×

จับตาเลือกตั้งอังกฤษ 2024 เมื่อลมเปลี่ยนทิศ และการเมืองพลิกขั้ว?

03.07.2024
  • LOADING...

การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2024 ซึ่งเป็นที่จับตามองอย่างมาก เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการพลิกขั้วการเมือง หลังกระแสออกมาว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative Party) ที่ครองอำนาจมายาวนานนับทศวรรษ จ่อเพลี่ยงพล้ำให้กับพรรคเลเบอร์ (Labour Party) ในศึกครั้งนี้

 

เลือกตั้งอังกฤษ 2024 มีอะไรที่น่าจับตา THE STANDARD รวมมาให้ในบทความชิ้นนี้

 

โพลล่าสุด ใครนำ-ใครตาม

 

หากดูจากภาพรวมในเวลานี้ โพลหลายสำนักชี้ตรงกันว่าพรรคเลเบอร์มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 หากท้ายที่สุดผลลัพธ์ออกมาไม่พลิกโผ ก็จะเป็นการปิดฉากการครองอำนาจของพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ยาวนานมากว่า 14 ปี และทำให้ ริชี ซูนัค หลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

 

สำนักข่าว Reuters ได้รวบรวมข้อมูลการสำรวจกว่า 50 โพล ซึ่งจัดทำโดย 9 สำนักดัง เช่น BMG, Deltapoll, Ipsos และ YouGov ซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาจัดเรียงแล้วพบว่า พรรคเลเบอร์มีแนวโน้มที่จะคว้าชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ที่ราว 40% ด้วยกัน

 

ด้านผลสำรวจของสำนักข่าว BBC ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2024 ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า 3 อันดับพรรคที่ประชาชนเทคะแนนโหวตให้มากที่สุด นำมาด้วยพรรคเลเบอร์ที่ 40% เช่นกัน ตามมาด้วยพรรคคอนเซอร์เวทีฟ 20% และพรรครีฟอร์ม 16%

 

ผลสำรวจจาก British Polling Council ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2024 ก็ออกมาในทิศทางที่ไม่ต่างกันว่า พรรคเลเบอร์นำมาที่ 40.8% ส่วนพรรคคอนเซอร์เวทีฟอยู่ที่ 20.7% และพรรครีฟอร์ม 16%

 

ขณะที่สำนักข่าว The Guardian คาดการณ์ว่า พรรคเลเบอร์จะครองเสียงข้างมากในสภาด้วยการกวาดที่นั่งไปได้ทั้งหมด 428 ที่นั่ง ส่วนพรรคคอนเซอร์เวทีฟจะได้ไป 127 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่พลิกจากการเลือกตั้งปี 2019 อยู่มากพอสมควร โดยเวลานั้นพรรคคอนเซอร์เวทีฟครองเสียงข้างมากที่ 365 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเลเบอร์ได้ไปทั้งหมด 203 ที่นั่ง

 

พรรคเลเบอร์จะชิงเก้าอี้ที่เสียไปให้กับพรรคคอนเซอร์เวทีฟตั้งแต่ปี 2015 ได้หรือไม่

 

หากย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 จะเห็นว่านั่นเป็นปีที่พรรคเลเบอร์สูญเสียที่นั่งไปให้กับพรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่างมาก ฉะนั้นแล้วการชิงเก้าอี้ที่เสียไปในพื้นที่สำคัญต่างๆ จึงเป็นปฏิบัติการสำคัญที่พรรคเลเบอร์จะต้องทำให้สำเร็จในครั้งนี้

 

เขตเลือกตั้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคเลเบอร์กุมคะแนนเสียงไว้อย่างเหนียวแน่นนั้นคาดว่าก็จะยังไม่พลิกโผ แต่ก็ยังต้องจับตาด้วยว่าพรรคเลเบอร์ชนะไปด้วยมาร์จิ้นเท่าใดในช่วงเวลาที่ผลคะแนนของเขตเลือกตั้งลีห์ (Leigh) อาเทอร์ตัน (Atherton) และดาร์ลิงตัน (Darlington) ประกาศออกมา ซึ่งจะทำให้พอทำนายได้ว่าแรงสนับสนุนที่มีต่อพรรคเลเบอร์ฟื้นตัวขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน

 

หากพรรคเลเบอร์สามารถชิงเก้าอี้ของเขตเลือกตั้งโบลโซเวอร์ (Bolsover) ซึ่ง สส. ฝ่ายซ้ายอย่าง เดนนิส สกินเนอร์ (Dennis Skinner) ครองพื้นที่เหนียวแน่นเกือบ 50 ปีมาได้ ก็จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับพรรคเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากโบลโซเวอร์แล้ว พรรคเลเบอร์ก็ยังหวังที่จะคว้าชัยชนะในเขตเลือกตั้งเกรท กริมสบีย์ (Great Grimsby) คลีทอร์ปส (Cleethorpes) และสคันทอร์ป (Scunthorpe) เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ล้วนคือเขตเลือกตั้งซึ่งเคยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเลเบอร์ ก่อนที่จะหันไปเทคะแนนให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟในการเลือกตั้งช่วงหลัง รวมถึงเขตเลือกตั้งบาสเซ็ตลอว์ (Bassetlaw) และสเพนแวลลีย์ (Spen Valley) ซึ่งหากคว้าชัยชนะมาได้ ก็จะทำให้แผนการชิงเก้าอี้สำคัญมีความสมบูรณ์มากขึ้น

 

ความท้าทายที่รออยู่

 

แต่ไม่ว่าพรรคใดจะก้าวขึ้นเป็นรัฐบาลชุดใหม่ พวกเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้าในหลายมิติ ถึงกับมีผู้กล่าวว่า ‘เป็นหนึ่งในความท้าทายที่หนักที่สุดสำหรับรัฐบาลใหม่นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2’

 

ประเด็นใหญ่ที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง หากดูตัวเลขตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา อันเป็นปีที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟก้าวขึ้นมารับบทบาทบริหารประเทศ จะเห็นว่าลักษณะการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่สดใสเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับโรคโควิดระยะแรกช่วงต้นปี 2020 ลากยาวมาถึงปัจจุบัน อัตราการเติบโตของ GDP อังกฤษถือว่าแย่เป็นอันดับรองสุดท้ายในกลุ่ม G7 ชนะแค่เยอรมนีเท่านั้น

 

แม้หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด ซูนัคจะเคยกล่าวว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพลิกกลับมาปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นด้วย แต่ เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ ก็ทราบถึงแผลใหญ่ที่อยู่ในใจประชาชนนี้ดี จึงให้คำมั่นว่าพรรคของเขาจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม G7 แถมยังเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนด้วย

 

นอกเหนือจากมิติเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาผู้อพยพก็ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตก แม้ว่าอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่ก็ยังไม่สามารถลดอัตราการย้ายถิ่นฐานลงได้ตามเป้าหมาย โดยข้อมูลจาก Reuters ระบุว่า แม้คนงานจากประเทศใน EU จะเดินทางออกจากอังกฤษมากกว่าไหลเข้าดังเช่นในอดีต แต่จำนวนผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ กลับดีดตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากอินเดียและไนจีเรีย

 

ในปี 2023 ยอดผู้ย้ายถิ่นฐานสุทธิอยู่ที่ 685,000 คน ซึ่งแม้จะลดลงจากระดับ 764,000 คนในปี 2022 แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังสูงกว่าปี 2019 ถึงเกือบ 4 เท่า ซึ่งหากยังคงจำกันได้ ปี 2019 เป็นปีที่ บอริส จอห์นสัน อดีตผู้นำจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เคยให้คำมั่นว่าจะลดตัวเลขผู้อพยพให้ต่ำลงกว่าที่ผ่านมา

 

รู้ผลเมื่อไร

 

หลังการเลือกตั้งปิดหีบ ผล Exit Poll จะเริ่มทยอยออกมาให้เห็นช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 4 กรกฎาคม 2024 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้พอเห็นเค้าลางแล้วว่าประชาชนเทคะแนนเสียงให้กับพรรคใด ใครที่อาจเป็นผู้ชนะ

 

ถึงแม้ว่า Exit Poll จะไม่ใช่การนับคะแนนอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากสถิติในอดีตจะพบว่าผลที่ออกมานั้นก็ค่อนข้างสะท้อนการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี

 

ในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. ประชาชนจะเริ่มเห็นแล้วว่าพรรคใดที่ได้ครองที่นั่งชุดแรกๆ ในสภา โดยเขตเลือกตั้งไบลท์ (Blyth) แอชชิงตัน (Ashington) โฮตัน (Houghton) และซันเดอร์แลนด์ เซาท์ (Sunderland South) คาดว่าจะรู้ผลเป็นพื้นที่แรกๆ ในช่วงเวลาประมาณ 23.30 น. ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าพรรคเลเบอร์จะเป็นผู้ที่คว้าชัยชนะไปในพื้นที่เหล่านี้

 

หลังจากเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 ผลการนับคะแนนจะหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ จนภาพทั้งหมดจะสรุปชัดเจนที่เวลาประมาณ 07.00 น. ซึ่งโลกจะได้เห็นโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่อังกฤษแล้วว่าจะเป็นพรรคใหม่อย่างเลเบอร์ตามกระแสคาดการณ์ หรือจบที่พรรคเดิมอย่างคอนเซอร์เวทีฟแบบหักปากกาเซียน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising