×

Fed เผยผลติดตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบสัญญาณเฉียดภาวะถดถอย รอลุ้นตัวเลขไตรมาส 2

08.06.2022
  • LOADING...
ธนาคารกลางสหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยรายงานผลการติดตามตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือ Atlanta Fed’s GDPNow ซึ่งเป็นมาตรวัดทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจของ Fed ที่นำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะมุ่งไปสู่การเติบโตติดลบในช่วงไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในเชิงเทคนิคทันที เพราะเป็นไปตามคำจำกัดความของภาวะถดถอยที่การเติบโตต้องติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน

 

โดยรายงาน Atlanta Fed’s GDPNow พบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 1.3% โดยตัวเลขดังกล่าวยังลดลงจากการเติบโตในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ 1.5%

 

ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP ลดลงเหลือ 3.7% จากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 4.4% นอกจากนี้การลงทุนมวลรวมภายในประเทศของเอกชนที่แท้จริงในขณะนี้คาดว่าจะลดลง 8.5% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ประเมินว่าจะลดลงที่ 8.3%

 

ขณะที่การปรับตัวเลขภาพรวมการค้าช่วยให้ผลการประเมินโดยรวมกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย โดยการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับพันธมิตรทั่วโลก ลดลงเหลือ 87,100 ล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน ซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีต แต่ก็ลดลงมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์จากสถิติในเดือนมีนาคม ด้านการจับจ่ายทางอินเทอร์เน็ตคาดว่าการค้าจะปรับตัวติดลบ 0.13% ของสัดส่วน GDP ในไตรมาสที่ 2 จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ -0.25%

 

ทั้งนี้ การพูดถึงภาวะถดถอยได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในปีนี้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มผลกำไรของบริษัท กระนั้นบรรดานักลงทุนหลายรายในตลาด Wall Street ยังคงคาดหวังการผสมผสานของความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการเติบโตของงาน เพื่อให้สหรัฐฯ พ้นจากภาวะถดถอย

 

Joseph Brusuelas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทที่ปรึกษา RSM กล่าวว่า ประเด็นเรื่องภาวะถดถอยที่พูดกันในเวลานี้ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องราวในปี 2023 มากกว่าปีนี้ ซึ่งตามความเห็นของตน เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตช้าลง และต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าจะทำให้อัตราการเติบโตในระยะยาวกลับมาอยู่ที่ 1.8%

 

ทั้งนี้ แม้ว่าแนวคิดเรื่อง GDP ติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน มักจะถูกมองว่าเป็นภาวะถดถอย แต่ก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับภาวะถดถอย กล่าวว่า หลักการมักเป็นความจริง แต่ไม่เสมอไป ตัวอย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 มีการเติบโตติดลบเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

 

ในทางกลับกัน สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติให้คำจำกัดความว่า ภาวะถดถอยเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกระจายไปทั่วเศรษฐกิจและกินเวลานานกว่า 2-3 เดือน

 

“ภาวะถดถอยส่วนใหญ่ที่ระบุโดยขั้นตอนของเราประกอบด้วยการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงที่ลดลง 2 ไตรมาส หรือมากกว่าติดต่อกัน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยมีเหตุผลหลายประการ ประการแรกก็คือ เราไม่ได้ระบุกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย GDP จริงเพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาจากตัวชี้วัดต่างๆ ส่วนประการที่สองคือ เราพิจารณาความลึกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง” แถลงการณ์ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีช่วงใดที่มีการเติบโตติดลบต่อเนื่องกันแล้วไม่ได้ทำให้เกิดภาวะถดถอย ตามข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 1947

 

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความกลัวเรื่องเงินเฟ้อคือ Fed ซึ่งกำลังมุ่งหน้าปรับอัตราดอกเบี้ย เพื่อพยายามระงับเงินเฟ้อ โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า เห็นโอกาสที่จะลงจอดอย่างนุ่มนวล หรือ Soft Landing แม้จะมีนโยบายที่เข้มงวดขึ้นก็ตาม

 

พาวเวลล์กล่าวว่า การรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ Fed จะเข้าไปควบคุมได้ กระนั้นสิ่งที่ Fed ทำได้ก็คือ การใช้เครื่องมือที่มีอยู่เข้าไปจัดการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ และ Fed ก็กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้

 

ขณะที่เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (7 มิถุนายน) เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ขึ้นกล่าวชี้แจงต่อหน้าวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ว่า การปรับลดอัตราเงินเฟ้อควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องลงมือทำในเวลานี้

 

ขณะเดียวกันสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เมื่อสภาวะตลาดงานที่ร้อนแรงได้ผลักดันให้การขึ้นค่าแรงของบรรดาลูกจ้างชาวอเมริกันปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 อันเป็นผลจากการที่บรรดานายจ้างยอมปรับขึ้นเงินเดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดแรงงานให้ทำงานกับบริษัท

 

อย่างไรก็ตาม ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ได้ส่งผลบวกต่อผู้บริโภคชาวอเมริกันสักเท่าไรนัก ยิ่งไปกว่านั้นนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งหวั่นเกรงว่า การขึ้นค่าแรงในช่วงเวลานี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อที่ล่าสุดพุ่งแตะระดับสูงสุด 8.3% ในเดือนเมษายน ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะรายได้ที่ได้มามากก็ต้องควักจ่ายค่าอาหารและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพมากขึ้น

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ความเจ็บปวดที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องแบกรับกำลังถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อราคาน้ำมันและอาหารยังคงแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนการซื้อบ้านก็แพงขึ้นเช่นกัน โดยขณะนี้มีอัตราดอกเบี้ยจำนองที่สูงกว่า 5%

 

Scott Hoyt ผู้อำนวยการอาวุโสของ Moody’s Analytics กล่าวว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันบางคนเริ่มลดการใช้จ่ายและหันมาเก็บออมกันมากขึ้น เพราะแม้เงินเดือนจะปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นส่วนใหญ่ก็ยังตามหลังเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ค่าแรงโดยเฉลี่ยต่อชั่วโมงสำหรับคนทำงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น 1.70 ดอลลาร์ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

หมายความว่า สำหรับผู้ที่ต้องทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ได้เงินเพิ่มขึ้น 68 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มจดบันทึกในปี 1997 โดยพนักงานเต็มเวลาจะทำรายได้เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทำให้ในช่วงหนึ่งปีมีการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนเฉลี่ย 3,536 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ขณะที่ราคาน้ำมันทั่วประเทศในขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 3.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน ซึ่ง Moody’s Analytics คำนวณว่า การเพิ่มขึ้นในอัตราปีต่อปีที่ 1.81 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเกี่ยวกับน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบ 1,551 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

ด้านอัตราดอกเบี้ยบ้านที่เพิ่มขึ้น 5% จะหมายความว่า ผู้ซื้อบ้านที่ระดับราคา 375,500 ดอลลาร์ ด้วยการวางเงินดาวน์ 20% และขอกู้ยืมเงินส่วนที่เหลือด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 30 ปี จะต้องจ่ายเพิ่มอีกเกือบ 4,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจ่ายดอกเบี้ยสะสมอีกประมาณ 131,150 ดอลลาร์ ตลอดอายุของการกู้เงินครั้งนี้

 

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้นส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัว หลังจากที่เฟื่องฟูในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด และต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นยังทำให้การซื้อบ้านยากขึ้น จนผู้ที่คิดซื้อบ้านบางรายต้องพับเก็บโครงการซื้อบ้านของตน

  

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising