×

ส.อ.ท. ชี้ วิกฤต SVB จุดเริ่มต้นคล้าย ‘ต้มยำกุ้ง 2540’ พร้อมรับกังวล Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรงฉุดส่งออกไทย

14.03.2023
  • LOADING...

ส.อ.ท. วิเคราะห์กรณีแบงก์ SVB สหรัฐฯ ล้ม ทำตลาดเงิน ตลาดทุนผันผวนระยะสั้น ชี้บทเรียนจุดเริ่มต้นคล้ายต้มยำกุ้งของไทยปี 2540 แต่เชื่อมั่นแบงก์ไทยยังแข็งแรง แนะจับตามาตรการสกัดกั้นวิกฤตไม่ให้ลุกลามเป็นโดมิโนจากทางสหรัฐฯ พร้อมยอมรับกังวล Fed ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแตะระดับ 5.25-5.50% ฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอยกระทบการส่งออก

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐอเมริกา ต้องปิดตัวลง กระทรวงการคลังและทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ยืนยันประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ SBV รวมถึง Signature Bank ในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งถูกสั่งปิดไปแล้วนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวน

     

ขณะที่ Fed จะจัดตั้งโครงการ Bank Term Funding Program โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ถือเป็นสัญญาณที่ดี จึงต้องติดตามใกล้ชิดว่าภาพรวมจะมีทิศทางอย่างไร 

  

สำหรับประเทศไทย ยังเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินของไทย โดยเฉพาะภาคธนาคารมีความแข็งแกร่งสะท้อนจากกำไรที่สูง เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไทยเองก็มีบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้มีความระมัดระวังในการบริหารงาน บริหารความเสี่ยง

 

หวั่น Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรง กระทบส่งออกไทย

 

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่กังวลมาตลอดและยังคงต้องติดตามต่อไปคือ การที่ Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) มากขึ้น และจะกระทบต่อประเทศเกิดใหม่ที่มีฐานะการคลังอ่อนแอคิดเป็น 1 ใน 3 ของทุกประเทศทั่วโลก 

 

ประเด็นนี้จะเห็นถึงผลกระทบต่อภาคส่งออกมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงมกราคม 2566 ที่มูลค่าการส่งออกติดลบต่อเนื่อง จึงทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องลดคาดการณ์การส่งออกปี 2566 จากเดิมโต 1-2% เป็น 0 ถึง -1% จากปีก่อน ดังนั้นการส่งออกของไทยครึ่งปีแรกจึงมีแนวโน้มผันผวนในลักษณะขาลงไปตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

 

“การล้มลงของ SVB ระยะสั้นอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน และหลายคนมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น ดังนั้นต้องดูนโยบายสหรัฐฯ ที่ออกมาว่าจะสามารถสกัดกั้นการลุกลามเป็นโดมิโนถึงขั้นกลายเป็นวิกฤตใหญ่ได้หรือไม่ในระยะต่อไป โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายกังวลคือแบงก์ขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ยังคงส่งสัญญาณจะขยับดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายที่อาจไปแตะระดับ 5.25-5.50%”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising