×

วิธีทางการทูตจะช่วยป้องกันการเกิดสงครามใน ‘วิกฤตการณ์ยูเครน’ ได้จริงหรือ?

11.02.2022
  • LOADING...
Ukrainian crisis

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) เจมส์ แลนเดล นักข่าวผู้ติดตามประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูต แสดงทรรศนะผ่านงานเขียนที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง BBC โดยมองว่า สงครามที่อาจจะขยายตัวขึ้นในวิกฤตการณ์ยูเครนนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากรัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครนจริง หลายพันคนอาจต้องเสียชีวิต ผู้คนอีกจำนวนมากต้องอพยพหนีตาย ยังไม่นับรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเสียหายอย่างหนัก

 

แต่ถึงกระนั้นรัสเซียก็ยังคงนำกองกำลังประชิดชายแดนยูเครน ขณะที่บรรดาชาติตะวันตกก็เตรียมพร้อมโต้กลับ หากมีการก้าวล้ำเขตแดนเข้ามายังพรมแดนของยูเครน ประเทศที่เปรียบเสมือนเป็นหลังบ้านของรัสเซีย จึงนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญคือ วิธีการทางการทูตจะช่วยป้องกันการเกิดสงครามใน ‘วิกฤตการณ์ยูเครน’ ได้จริงหรือ? แล้วทางออกนั้นจะนำไปสู่สันติและยั่งยืนได้หรือไม่? และการหาทางออกเหล่านั้นต่างไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกๆ การประนีประนอม ทุกๆ ทางเลือก ล้วนมีต้นทุนและราคาที่ต้องจ่าย 

 

เจมส์ แลนเดล จึงพยายามนำเสนอความเป็นไปได้บางเส้นทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และเป็นผลพวงที่มีการนองเลือด ดังนี้ 

 

1. ชาติตะวันตกสามารถช่วยโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ถอยหลังกลับ

ภายใต้ฉากทัศน์นี้ บรรดาชาติตะวันตกจะต้องช่วยกันโน้มน้าวให้ผู้นำรัสเซียเห็นว่า ต้นทุนที่ต้องจ่ายจากการรุนรานยูเครนอาจมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งจำนวนผู้ที่อาจจะเสียชีวิต มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ทางการทูตที่ถดถอยจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง แม้ว่ารัสเซียอาจจะกุมชัยชนะเหนือกว่าในสนามรบ แต่ก็อาจจะนำไปสู่การวิตกกังวลว่า บรรดาชาติตะวันตกจะร่วมมือกัน และสนับสนุนกองทัพของยูเครนในช่วงตลอดหลายปีนับจากนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสียงสนับสนุนและความเป็นผู้นำของเขาไม่มากก็น้อย 

 

อีกทั้งชาติตะวันตกอาจจะต้องยินยอมให้ปูตินอ้างว่า นี่เป็นชัยชนะทางการทูตของตน โดยรับบทนำในการเป็นผู้ธำรงรักษาสันติภาพ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหว และแผ่อิทธิพลทางทหารของกลุ่มพันธมิตร NATO โดยเฉพาะในแถบยุโรปตะวันออก แต่ในขณะเดียวกัน ปูตินก็อาจถูกมองว่า การเคลื่อนพลมาประชิดแนวชายแดนมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องปราม NATO เป็นการตัดสินใจที่ล้มเหลว เพราะสิ่งนี้ทำให้บรรดาพันธมิตรทางทหารของชาติตะวันตกใน NATO ร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว และเคลื่อนพลเข้าใกล้พรมแดนรัสเซียมากยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงสนับสนุนให้สวีเดนและฟินแลนด์เองก็พิจารณาอยากสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ด้วยเช่นกัน ปัญหาคือ หากปูตินต้องการที่จะเข้าควบคุมยูเครน และบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของชาติสมาชิกใน NATO มีเหตุผลน้อยมากที่เขาอาจจะเลือกถอยกลับในตอนนี้

 

2. NATO และรัสเซีย บรรลุข้อตกลงด้านความมั่นคงฉบับใหม่ร่วมกัน

บรรดาชาติตะวันตกต่างแสดงจุดยืนชัดเจนว่า จะไม่ประนีประนอมในหลักการสำคัญของ NATO อาทิ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ที่มีสิทธิจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ NATO ได้ ประตูเปิดต้อนรับประเทศที่ปรารถนาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ NATO เสมอ 

 

แต่กระนั้น ทั้งสหรัฐอเมริกาและ NATO เองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงของยุโรปในวงกว้างด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงด้านความมั่นคงฉบับใหม่กับทางฝั่งรัสเซีย ซึ่งอาจรวมไปถึงการฟื้นคืนข้อตกลงควบคุมอาวุธต่างๆ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของทั้ง NATO และรัสเซีย โดยที่ผ่านมารัสเซียได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ประเด็นไม่ได้อยู่แค่เพียงการสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO ของยูเครน แต่การกระทำดังกล่าวนี้จะสั่นคลอนสถานะและความมั่นคงของรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

3. ยูเครนและรัสเซีย เห็นพ้องกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงมินสก์ 

โดยเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากความพยายามเจรจาหารือกันในช่วงปี 2014-2015 ที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส ที่ออกแบบมาเพื่อยุติการทำสงครามกองกำลังของรัฐบาลและฝ่ายกบฏ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียให้ปฏิบัติการในพื้นที่ยูเครนตะวันออก แม้จะเห็นได้ชัดว่าข้อตกลงดังกล่าวล้มเหลวในปัจจุบัน แต่ความพยายามที่จะกลับไปใช้แนวทางในการหยุดยิง ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะปูทางไปสู่หนทางที่เป็นสันติวิธี

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีจุดให้โต้เถียง อีกทั้งทางการรัสเซียก็ต้องการให้ยูเครนจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และให้พื้นที่กับนักการเมืองที่มีแนวคิดสนับสนุนรัสเซีย ขณะที่ทางการยูเครนเองก็ต้องการให้รัสเซียปลดอาวุธ และยุติการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านภายในประเทศ ยังไม่นับรวมประเด็นของแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ที่พยายามแยกตัวจากยูเครนเช่นเดียวกับประชาชนในไครเมีย ซึ่งรัฐบาลรัสเซียสนับสนุนให้ทั้งสองแคว้นควรมีสิทธิยกวีโต้คัดค้านการเข้าเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนได้

 

4. ยูเครนประกาศตัวเป็นกลาง ดังเช่นฟินแลนด์ 

เคยมีผู้เสนอให้ยูเครนประกาศตัวเป็นกลางในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ดังเช่นที่ฟินแลนด์เคยประกาศตัวเป็นกลางในช่วงสงครามเย็น และในปัจจุบันยุโรปประเทศนี้ก็ยังคงไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก NATO ซึ่งการประกาศตัวเป็นกลางของยูเครนอาจตอบโจทย์ความปรารถนาของปูตินที่ไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO และเลี่ยงผลลัพธ์ทางทหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ทางเลือกนี้อาจไม่ได้รับการสนับสนุนภายในประเทศเท่าที่ควร เพราะการประกาศตัวเป็นกลางอาจหมายถึงการยอมปล่อยให้รัสเซียมีอิทธิพลเหนือยูเครน และอาจเป็นสัญญาณถดถอยของสายสัมพันธ์ยูโร-แอตแลนติก และอาจทำให้บรรดาชาติสมาชิกในสหภาพยุโรปรักษาระยะห่างกับยูเครนที่ประกาศตัวเป็นกลางอีกด้วย

 

5. การเผชิญหน้าในปัจจุบัน อาจกลายเป็น Status Quo และลดความตึงเครียดเมื่อเวลาผ่านไป?

มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่การเผชิญหน้ากันในปัจจุบันนี้จะกลายเป็น Status Quo เป็นสถานการณ์ที่ทรงตัวอยู่ได้ ทางการรัสเซียค่อยๆ ถอนกำลังทางทหาร และประกาศว่าการซ้อมรบแล้วเสร็จ และรัสเซียก็ยังสนับสนุนกลุ่มต่อต้านต่อไป ขณะที่บรรดาชาติตะวันตกก็ยังสามารถเสริมกำลังทหารในยุโรปตะวันออกต่อไป และยังคงมีความพยายามในการหารือกันเป็นระยะๆ แม้จะมีความคืบหน้าเกิดขึ้นเพียงน้อยนิดก็ตาม วิกฤตยูเครนก็จะเป็นการหยั่งเชิงกันต่อไป แต่อย่างน้อยก็อาจจะไม่มีการพัฒนาไปสู่สงครามใหญ่เต็มรูปแบบ การเผชิญหน้ากันจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ และลดความตึงเครียดเมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นความขัดแย้งที่เยือกเย็นและหายไปจากการรับรู้ของผู้คน ไม่มีทางเลือกใดที่จะพอเป็นไปได้เท่ากับตัวเลือกพวกนี้อีกแล้ว หากพวกเขาตัดสินใจที่จะประนีประนอม และเลือกใช้สันติวิธีแทนกำลังทางทหาร

 

ร่องรอยของความหวังเพียงหนึ่งเดียวในขณะนี้คือ ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะยังคงให้ความสำคัญกับวิธีการทางการทูต การเจรจาหารือกัน ถึงแม้อาจจะไร้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจก็ตาม แต่อย่างน้อยเมื่อพูดคุยกันนานขึ้น หารือกันมากขึ้น ประตูทางเลือกด้านการทูตก็จะยังอยู่นานยิ่งขึ้น แม้อาจจะทำได้เพียงแค่แง้มประตูบานนี้ออกได้เพียงเล็กน้อยก็ตาม 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

 

 

ภาพ: Alexei Nikolsky / TASS via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising