×

คาด Fed คงนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ มองสินทรัพย์กลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้แรงหนุนมากสุด

15.12.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • SCBS CIO มอง Fed จะคงนโยบายการเงินทั้งหมดในการประชุมครั้งนี้
  • ในอนาคต Fed และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในการกำหนดนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่ โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
  • มองดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำสามารถกดบอนด์ยีลด์ระยะสั้นได้ แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและปริมาณตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ​ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1.50% ในปี 2021
  • แนะนำ ‘ลด’ สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ และ ‘เพิ่ม’ การลงทุนในหุ้น โดยมองว่าทิศทางนโยบายการเงินเป็นบวกกับการลงทุนในกลุ่ม Emerging Markets และกลุ่มวัฏจักรมากที่สุด 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS CIO) เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะ ‘คง’ นโยบายการเงินทั้งหมด โดยดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.00-0.25% มีการขยายงบดุลในพันธบัตรรัฐบาลและ Mortgage-Backed Securities ที่ระดับ 8 หมื่นและ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะไม่ต่ออายุโครงการเงินกู้ของ Fed สำหรับการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่า 4.55 แสนล้านดอลลาร์ ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ดี มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องระยะสั้น เพราะท้ายที่สุด Fed และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในการกำหนดนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่ โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแน่นอน

 

มุมมองตลาดการเงินและทิศทางนโยบายการเงินดังกล่าวจะส่งผลต่อสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาดการเงิน ดังนี้

 

  • ดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงและคาดว่ายีลด์สหรัฐฯ จะไม่ผันผวนแรง เพราะปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำใกล้ 0.00% แต่อาจจะมีแรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแรงขายสินทรัพย์ปลอดภัย มองว่า ยีลด์อายุ 2 ปี จะขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.30% ในปี 2021 ซึ่งสูงกว่าขอบบนของดอกเบี้ยนโยบายเพียงเล็กน้อย ขณะที่ยีลด์สหรัฐฯ ระยะยาวมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ และประเมินว่า ยีลด์ 10 ปีที่จะขยับขึ้นไปที่ระดับ 1.50% ในช่วงสิ้นปีหน้า 

 

  • เงินดอลลาร์ มองว่า นโยบายการเงินไม่มีผลกับเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ขณะที่ในอนาคตเชื่อว่าดัชนีดอลลาร์จะถูกขับเคลื่อนจากทิศทางนโยบายการคลังและมุมมองความเสี่ยง (Risk On หรือ Risk Off) ของนักลงทุนในตลาด เชื่อว่าเมื่อ โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ตลาดจะมีมุมมองเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จึงมองกรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ที่ระดับ 85-95จุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2021 หรือเทียบเป็นการอ่อนค่าจากปัจจุบันได้อีกราว 0-5% 

 

  • สินค้าโภคภัณฑ์ ประเมินบอนด์ยีลด์ที่ต่ำยาวนานเป็นประเด็นหนุนราคาทองคำให้ซื้อขายในระดับ 1,700-2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จุดที่ต้องระวังไม่ใช่นโยบายการเงิน แต่เป็นการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งถ้าใช้จริงได้เร็วอาจส่งผลให้ตลาดกลับไปเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งเป็นลบต่อทิศทางราคาทองคำ จึงคงมุมมองราคาทองคำสิ้นปี 2020 ที่ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมองว่า จะปรับตัวสูงขึ้นไปที่ระดับ 1,950 (+5.4%) สิ้นปี 2021

 

โดยสรุป จิติพลคาดว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed ครั้ง

นี้ไม่ได้มีผลต่อตลาดการเงินระยะสั้นมากนัก แต่ระยะยาวต้องจับตาความร่วมมือของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินสหรัฐฯ มากขึ้น

 

สำหรับนักธุรกิจไทยสามารถมองเป็นโอกาสที่จะทำการกู้ยืมดอลลาร์ในช่วงดอกเบี้ยต่ำเพื่อประกอบธุรกิจในระยะสั้นได้ แต่ควรทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมถ้าต้องการกู้เพื่อลงทุนระยะยาว ด้านผู้ส่งออกควรเตรียมพร้อมกับการอ่อนค่าของดอลลาร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากนโยบายการเงินและการคลังสหรัฐฯ ที่จะผ่อนคลายในปี 2021

 

ส่วนในฝั่งนักลงทุน ประเด็นที่ต้องจับตาเพิ่มเติมคือมุมมองของ Fed ในอนาคต แม้เชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก (ดอกเบี้ยนโยบายคงที่ไปอย่างน้อยถึงปี 2023) แต่ต้องระวังว่าถ้า Fed มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินควบคู่ไปกับการคลัง ก็อาจต้องคงดอกเบี้ยระดับต่ำนานขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลลบต่อมูลค่าของดอลลาร์ ถ้าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

 

จึงแนะนำ ‘ลด’ สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ โดยอาจกลับมาสนใจอีกครั้งเมื่อบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 1.00% ส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Emerging Markets และกลุ่มวัฏจักร น่าสนใจที่สุดในระยะสั้น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ดีในช่วงต้นของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและดอลลาร์อ่อนค่าลง

 

การประชุม FOMC ครั้งถัดไป วันที่ 26-27 มกราคม 2021

 

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising