×

ยุค ‘สกุลเงินตลาดเกิดใหม่เอเชีย’ อ่อนค่ากลับมาอีกรอบ? แล้ว ‘เงินบาท’ จะต้านทานได้แค่ไหน

18.04.2024
  • LOADING...

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ส่งสัญญาณว่าอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาดไว้ และสถานการณ์ความขัดแย้งที่ร้อนระอุในตะวันออกกลาง สกุลเงินตลาดเกิดใหม่เอเชีย (Asia EM) ต่างๆ แห่อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน 

 

โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์น่าตกใจในหลายสกุลเงิน ได้แก่

  • เยนญี่ปุ่น ที่ทะลุ 154 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 34 ปี 
  • รูปีอินเดีย ที่แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 
  • ดอลลาร์ไต้หวัน ที่อ่อนค่าสุดรอบ 8 ปี
  • รูเปียห์อินโดนีเซีย ที่อ่อนค่าหลุด 16,000 ต่อดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกตั้งแต่ปี 2022
  • วอนเกาหลีใต้ ที่อ่อนค่าหลุด 1,400 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหนักสุดในรอบเกือบ 4 ปี

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ระบุกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การอ่อนค่าของหลายสกุลเงินในเอเชียมีปัจจัยหลักมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนเลือกเพิ่ม Short Position

 

พูนยังอธิบายต่อว่า ความพิเศษของความขัดแย้งรอบนี้คืออิหร่านมีส่วนร่วม จึงทำให้หลายฝ่ายประเมินว่ามีโอกาสส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน หรือการขนส่งน้ำมัน สกุลเงินประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชีย (Asia EM) จึงได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้นำเข้าพลังงานเยอะ ตัวอย่างเช่น จีน และญี่ปุ่น ที่มีภาคการผลิตขนาดใหญ่

 

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง และทำให้ธนาคารกลางต่างๆ รวมถึง Fed คงดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาดไว้ แม้กระทั่งอาจกดดันให้ต้องขึ้นดอกเบี้ย (The Worst Case Scenario) ทำให้ดอลลาร์สหรัฐน่าจะยังแข็งแกร่งอยู่ในระยะสั้น

 

โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) จนถึงวันที่ 18 เมษายน จะเห็นว่าเยนญี่ปุ่นนับเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุด รองลงมาคือบาทไทย

 

  • เยนญี่ปุ่น 9.28%
  • บาทไทย อ่อนค่า 7.22%
  • วอนเกาหลีใต้ อ่อนค่า 6.44%
  • ดอลลาร์ไต้หวัน อ่อนค่า 5.72%
  • รูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 5.08%
  • ดองเวียดนาม 4.53%
  • ริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่า 4.01%
  • เปโซฟิลิปปินส์ 3.04%
  • สิงคโปร์ดอลลาร์ 2.91%
  • หยวนจีน 1.91%
  • รูปีอินเดีย 0.38%
  • ดอลลาร์ฮ่องกง 0.24%

 

พูนกล่าวอีกว่า บาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงต้องการซื้อทองคำอยู่ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรง รวมถึงความต้องการถือทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูง

 

ขณะที่ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย การลงมติคงอัตราดอกเบี้ยก็ช่วยประคองค่าเงินบาทได้บ้าง แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้งความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย Fed (ซึ่งจะคลี่คลายลงได้เมื่อตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่ต้องสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น) รวมถึงความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ขณะเดียวกันเงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และโฟลวธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง

 

โดยพูนยังคาดว่า โฟลวธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 6.6 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้

 

พูนกล่าวอีกว่า ตามสถิติเงินบาทมักจะอ่อนค่าด้วยตัวเองในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลแก่ต่างชาติ และเป็นช่วง Low Season ในภาคการท่องเที่ยว เงินจึงจะออกค่อนข้างเยอะ โดยเดือนเมษายนทั้งเดือนประเมินว่าจะมีการจ่ายปันผลราว 2-3 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคมที่จะมีการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 4 หมื่นล้านบาท

 

“เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม เช่น Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward” พูนกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising