตทั้งสังคมโลกและสังคมไทยจะเป็นอย่างไร พูดแบบฟันธง ปี 2022 กระแสประชาธิปไตยไทยเข้มข้น ส่วนฤดูใบไม้ผลิจะมาที่กรุงเทพฯ หรือไม่ นั่นไม่ใช่ประเด็น แต่กระแสประชาธิปไตยในปี 2022 ที่กรุงเทพฯ เข้มข้นแน่ๆ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising