×

บริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็ก เลือกเป็นหัวหมาหรือหางราชสีห์จะดีกว่ากัน

29.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ไม่ว่าจะบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกัน บริษัทใหญ่มีจุดแข็งด้านชื่อเสียง มีประสบการณ์ มีชั่วโมงบินในการทำงาน มีระบบการทำงาน มี Tools หรือเครื่องมือในการทำงานต่างๆ ที่ช่วยในการทำงาน มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง แต่จุดอ่อนอาจเป็นความอุ้ยอ้าย
  • บริษัทเล็กมีความยืดหยุ่นสูงมาก บางทีเราพนักงานคนเดียวจะได้ทำหลายอย่าง ไม่จำกัดอยู่แค่งานใดงานหนึ่ง พนักงานรู้จักกันหมด กล้าลองอะไรใหม่ๆ เพราะไม่มีกรอบให้ยึดมาตั้งแต่ต้น แต่ความเป็นระบบระเบียบอาจจะน้อยกว่า และความมั่นคงก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

 

Q: หนูกำลังจะเรียนจบและกำลังเลือกทำงานที่แรก ช่วงนี้เลยได้สัมภาษณ์งานหลายที่ทั้งบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ ใจหนึ่งก็รู้ว่าบริษัทใหญ่น่าสนใจ แต่ก็ดูน่าเบื่อ อีกใจหนึ่งก็รู้สึกว่าบริษัทเล็กน่าสนุกดี คงมีอะไรให้ทำเยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเติบโตได้หรือเปล่า หนูควรจะเลือกทำงานกับบริษัทใหญ่ไปเลยหรือบริษัทเล็กดีคะ จะเป็นหัวหมาหรือหางราชสีห์ดีคะพี่

 

A: ยินดีกับว่าที่บัณฑิตใหม่ด้วยครับ โลกการทำงานกำลังรอต้อนรับน้องอยู่ อย่างแรกที่พี่อยากบอกคือ มันไม่มีที่ไหนในโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีที่ทำงานที่ไหนจะถูกใจเราได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งวันที่น้องมีบริษัทของตัวเองก็ไม่ได้แปลว่าน้องจะทำทุกอย่างได้ตามใจชอบไปหมด เรายังต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น โลกมันเป็นแบบนี้แหละครับ และเราก็ไม่สามารถเป็นคนกำหนดทุกอย่างได้ในชีวิต โลกนี้ไม่ได้เป็นของเราคนเดียว มีคนอื่นเกี่ยวข้องกับเราเต็มไปหมด จะให้มันถูกใจเราไปหมดคงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่มีที่ไหนสำหรับเรา

 

มองอีกด้านหนึ่ง พี่คิดว่ามันไม่ผิดหรอกที่แต่ละองค์กรจะมีจุดที่ควรแก้ไข เพราะบางทีเขาอาจจะรอให้เด็กรุ่นใหม่อย่างน้องไปพัฒนามันอยู่ก็ได้ ไม่งั้นเขาจะมองหาพนักงานใหม่มาเติมองค์กรทำไม ถ้าน้องตอบได้ว่าน้องเข้าไปแล้วจะทำให้องค์กรเขาดีขึ้นได้ยังไงและลงมือทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม น้องก็โคตรเจ๋งแล้วล่ะ นั่นแหละคือการเติบโตของน้อง  

 

วันก่อนพี่ได้นั่งคุยกับพี่เปิ้ล-นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ถึงผลการสำรวจ 10 สุดยอดองค์กรในฝันที่พนักงานไทยอยากร่วมงานมากที่สุดประจำปี 2560 สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้ง 10 บริษัทที่ติดอันดับล้วนเป็นบริษัทใหญ่ทั้งหมด ตั้งแต่ ปตท., เอสซีจี, กูเกิล, โตโยต้า, ดีแทค, ซีพีออลล์, เอไอเอส, การบินไทย, ยูนิลีเวอร์ และฮอนด้า เรียกว่ามีทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติ

 

ข้อสังเกตก็คือ บริษัทใหญ่เหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างภาพลักษณ์บนสินค้าและบริการที่มีอยู่ แต่ ‘ลงทุน’ ในการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้องค์กรเป็นที่รู้จัก เป็นที่ชื่นชม รวมไปถึงมีวิธีการดึงดูดคนใหม่ๆ รักษาคนเก่าๆ และพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เก่งขึ้นอยู่ตลอด แต่ไปทำงานแล้วเป็นอย่างไรพี่คิดว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คงมีทั้งคนที่รู้สึกดีและรู้สึกไม่ดีเป็นธรรมดา

 

แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีใครอยากทำงานบริษัทเล็กนะครับ บริษัทใหญ่เหล่านี้ก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นบริษัทเล็กมาก่อน แต่ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์จนเป็นที่สนใจของคนทำงาน ก็ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทใหญ่ว่าเป็นที่รู้จักมาก่อน

 

ไม่ว่าจะบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกันครับ บริษัทใหญ่มีจุดแข็งด้านชื่อเสียง มีประสบการณ์ มีชั่วโมงบินในการทำงาน มีระบบการทำงาน มี Tools หรือเครื่องมือในการทำงานต่างๆ ที่ช่วยในการทำงานได้ มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง แต่จุดอ่อนอาจเป็นความอุ้ยอ้าย บริษัทใหญ่บางบริษัทกว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรทีโลกก็ไปไกลแล้ว ทำอะไรก็ช้า มีลำดับขั้นตอนเยอะจนบางทีก็สงสัยว่าจะเยอะไปไหน ที่น่ากลัวคือบางแห่งทำมานานก็จะยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ทำตามสูตรความสำเร็จที่เคยทำมา ก็จะไม่มีอะไรใหม่ ไปจนถึงการมีคนเยอะมากจนพนักงานรู้สึกว้าเหว่ ไม่รู้จักกันหมด

อยากให้ลืมก่อนเลยว่าองค์กรนี้ใหญ่หรือเล็ก ลืมความเท่หรือไม่เท่ขององค์กรไปก่อน ลืมเรื่องเงินเดือน แล้วดูว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากองค์กรนี้ เราอยู่องค์กรนี้แล้วจะโตไปเป็นคนแบบไหน จะเก่งขึ้นไหม จะได้ใช้ศักยภาพหรือเปล่า

ขณะเดียวกัน บริษัทเล็กมีความยืดหยุ่นสูงมาก บางทีเราพนักงานคนเดียวจะได้ทำหลายอย่าง ไม่จำกัดอยู่แค่งานใดงานหนึ่ง พนักงานรู้จักกันหมด กล้าลองอะไรใหม่ๆ เพราะไม่มีกรอบให้ยึดมาตั้งแต่ต้น แต่ความเป็นระบบระเบียบอาจจะน้อยกว่า ความมั่นคงก็เป็นอีกประเด็น ธุรกิจสตาร์ทอัพหลายที่ที่ดูพุ่งแรงมากๆ และคนรุ่นใหม่อยากเข้าไปทำ พอถึงจุดหนึ่งดำรงธุรกิจไปต่อไม่ได้ พอไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงก็จบ

 

ที่ยกตัวอย่างมานี้ไม่ได้จะบอกว่าทุกบริษัทต้องเป็นแบบนี้นะครับ มีบริษัทใหญ่บางแห่งกล้าทำอะไรใหม่ๆ หรือพยายามลดลำดับขั้นตอนออกไปก็มี บริษัทเล็กที่มั่นคงและมีระบบก็มี พี่เชื่อว่าบริษัทที่ดีจะรู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองคืออะไรและพยายามพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอด

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจระหว่างกลุ่มคนที่กำลังเริ่มงานเป็นครั้งแรกกับคนที่ทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้วจะมองหาองค์กรในฝันในแง่มุมที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าทั้งคู่มองหาการเติบโตและความมั่นคงเป็นอันดับหนึ่ง แต่น่าสังเกตว่าคนกลุ่มที่เป็นเด็กจบใหม่จะคำนึงถึงจะได้เพื่อนร่วมงานที่ดีหรือเปล่า มีหัวหน้าที่ดีไหม ในขณะที่กลุ่มที่ทำงานมาแล้วจะโฟกัสที่การเติบโตและความมั่นคงเป็นหลัก รองมาคือวัฒนธรรมองค์กรและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมืออาชีพ

 

ถามว่าทำไมทั้งสองกลุ่มถึงคำนึงถึงปัจจัยที่ต่างกัน พี่เปิ้ลให้ข้อสังเกตแบบนี้ครับว่า คนที่ทำงานแล้วระยะหนึ่งจะเข้าใจได้ว่าเพื่อนร่วมงานก็คือเพื่อนร่วมงาน มาเพื่อทำงานด้วยกัน และเพื่อนร่วมงานบางคนก็อาจจะไม่ได้เป็น ‘เพื่อน’ ของเรา คนที่ผ่านการทำงานมาแล้วจะแยกออกว่าใครคือ ‘เพื่อนร่วมงาน’ และใครคือ ‘เพื่อน’ ซึ่งพอยอมรับและเข้าใจความจริงของชีวิตข้อนี้ได้แล้ว การต้องคำนึงว่าเพื่อนร่วมงานจะเป็นใครอาจจะน้อยลง เพราะคนปรับตัวได้แล้วว่าจะเจอกับคนแบบไหนก็ต้องทำงานด้วยได้ แต่เด็กจบใหม่อาจจะยังรู้สึกต้องการที่พึ่งในรูปแบบของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ซึ่งเด็กจบใหม่กับการทำงานแล้วเจอเพื่อนใหม่ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา จึงคำนึงด้วยว่าไปทำงานแล้วจะเจอเพื่อนร่วมงานแบบไหน

 

เอาสถิติแบบนี้มาให้ดูไม่ได้จะบอกว่าใครผิดใครถูกนะครับ แต่อยากให้เห็นว่าคนแต่ละรุ่นมองหาอะไรในการทำงาน แล้วกลับมามองตัวเราว่าแล้วเราล่ะ กำลังมองหาองค์กรแบบไหน

 

ถ้าจะแนะนำว่าตกลงองค์กรใหญ่หรือองค์กรเล็กดีกว่ากัน จะไปเป็นหัวหมาหรือหางราชสีห์แบบที่น้องบอกดี สำหรับเด็กจบใหม่ พี่อยากให้ลืมก่อนเลยว่าองค์กรนี้ใหญ่หรือเล็ก ลืมความเท่หรือไม่เท่ขององค์กรไปก่อน ลืมเรื่องเงินเดือน แล้วดูว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากองค์กรนี้ เราอยู่องค์กรนี้แล้วจะโตไปเป็นคนแบบไหน จะเก่งขึ้นไหม จะได้ใช้ศักยภาพหรือเปล่า สิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้เรารู้ได้จากการสัมภาษณ์งาน การหาข้อมูลจากคนที่เคยทำงานที่นั่นก็เป็นอีกส่วน แต่ฟังคนอื่นไว้เป็นข้อมูลประกอบ พี่อยากแนะนำให้น้องถามทุกอย่างที่อยากรู้ตอนที่สัมภาษณ์ ลองถามนะครับว่าที่บริษัทมีวิธีการพัฒนาคนยังไง มีเทรนนิ่งอะไรบ้าง ทำยังไงให้พนักงานเก่งขึ้น

 

พี่ไม่เคยมองว่าที่ไหนเราเป็นหัวหมา ที่ไหนเราเป็นหางราชสีห์ พี่เชื่อในการมีคุณค่าของตัวเอง อย่าหวังพึ่งพานามสกุลของที่ทำงานเพื่อให้เราดูดี ที่สุดแล้วเราจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวเราเอง องค์กรจะดีแค่ไหน ดังแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้อะไรเลยเราก็เป็นแค่คนที่เกาะนามสกุลบริษัทให้มีหน้าตาเท่านั้น โคตรกลวงเลยน้อง เผลอๆ คนอื่นจะคิดว่าบริษัทรับคนแบบนี้มาได้ยังไง (วะ) เราไม่ได้เป็นหัวของหมาตัวไหน และไม่ได้เป็นหางของราชสีห์ตัวไหน เราคือเราเอง มีเกียรติ มีคุณค่าในตัวเองที่เราต้องรักษา คนมันจะเจ๋งต่อให้ไม่รู้ว่าทำงานที่ไหนก็เจ๋งอยู่ดี

 

ตั้งใจทำงานให้ดี ทำตัวให้มีประโยชน์ต่อองค์กรที่สุด เรียนรู้ให้มากที่สุด อยู่ที่ไหนก็ตามให้คนรักให้คนชื่นชมว่าดีใจเหลือเกินที่บริษัทเรามีคนอย่างน้องคนนี้ แค่นี้พี่ว่าฟินแล้วนะสำหรับเด็กจบใหม่คนหนึ่ง

 

สิ่งที่พี่ได้คุยกับพี่เปิ้ลแล้วอยากแบ่งปันเพิ่มเติมกับน้องจบใหม่ที่กำลังหางานก็คือ อย่าหวังพึ่งพาที่ทำงานว่าจะเป็นทุกคำตอบในชีวิต หรือจะเป็นตำราเล่มเดียวในชีวิตของเราที่สอนเราทุกอย่าง เรายังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว

 

ที่สำคัญและน่ากลัวคือ น้องไม่ได้มีเพียงแค่คู่แข่งในประเทศ แต่โลกนี้ไร้พรมแดนแล้ว คู่แข่งของน้องคือชาวต่างชาติ ดูรอบประเทศเราสิครับน้อง สิงคโปร์ มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ พวกนี้ไม่มีปัญหาเรื่องภาษา มีแพสชันในการใช้ชีวิต พร้อมจะขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าเพราะเติบโตมาในสังคมแห่งการแข่งขัน เขาไม่ได้บ้าปริญญาเหมือนเรา แต่เน้นหนักไปที่ประสบการณ์การทำงาน แข่งกับคนในประเทศว่ายากแล้ว ตอนนี้ยังต้องแข่งกับคนทั้งโลกอีก โจทย์ไม่ง่ายเลยนะครับ เพราะฉะนั้น แปลว่าน้องต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่ารอความรู้แค่จากในที่ทำงานอย่างเดียว

 

ภาษาอังกฤษสื่อสารได้หรือเปล่า นอกจากภาษาอังกฤษแล้วใช้ภาษาอื่นได้อีกไหม ความรู้ด้านเทคโนโลยีมีพอไหม นอกจากเรื่องในประเทศที่ต้องรู้ลึกแล้ว รู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นในต่างประเทศบ้าง ฯลฯ นี่ทำงานหรือประกวดนางงามจักรวาลวะเนี่ย ต้องรู้หมดทุกอย่างเลย

 

เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้ให้น้องกลัว แต่เพื่อให้น้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ทำงานที่แรกนี่แหละครับ ไม่ว่าจะทำที่ไหนก็ตาม

 

แล้วไปให้ถึงจักรวาลเลยนะครับน้อง

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising