×

ฉากทัศน์ความขัดแย้งวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย มีโอกาสเกิดสงครามหรือไม่?

31.01.2022
  • LOADING...
ฉากทัศน์ความขัดแย้งวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย มีโอกาสเกิดสงครามหรือไม่?

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ท่ามกลางสถานการณ์ที่เข้าใกล้ภาวะสุกงอม ทั้งฝ่ายรัสเซียและฝ่ายยูเครน รวมถึงพันธมิตรฝ่ายตะวันตกยังคงมุ่งหน้าใช้การเจรจาในทุกเวทีเป็นสำคัญ
  • ถ้าทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติโดยสันติวิธีได้ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่สำเร็จและไม่สามารถหาเวทีใดมาพูดคุยได้อีกเลย สิ่งที่เรียกว่า ‘สงคราม’ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
  • สงครามที่จะเกิดขึ้นเป็น ‘สงครามร้อน’ ที่รบด้วยอาวุธก็จริง แต่จะเป็นไปแบบจำกัดขอบเขต คล้ายสงครามตัวแทน เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นมหาอำนาจที่มีศักยภาพในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามได้เสียหายมาก 
  • ฝ่ายยุโรปเริ่มขาดความเป็นเอกภาพมากขึ้น หากสถานการณ์ไปถึงจุดที่ต้องใช้กำลังกับรัสเซีย เนื่องจากมีสมาชิกบางประเทศที่ทั้งสนับสนุนและต่อต้านการใช้กำลังอย่างรัสเซียอย่างแข็งขัน รัสเซียเองก็รอจังหวะให้เกิดความชอบธรรมในการใช้กำลังต่อฝ่าย NATO เช่นกัน
  • สงครามจะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และรัสเซียก็จะถือไพ่ได้เปรียบกว่ากันเล็กน้อย จากนโยบายการส่งออกพลังงานที่ยุโรปต้องพึ่งพารัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากบทวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์คุกรุ่นในดินแดนยูเครนที่เปรียบเป็นสนามประลองอำนาจของมหาอำนาจรัสเซียและ NATO (ยุโรป+สหรัฐอเมริกา) เราพอจะทราบถึงสถานการณ์ล่าสุด รวมไปถึงภูมิหลังและความเป็นมา ประเด็นเรื่องฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นที่สนใจของหลายๆ คนที่ติดตามเรื่องราวนี้เช่นกัน

 

ถึงแม้ว่าข่าวรายวันจะออกมาในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมจะเหนี่ยวไกใส่กันได้ทุกเมื่อ แต่ในความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายมีความพยายามอย่างถึงที่สุด (ของที่สุด) ในการหาเซสชันเพื่อใช้การเจรจาเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ในสัปดาห์ก่อนๆ หลังปีใหม่เราจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายได้มีการพบปะพูดคุยกันในระดับผู้แทนรัฐบาลระดับสูงในหลายกรรม หลายวาระ ทั้งการประชุมของผู้แทนระดับสูงรัสเซียและสหรัฐฯ, รัสเซียและ NATO รวมไปถึงผู้แทนรัสเซียใน OSCE ซึ่งต่างก็ลงเอยที่ทุกเวทีฝ่ายตะวันตกปฏิเสธเสียงแข็งเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ กับข้อเสนอกระต่ายขาเดียวของรัสเซียที่ต้องการจะให้โลกตะวันตกให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO จนกระทั่งดูเหมือนว่าจะมาถึงทางตันแล้วจริงๆ ทั่วทั้งโลกหวาดหวั่นว่ากระสุนนัดแรกอาจถูกยิงออกจากปากกระบอกปืนในเวลาอันใกล้ และให้ความสนใจต่อสถานการณ์ฉากต่อไปที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

1. เจรจาหาทางออกด้วยสันติวิธี

 

 

  • ทั้งสองฝ่ายยังคงให้ความสำคัญสูงสุดต่อ ‘กระบวนการเจรจาแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี’

แม้ว่าการเจรจาในทุกระดับชั้นทุกเวทีในสามครั้งหลังระหว่างฝ่ายรัสเซียกับ NATO จะล้มเหลวและไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ของแต่ละคู่เจรจาได้ จนเปรียบเสมือนการเดินมาสู่ทางตันหาทางออกร่วมกันไม่ได้ แต่ในที่สุดก็ได้เกิดการผลักดัน ‘กรอบการเจรจานอร์มังดี’ (Normandy Format) การเจรจาระหว่างผู้แทนของรัสเซียและยูเครนเอง โดยการสนับสนุนของฝรั่งเศสและเยอรมนีผู้นำแห่งสหภาพยุโรป

 

อันที่จริง Normandy Format นี้เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ครั้งแรกในปี 2014 นับตั้งแต่การเจรจาหยุดยิงรอบแรกๆ ซึ่งริเริ่มพอดิบพอดีในช่วงการเฉลิมฉลองครบรอบวันดีเดย์ (D-Day) ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบก ณ แคว้นนอร์มังดี ตีโต้ฝ่ายนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เวทีนี้ก็เป็นหมันไปทันทีในช่วงปี 2019-2020 ที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้และความขัดแย้งเริ่มขยายวงกลับไปสู่ NATO และสหรัฐฯ อีกครั้ง 

 

แต่ในที่สุดเมื่อความขัดแย้งมาถึงจุดอันตรายอีกครั้ง ทั้งรัสเซียและยูเครนคงจะมองเห็นภาพความเสียหายมหาศาล ถ้าจะต้องไปถึงจุดที่จะต้องใช้อาวุธกัน จึงยอมกลับมาเจรจาและรื้อฟื้นเวทีนอร์มังดีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา อีกนัยหนึ่งเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีในฐานะมหาอำนาจแห่งสหภาพยุโรปนั้นก็คงต้องการแสดงออกว่า ปัญหาของยุโรปก็ควรจะแก้โดยยุโรปกันเอง ซึ่งผลการประชุมทั้งผู้แทนฝ่ายรัสเซีย ดีมิทรี โคซัก (Dmitri Kozak) และผู้แทนฝ่ายยูเครน อันเดรย์ เยร์มัก (Andrey Yermak) ซึ่งต่างเป็นปลัดสำนักประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศ ได้เห็นพ้องต้องกันที่จะนำ ‘ข้อตกลงมินสก์’ ที่ว่าด้วยการหยุดยิงของทุกฝ่ายในแคว้นดอนบาสมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งอย่างน้อยก็ถือเป็นการถอดหนึ่งในชนวนสำคัญที่จะนำพาทุกฝ่ายไปสู่สงคราม กล่าวคือถ้าทุกฝ่ายหยุดยิงตามที่เจรจา เงื่อนไขที่จะนำไปสู่สงครามก็จะลดตามไปด้วย

 

2. สงคราม

 

 

  • ถ้าหากการเจรจาทุกรอบทุกเวทีไม่เป็นผลและมีสถานการณ์พัฒนาไปสู่ภาวะสงคราม?

 

แน่นอนที่สุดถ้าหากเกิดการปะทะทางทหารบนดินแดนยูเครน โดยกองกำลังทั้งฝ่ายรัสเซียและ NATO ที่นำโดยสหรัฐฯ ความเดือดร้อนย่อมหนีไม่พ้นที่จะตกอยู่ที่ชาวยูเครน อีกทั้งรัสเซียและ NATO เองต่างก็มีแสนยานุภาพทางทหารที่มหาศาล และถ้าทั้งสองฝ่ายรบกันอย่างเอาเป็นเอาตายก็จะสร้างความสูญเสียมหาศาลให้กับทุกฝ่าย ดังนั้นสภาวะ Deterrence หรือสภาวะที่เหล่ามหาอำนาจต่างฝ่ายต่างมีความกลัวที่จะเสียหายหนักจากการใช้แสนยานุภาพของตนเต็มกำลังในการห้ำหั่นอีกฝ่าย มาคานอำนาจกันและจำกัดขอบเขตไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ มองจากฝ่ายสหรัฐฯ และ NATO ก็จะยังไม่เห็นภาพว่า สหรัฐฯ ต้องการออกตัว ส่งทหารมาช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย แต่บรรดาสมาชิกอื่นของ NATO ยังพอจะเห็นความกระตือรือร้นจากหลายๆ ชาติสมาชิกที่พร้อมจะช่วยยูเครนเมื่อถึงเวลาวิกฤต 

 

แต่ถ้ามองจากฝ่ายรัสเซีย ถ้ารัสเซียมองเห็นถึงเงื่อนไขที่จะต้องใช้กำลังก็พร้อมใช้กำลังทหารในการบรรลุเป้าประสงค์ของตน รัสเซียอาจจะยกกองกำลังทหารราวแสนนายบุกข้ามพรมแดนจากทั้งฝั่งรัสเซียทางตะวันออก จากไครเมียทางใต้และฝั่งเบลารุสทางเหนือที่เป็นมหามิตรสำคัญ เป็นรูปคีมหนีบเข้าไปสมทบกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสก์และลูฮันสก์ แต่การรบจะเป็นไปอย่างจำกัดขอบเขตและมีกรอบเวลาที่ชัดเจน เช่นกรณีศึกษาสงคราม 5 วันกับฝ่ายจอร์เจียในปี 2008 ที่ถึงแม้กองทัพรัสเซียจะยึดเมืองหลักของจอร์เจียได้แทบทุกเมือง แต่ก็เป็นการชั่วคราวเพียงไม่กี่วัน เมื่อเริ่มบรรลุจุดประสงค์ก็ถอนทัพกลับทันที ไม่เข้ายึดครองเพื่อเป็นการครอบครอง

 

นอกจากนี้รูปแบบของสงครามที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็น Hybrid War คือสัดส่วนที่เป็นการรบโดยการใช้กำลังอาวุธอาจจะพอๆ หรือน้อยกว่าปฏิบัติการอื่นๆ ร่วม เช่น สงครามข้อมูลข่าวสารที่จะใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมติมหาชน (Public Opinion) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดทิศทางทางการเมืองของแต่ละฝ่ายด้วยเทคโนโลยีต่างๆ สงครามไซเบอร์ที่ถึงแม้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตบุคคลจริงแต่ก็สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพราะในโลกยุคนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่น้อยแขวนอยู่บนโลกไซเบอร์ 

 

3. ปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจ

 

 

  • ปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเกี่ยวกับความขัดแย้ง

 

ปัจจัยทางการเมืองที่เป็นสมการสำคัญในความขัดแย้งครั้งนี้คือ ปัจจัยทางการเมืองในยูเครนเอง ดังที่เคยได้กล่าวไปแล้วว่าด้วยที่มาและพลวัตประวัติศาสตร์ยูเครนได้หล่อหลอมให้ประชาชนชาวยูเครนมีแนวคิดทางการเมือง 2 ขั้ว (นิยมรัสเซียและนิยมตะวันตก) และมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก ประกอบกับนโยบายการเมืองด้านชาติพันธุ์ (Ethnopolitics) ที่รัฐบาลรัสเซียยังให้การสนับสนุนผู้คนเชื้อสายรัสเซียที่อาศัยอยู่ในรัฐอื่นหรือแคว้นที่ฝักใฝ่รัสเซียไว้เป็นเครื่องมือต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม ในกรณียูเครนถึงแม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดอนบาส แต่ในความเป็นจริงเบื้องลึกเบื้องหลังต้องมีอยู่แล้ว มิฉะนั้นคงไม่สามารถยืนหยัดกับการโจมตีของกองทัพยูเครนมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมานี้ 

 

นอกจากนี้หัวหน้ากลุ่มฝ่ายค้านในรัฐบาลยูเครนอย่าง วิกเตอร์ เมดเวดชุก (Viktor Medvedchuk) ก็คอยโจมตีนโยบายชาตินิยมยูเครน จนเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบในประเทศจนทุกวันนี้ และยังเป็นปากเป็นเสียงสนับสนุนฝ่ายรัสเซีย รวมไปถึงการปรากฏตัวในรายการต่างๆ ของโทรทัศน์ช่องรัฐบาลรัสเซีย และล่าสุดก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อแสดงความมั่นใจว่ากองทัพรัสเซียจะไม่รุกรานยูเครน อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัสเซียน่าจะมีส่วนในการสนับสนุนฝ่ายค้านนี้ ซึ่งถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์พลิกผันกลุ่มฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาลยูเครน รัสเซียก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้กำลังทหารในกรณีนี้เลย และลึกๆ รัสเซียเองก็หวังจะให้เป็นเช่นนั้น

 

กรณีศึกษาที่เป็นแคว้นฝักใฝ่รัสเซียก็ยกตัวอย่างเช่น แคว้นอับคาเซีย (Abkhazia) เซาท์ออสซิเชีย (South Ossetia) ที่เป็นดินแดนปกครองตนเองของจอร์เจียที่ประกาศแยกตัวจากจอร์เจียเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นชนวนเหตุสงคราม 5 วันระหว่างรัสเซียและจอร์เจีย ก็มีที่มาจากข้อกล่าวหาที่รัฐบาลชาตินิยมขวาจัดจอร์เจียเข้าคุกคามประชาชนในแคว้นทั้งสองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายรัสเซีย เมื่อรัสเซียมีชัยเหนือฝ่ายจอร์เจีย รัสเซียก็ถอนทหารออกและให้การรับรองสองแคว้นว่าเป็นรัฐเอกราช หรืออีกตัวอย่างคือแคว้นทรานส์นิสเตรีย (Transnistria) ที่มีพื้นที่อยู่บริเวณตะเข็บพรมแดนมอลโดวาและยูเครนซึ่งมีคนเชื้อสายรัสเซียอยู่มาก แต่ถึงแม้ว่าทรานส์นิสเตรียจะฝักใฝ่รัสเซียขนาดไหน รัสเซียก็ยังไม่ได้ให้การรับรองแคว้นนี้ ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างมอลโดวาและรัสเซียยังดีอยู่ จึงเห็นได้ว่ารัสเซียใช้ Ethnopolitics ในการเมืองระหว่างประเทศในการคงสถานะมหาอำนาจของตนเช่นกัน

 

ปัจจัยทางการเมืองในฝั่งยุโรปเองก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ของสมาชิกสหภาพยุโรปจะเป็นสมาชิก NATO ด้วย แต่ในกรณีความขัดแย้งกับรัสเซียก็จะมีกลุ่มสมาชิกที่มีความสัมพันธ์ทวิภาคีอันดีกับรัสเซียและไม่อยากมีความขัดแย้งกับรัสเซีย เช่น ฮังการี อิตาลี ก็เริ่มมีเสียงออกมาว่า อาจจะไม่ส่งทหารประเทศตนในนาม NATO เพื่อจัดการข้อขัดแย้งนี้ ในทางกลับกันก็จะมีสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับรัสเซียและไม่นิยมรัสเซีย อันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์บาดแผล เช่น เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ ที่แสดงออกอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนยูเครน รวมไปถึงหัวโจกใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่ถึงแม้อาจไม่ส่งทหารอเมริกันมาแต่ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือกับยูเครนเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักรที่นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน เพิ่งประกาศเพิ่มกำลังทหารเป็นสองเท่าในยุโรปตะวันออก 

 

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

 

ความไม่เป็นเอกภาพในยุโรปและ NATO ยังคาบเกี่ยวมาถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน อีกหลายประเทศใน NATO โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ใหญ่อย่างเยอรมนีที่รัสเซียถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นทางผ่านท่อส่งก๊าซใหญ่แห่งใหม่ที่สำคัญจากโครงการ Nord Stream ที่รัสเซียส่งก๊าซผ่านท่อจากรัสเซียลอดทะเลบอลติกตรงเข้าสู่เยอรมนีเองโดยไม่ง้อเส้นทางที่ผ่านยูเครน ถ้าเกิดการแตกหักกับรัสเซีย รัสเซียก็สามารถตัดก๊าซกดดันให้ประเทศในยุโรปเหล่านี้ทำตามความต้องการของรัสเซีย ซึ่งในที่สุดเหล่าประเทศยุโรปที่ต้องใช้พลังงานจากรัสเซียก็ต้องยอม เพราะก๊าซเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตในการให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวและการขับเคลื่อนยานพาหนะ และในอีกแง่หนึ่งเยอรมนีในฐานะพี่ใหญ่ของยุโรปก็คงต้องการจะแสดงบทบาทคานอำนาจกับพี่ใหญ่แห่ง NATO อย่างสหรัฐฯ ในแง่ที่ว่าสหรัฐฯ อาจจะต้องการเผชิญหน้ากับรัสเซีย อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งนี้น้อยมาก เพราะสหรัฐฯ เองที่ตั้งก็อยู่นอกยุโรป ผู้ที่จะได้รับผลร้ายของสงครามจะเป็นชาวยุโรปด้วยกันเองก่อน 

 

นโยบายที่ฝ่ายตะวันตกและสหรัฐฯ ใช้ในการตอบโต้ทางฝ่ายรัสเซียก่อนการใช้กำลังทหาร คือนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าถ้าความขัดแย้งไปถึงจุดที่เป็นสงคราม มาตรการการคว่ำบาตรเพื่อกดดันรัสเซียต้องถูกใช้ต่อไปอย่างแน่นอนในทิศทางที่เข้มข้นขึ้น แต่ก็คงจะมีผลเพียงในระดับหนึ่ง เพราะตลอดระยะเวลา 8 ปีแห่งวิกฤติรัสเซียได้ปรับตัวหลายด้าน เพื่อลดการพึ่งพาทรัพยากรเศรษฐกิจของฝ่ายตะวันตกจนพออยู่ตัวได้แล้ว ถ้าจะคว่ำบาตรอะไรเพิ่มเติมก็คงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียมากนัก อีกทั้งการตอบโต้จากฝ่ายรัสเซียโดยการคว่ำบาตรกลับ เช่น การห้ามนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างก็ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจยุโรปเอง เนื่องจากตลาดรัสเซียมีมูลค่ามหาศาลด้วยประชาราว 148 ล้านคน และแน่นอนที่สุดถ้าหากเกิดสงครามขึ้น ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปั่นป่วนแน่นอน เนื่องจากเหตุการณ์นี้จะส่งผลโดยตรงต่อรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของโลก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising