×

จะขอโทษแต่พูดไม่เป็น / ต้องขอโทษทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด จะทำอย่างไรดีครับ?

21.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ว่าด้วยเรื่องการขอโทษแล้ว มีสามคำที่ผมอยากเขียนถึงก็คือ ขอโทษ ขอโทษแล้วกัน ขอโทษแล้วไง สามคำนี้มีคำว่าขอโทษเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกันสิ้นเชิง และผมคิดว่าเรื่องนี้เราน่าจะมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานและการใช้ชีวิตของเราครับ เพราะแน่นอนว่าคนเราย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้น บางครั้งเราก็ทำร้ายความรู้สึกคนอื่นโดยไม่รู้ตัว (หรือบางทีก็รู้ตัวและหวังผลด้วยนะครับ) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรารู้สึกอยากจะขอโทษคนอื่น เราควรทำอย่างไร
  • Timing ในการขอโทษก็เป็นเรื่องสำคัญครับ ขอโทษให้ไว ขอโทษทันทีที่รู้สึกผิดและพร้อมจะสื่อสารออกมา ยิ่งปล่อยเวลาผ่านไปยิ่งสร้างความเสียหาย ขอโทษช้าปัญหาก็จะยิ่งลุกลาม มาขอโทษทีหลังแทนที่จะรู้สึกดีจะกลายเป็นว่า ทำไมรู้สึกตัวว่าผิดช้าจัง หรือความรู้สึกผิดมันอยู่ห่างหลายล้านปีแสงกว่าจะเดินทางมาถึง หรือกำลังหวังอยู่ว่าให้มีดราม่าใหม่ๆ มากลบกระแส
  • ถ้าเราไม่ใส่ใจ ทุกอย่างจะเป็นเรื่องยากหมดครับ เราจะไม่รู้สึกผิด เราจะไม่สนใจว่าความผิดพลาดมันสร้างปัญหาแค่ไหน จะขอโทษก็ยากเย็นเหลือเกิน ต่อให้เราขอโทษ เราก็จะเลือกใช้คำพูดที่ไม่ได้กลั่นกรองว่าจะทำร้ายความรู้สึกคนอื่นต่อหรือเปล่า เราจะเลือกแสดงออกว่าไม่จริงใจ เราจะพูดแต่สิ่งที่เราอยากพูดและคนอื่นจงฟัง ไม่ใช่พูดในสิ่งที่คนฟังอยากฟัง เราจะโทษคนอื่นโดยมองไม่เห็นว่าตัวเองมีส่วนต่อความผิดพลาดอย่างไร ความกระตือรือร้นอยากจะแก้ปัญหาก็อย่าหวังว่าจะมี ปล่อยผ่านไปเลยจ้า!

Q: มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานแต่ไม่รู้จะขอโทษอย่างไรดี พูดก็ไม่เป็น ซึ่งเอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าผมทำผิด ผมมีเหตุผลของผม แต่ผมไม่สบายใจเท่าไรที่ทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ดีไปด้วย ถ้าเราไม่ผิดเราควรจะต้องขอโทษไหมครับ เพราะถ้าขอโทษแปลว่าผมยอมรับว่าทำผิด ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่าผมไม่ได้ทำผิดนะ ผมควรขอโทษหรือไม่ขอโทษดีครับ

 

A: ไม่รู้เป็นเพราะภาษาหรือเปล่าที่ทำให้เราคิดมากกับคำว่าขอโทษ เพราะโทษนั้นแปลว่าความผิด การอ้างเอาความผิด นั้นถ้าให้แปลตามตรงมันเหมือนขอรับโทษ พอมีคำว่า ‘โทษ’ ขึ้นมา มันก็ชวนให้คิดได้ว่า คนที่ขอโทษนั้นต้องทำผิดแน่ๆ และเมื่อทำผิด เพราะฉะนั้น ขอให้ลงโทษฉันเถอะ โบยฉันที!

 

ซึ่งมันก็เลยทำให้เกิดการโต้เถียงในใจว่า ถ้าฉันขอโทษแปลว่าฉันยอมรับสิว่าฉันผิด แต่ฉันผิดหรือไม่ผิดหรือใครผิด ผมคิดว่าทุกคนมีเหตุผลของตัวเองหมด ต่อให้คนที่ทำผิดก็มีเหตุผลของการทำผิด เพราะฉะนั้น เรื่องใครผิดใครถูก พอมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผลมันต้องมาว่ากันยาวๆ  

 

แต่ถ้าให้ผมแปลแบบสบายใจของผมเอง และอาจจะทำให้ไม่ต้องคิดว่าใครผิดใครถูก ไม่งั้นเถียงกันอีกยาว ผมจะแปล ‘โทษ’ ในคำว่าขอโทษให้ไปเป็นคำที่ออกเสียงคล้ายกัน นั่นคือคำว่า ‘โทสะ’ ที่แปลว่าความฉุนเฉียว ความโกรธ

 

ขอโทษ จะได้แปลว่า ‘ขอความโกรธ ขอความฉุนเฉียวที่เธอรู้สึกอยู่มาให้ฉันเถอะนะ เธอแบกไว้มันก็ร้อนอยู่ เอามาให้ฉันแล้วเธอจะได้สบายใจ ฉันรู้ว่าเธอไม่สบายใจ’ แล้วเดี๋ยวเราเอาความโกรธออกจากตัวเขาไปไว้ทำให้มันหายไป แต่ขอมาก่อน 

 

พอแปลแบบนี้ ผมคิดว่ามันตัดบริบทเรื่องใครผิดใครถูก ลงโทษฉันเถอะ ออกไป ให้เป็นเรื่องของความห่วงใย ห่วงว่าเธอโกรธแล้วเธอจะร้อนรนอยู่ในใจ ฉันขอ เอามาให้ฉันเถอะ เดี๋ยวฉันไปมีกระบวนการย่อยสลายมันเอง 

 

พักเรื่องผิดถูกไว้ แล้วโฟกัสที่ความห่วงใยก่อน ทีนี้การขอโทษมันง่ายขึ้นไหมครับ ว่าไหม

 

พอเป็นเรื่องเหตุผลมันมีคนถูกผิด แต่พอเป็นเรื่องความรู้สึก ต่อให้เราไม่ใช่คนทำผิด แต่เรารู้สึกไม่ดีที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เราก็ขอโทษได้

 

หรือถ้าคำว่าขอโทษจะทำให้คิดมาก ใช้คำว่า ‘ขออภัย’ น่าจะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น เราไม่ได้ขอการลงโทษ แต่เราขอการให้อภัย ให้อภัยมันดีกว่าการให้โทษอีกนะครับ 

 

พอขอโทษ ให้อภัยกันแล้ว ทุกคนมองหน้ากันด้วยดีแล้ว ทีนี้จะคุยกันด้วยเหตุผลได้ครับ ถ้ามันจะต้องมีการเคลียร์กันเพื่อปรับปรุงแก้ไขกันต่อไปก็จะคุยกันได้ง่ายหน่อย แต่ถ้าไม่ปรับอารมณ์ทั้งคู่ด้วยการขอโทษ จะให้มาคุยกันด้วยเหตุผลคงยาก 

 

ว่าด้วยเรื่องการขอโทษแล้ว มีสามคำที่ผมอยากเขียนถึงก็คือ ขอโทษ ขอโทษแล้วกัน ขอโทษแล้วไง

 

สามคำนี้มีคำว่าขอโทษเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกันสิ้นเชิง และผมคิดว่าเรื่องนี้เราน่าจะมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานและการใช้ชีวิตของเราครับ เพราะแน่นอนว่าคนเราย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้น บางครั้งเราก็ทำร้ายความรู้สึกคนอื่นโดยไม่รู้ตัว (หรือบางทีก็รู้ตัวและหวังผลด้วยนะครับ) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรารู้สึกอยากจะขอโทษคนอื่น เราควรทำอย่างไร

 

‘ขอโทษ’ เป็นคำที่เราใช้เมื่อทำผิดพลาด คำนี้พูดลอยๆ ไม่มีความหมายครับ (ไม่พูดเลยยิ่งแย่กว่าเดิมอีก) คำนี้จะมีความหมายอย่างที่มันควรจะเป็นได้ก็ต่อเมื่อผู้พูดรู้สึกผิด ตระหนักได้ว่าเราทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นหรือ ‘มีส่วน’ ทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย และต้องการแสดงความรับผิด (ชอบ)

 

ผมใช้คำว่า ‘มีส่วน’ ทำให้เกิดความผิดพลาดนะครับ เพราะบางความผิดพลาดอาจจะไม่ได้มาจากเราคนเดียวโดยตรง บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นแต่มันเป็นไปแล้ว แต่เมื่อเรามีส่วนแม้จะเพียงเล็กน้อยที่ทำให้เกิดความเสียหาย แล้วความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราบอกว่าเราควรต้องแสดงความรับผิด (ชอบ) ออกมา ก็เป็นเรื่องดีครับที่เราจะเอ่ยปากขอโทษ

 

เยอะไปนะครับที่เวลา ‘รับชอบ’ นี่ถลากันมารับเครดิตเชียว แต่เวลา ‘รับผิด’ นี่กริบเลย แกล้งตาย หงายการ์ดไม่รู้ไม่ชี้ไม่เห็นไม่ผิดกันไป ตัวอย่างก็มีให้เห็นเยอะเชียว ตัวอย่างที่ไม่ดีนะครับ ไม่ต้องทำตาม 

 

อย่างกรณีของคุณเหมือนกันครับ เรื่องใครทำผิดทำถูกก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณรู้สึกว่ามีส่วนทำให้เพื่อนไม่สบายใจ ดีเสียอีกนะครับที่คุณจะทำให้เขารู้ว่าคุณเป็นห่วงความรู้สึกของเขา 

 

คุณอาจจะไม่ได้ทำผิด แต่คุณรู้สึกผิดหรือรู้สึกไม่ดีที่มีส่วนทำให้เพื่อนไม่สบายใจ นั่นแหละครับหัวใจสำคัญที่สามารถแสดงออกผ่านการขอโทษ การขออภัยได้ แต่ไม่ต้องเอ่ยปากนะครับว่า “เราไม่ได้ขอโทษเพราะเราทำผิด แต่เราขอโทษที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี” พูดแบบนี้วงแตกเพราะต้องมาเถียงกันอีกครับว่าใครทำผิดหรือไม่ผิด ใช้คำพูดว่า “เราเสียใจที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี เราขอโทษ” แค่นี้ก็สื่อความหมายได้ดีแล้วครับ

 

อย่างที่บอกครับว่าคำนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าคนพูดไม่ได้รู้สึกผิด สักแต่ว่าพูดขอโทษออกมา หรือรู้สึกผิดนั่นแหละแต่ไม่สามารถสื่อออกมาให้ผู้ฟังสัมผัสได้ว่ารู้สึกผิดจริงๆ เสียใจจริงๆ ขอโทษจริงๆ คำว่าขอโทษก็จะไม่มีความหมาย

 

ทีนี้อยากสื่อออกมาให้คนรู้ได้อย่างไรว่ารู้สึกผิดจริงๆ? ต้องเล่นใหญ่บีบน้ำตาไหม อันนี้ผมว่าความรู้สึกมันปลอมกันไม่ได้ แสดงออกแบบปลอมๆ ไม่จริงใจ คนเขาก็ดูออก ถ้ารู้สึกผิดจริงๆ มันสื่อออกมาได้เองเป็นธรรมชาติทั้งน้ำเสียง แววตา การกระทำ คนฟังสัมผัสความจริงใจได้เอง เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเค้น หัวใจเรารู้สึกอย่างไร สื่อสารมันออกมาแบบนั้นอย่างจริงใจ

 

วิธีการขอโทษก็สำคัญครับ ส่งไลน์ไปขอโทษ ฝากคนอื่นไปบอก เจอกันหน้าลิฟต์โดยบังเอิญเลยพูดขึ้นมา นัดหมายเพื่อไปขอโทษถึงที่ ประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการ ฯลฯ แต่ละวิธีมีความหมายที่บ่งบอกถึงความจริงใจและความตั้งใจอยากจะขอโทษที่ต่างกันหมด เลือกวิธีที่เรารู้สึกว่า เหมาะสมกับกาลเทศะและความจริงใจของเราที่สุด ที่สำคัญ ต้องเป็นวิธีที่อีกฝ่ายอยากได้ยินคำขอโทษจากเราด้วยวิธีนั้น

 

Timing ในการขอโทษก็เป็นเรื่องสำคัญครับ ขอโทษให้ไว ขอโทษทันทีที่รู้สึกผิดและพร้อมจะสื่อสารออกมา ยิ่งปล่อยเวลาผ่านไปยิ่งสร้างความเสียหาย ขอโทษช้า ปัญหาก็จะยิ่งลุกลาม มาขอโทษทีหลังแทนที่จะรู้สึกดีจะกลายเป็นว่า ทำไมรู้สึกตัวว่าผิดช้าจัง หรือความรู้สึกผิดมันอยู่ห่างหลายล้านปีแสงกว่าจะเดินทางมาถึง หรือกำลังหวังอยู่ว่าให้มีดราม่าใหม่ๆ มากลบกระแส

 

ขอโทษช้าก็เหมือนไม่รู้สึกผิด เหมือนมาขอโทษเพราะจำเป็น สถานการณ์บีบคั้นให้ต้องขอโทษ ทั้งที่มีโอกาสให้ขอโทษอยู่ก่อนหน้านี้ตั้งนาน แต่ความรู้สึกผิดเดินทางมาไม่ถึง เห็นอยู่ว่าไฟกำลังไหม้แต่ปล่อยไว้ก่อนไฟมันก็ยิ่งลุกลาม เวลาในการขอโทษจึงมีความหมายมากครับ

 

‘ขอโทษแล้วกัน’ เพียงแค่เพิ่มคำว่า ‘แล้วกัน’ เข้ามา ความหมายจะเปลี่ยนไปทันที เพราะมันให้ความรู้สึกว่าไม่ได้ ‘เต็มใจ’ จะขอโทษ แต่ ‘จำใจ’ จะขอโทษ แปลความหมายได้ว่า ‘ไม่ได้รู้สึกผิดหรอกนะ แต่เอางี้ ขอโทษแล้วกัน จะได้จบ โอเคเนอะ เจ๊าๆ กันไป’ เห็นภาพไหมครับ

 

เจอใครขอโทษด้วยคำว่า ‘ขอโทษแล้วกัน’ นี่แทนที่จะรู้สึกดี กลับรู้สึกว่า…แล้วกัน! ตายตอนจบ!

 

‘ขอโทษแล้วไง’ นี่ยิ่งแล้วใหญ่เลยครับ เพราะแปลความหมายได้ว่า ‘ก็ขอโทษแล้วไง จะเอาอะไรอีก!’ มีความอาละวาดฟาดงวงฟาดงาอยู่เหมือนกันนะครับ นอกจากจะสื่อว่าไม่ได้รู้สึกผิดอะไรเลยแล้ว ไม่ได้อยากจะขอโทษด้วย แต่ในเมื่ออยากได้ยินคำว่าขอโทษนักก็พูดให้ฟังแล้วไง ยังไม่หายโกรธอีก จะเอาอะไรกันนักกันหนา กลายเป็นการสื่อสารออกไปว่า ฝ่ายที่ตอนแรกเข้าซีนมารับคำขอโทษเป็นฝ่ายผิดที่ไม่ยอมหายโกรธ ไม่ยอมให้อภัย — ผิดขึ้นมาซะงั้น — แล้วเรื่องมันจะจบไหมล่ะนั่น

 

คำพูดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากนะครับ จะช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาใหม่ก็เพราะคำพูดนี่แหละ 

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ หัวใจของมันมีเรื่องเดียวเลยครับว่าเรา ‘ใส่ใจ’ แค่ไหน

 

ถ้าเราไม่ใส่ใจ ทุกอย่างจะเป็นเรื่องยากหมดครับ เราจะไม่รู้สึกผิด เราจะไม่สนใจว่าความผิดพลาดมันสร้างปัญหาแค่ไหน จะขอโทษก็ยากเย็นเหลือเกิน ต่อให้เราขอโทษ เราก็จะเลือกใช้คำพูดที่ไม่ได้กลั่นกรองว่าจะทำร้ายความรู้สึกคนอื่นต่อหรือเปล่า (คือจริงใจว่าไม่ได้รู้สึกผิด) เราจะเลือกแสดงออกว่าไม่จริงใจ เราจะพูดแต่สิ่งที่เราอยากพูดและคนอื่นจงฟัง ไม่ใช่พูดในสิ่งที่คนฟังอยากฟัง เราจะโทษคนอื่นโดยมองไม่เห็นว่าตัวเองมีส่วนต่อความผิดพลาดอย่างไร ความกระตือรือร้นอยากจะแก้ปัญหาก็อย่าหวังว่าจะมี ปล่อยผ่านไปเลยจ้า!

 

แต่ถ้าเราใส่ใจ อยากจะดูแลความรู้สึกของคนอื่น อยากทำให้คนอื่นมีความสุข เราจะ ‘เซนส์’ ได้ไวมากว่าเราสร้างความเสียหายให้คนอื่นอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าเซนส์ได้ก็จะไม่ปล่อยผ่านให้เวลาล่วงเลย เราจะไม่รู้สึกตัวช้า เพราะเรารู้ว่าทุกนาทีที่ผ่านไปโดยไม่ขอโทษกันกำลังทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นอยู่

 

ถ้าเราใส่ใจ เราจะสัมผัสได้ถึงความทุกข์ของคนอื่น เพราะฉะนั้น คำว่า ‘ขอโทษ’ จะออกจากปากของเราอย่างจริงใจที่สุด ง่ายที่สุด เพราะมันคือสิ่งที่เรารู้สึกเต็มหัวใจ และการขอโทษของเราจะมีความหมาย

 

ถ้าเราใส่ใจ เราจะรู้ว่าความรู้สึกของคนนั้นละเอียดอ่อน ทุกคำพูดที่ออกไปมีผลต่อหัวใจคนฟังหมด เราจะคิดก่อนพูดทุกครั้ง เราจะไม่พูดว่า ‘ขอโทษแล้วกัน’ หรือ ‘ขอโทษแล้วไง’

 

ถ้าเราใส่ใจ เราจะรู้ว่าอะไรเป็นปัญหา และตั้งใจแก้ปัญหา มีทางออกมาบอกอีกฝ่ายว่าเราจะปรับปรุงอย่างไร เราจะไม่อยู่นิ่งเฉย เราจะไม่มองว่าปัญหาเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อไรที่กระทบต่อชีวิตใครสักคนที่เราแคร์ มันเป็นเรื่องใหญ่หมด และเราจะทำทุกวิถีทางให้เขามีความสุข

 

ถ้าสิ่งไหนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่มีความหมาย ถ้าคนไหนเป็นคนที่มีคุณค่า เราจะใส่ใจ และเราจะแสดงออกเองว่าใส่ใจ

 

แต่ถ้ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้ามันไม่มีความหมาย ถ้าคนคนนั้นไม่ได้มีคุณค่าในสายตาของเรา เราก็ทำอะไรก็ได้ ไม่เห็นจะต้องแคร์ การแสดงออกของเรามันก็จะบอกแบบนั้น

 

แค่เพียงแต่ว่าเราใส่ใจหรือไม่ใส่ใจแค่ไหนก็เท่านั้น

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising