×

ราคาพลังงาน การเปิดเมือง และความผันผวนของค่าเงินบาท

26.10.2021
  • LOADING...
ความผันผวนของค่าเงินบาท

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ประเด็นราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ทั้งราคาก๊าซ และราคาน้ำมันเป็นประเด็นใหญ่ ที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์การลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญค่อนข้างมากว่าธนาคารกลางหลักของโลก จะจัดการอย่างไร กับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นค่อนข้างมากและมีแนวโน้มยืดเยื้อมากกว่าที่เคยคาดไว้

 

นอกจากประเด็นของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในบ้านเราเองก็มีประเด็นใหญ่เกี่ยวกับการเปิดเมืองและเตรียมตัวเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งหลังจากมีข่าวนี้ออกมาค่าเงินบาทที่เคยอ่อนค่าไปมากจนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่เคยอยู่ที่ 33.9 ต่อดอลลาร์สหรัฐ กลับแข็งค่ามาที่ประมาณ 32.2-33.3 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ผันผวนค่อนข้างเร็ว 

 

วันนี้ผมเลยอยากจะมาชวนคุยชวนคิดกันครับว่า ทั้งราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น และการเปิดเมืองเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศของเรา จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า  

 

ในประเด็นแรกที่เกี่ยวกับราคาพลังงาน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น 2-3 เดือนล่าสุด เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ และปัจจัยด้านอุปทาน ในส่วนอุปสงค์นั้นการเปิดเมืองรวมถึงการเริ่มเปิดประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดการเร่งตัวของอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าพลังงานอย่างรวดเร็ว หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ เคยยั้งๆ กันเอาไว้ก็มีการเดินหน้ากลับมาทำกันมากขึ้น (Pent-Up Demand)   

 

ในฝั่งด้านปัจจัยด้านอุปทานนั้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาพลังงาน ในช่วงหลังมากกว่าฝั่งอุปสงค์เสียอีก ก็คือ การขาดช่วงและขาดแคลนสินค้าจนกระทบต่อปริมาณสินค้าด้านพลังงานในตลาด (Supply Disruption) โดยปรากฏการณ์แบบนี้มีให้เห็นทั้งในสินค้าพลังงานในฝั่งของก๊าซและต่อเนื่องมาถึงน้ำมัน (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตที่ไม่มากพอของกลุ่มโอเปกพลัส) โดยก่อนหน้านี้ Supply Disruption ก็ยังส่งผลกระทบกับหลายๆ สินค้า ไม่ใช่แค่สินค้าที่เกี่ยวกับพลังงาน แต่ยังรวมไปถึง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งแรงงาน  

 

การเร่งตัวขึ้นของราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง (ซึ่งเป็นผลของปัจจัยฐานต่ำที่เริ่มหายไป รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่หมดอายุลง) ทำให้ตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างกังวลกับคำว่า Stagflation (ภาวะเศรษฐกิจที่โตต่ำ แต่เงินเฟ้อสูง) และกลัวว่าธนาคารกลางหลักๆ จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินในภาคธุรกิจสูงขึ้นตามไปด้วย จนกลายเป็นอีกปัจจัยมากระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงปี 70s ที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับเลข 2 หลัก อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานในปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงนั้นอยู่ค่อนข้างมาก และก็ยังไม่ได้มีธนาคารกลางหลักไหนรีบออกมาส่งสัญญาณว่าจะรีบขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ ยกเว้นธนาคารกลางอังกฤษที่เริ่มมีการพูดถึงบ้าง แต่ธนาคารกลางหลักอื่นๆ กำลังพยามปลอบตลาดการเงินโลกด้วยการส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก 

 

เช่นในกรณีของธนาคารกลางยุโรป และบางธนาคารกลางก็ใช้วิธีแบบ Wait-and-See เช่นในกรณีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ล่าสุดคุณ Powell ประธาน Fed ได้ออกมาแสดงความเห็นว่าเขาไม่คิดว่าเงินเฟ้อในระดับสูงจะเป็นเรื่องยืดเยื้อในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่เงินเฟ้อที่ล่าสุดมีการเร่งตัวขึ้นอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ในการที่จะชะลอลง   

 

นอกจากนั้นล่าสุด ในรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการกล่าวถึงประเด็นเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกว่า อัตราเงินเฟ้อสูงที่มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและปัจจัยด้านอุปทานนั้น ธนาคารกลางอาจไม่จำเป็นต้องรีบปรับนโยบายนัก แต่ในกรณีที่เงินเฟ้อที่เร่งตัวนั้น ทำให้ค่าจ้างและราคาสินค้าอื่นๆ เร่งตัวขึ้นตาม รวมถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อ ธนาคารกลางก็อาจต้องเริ่มเข้ามาดูแลได้  

 

ผมขอข้ามมาอีกประเด็นใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาที่มีผลต่อค่าเงินบาทคือ การเปิดเมืองและเปิดประเทศ หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายมาตรการด้านนี้ นอกจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว ความคาดหวังที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามา ทำให้รายได้ด้านนี้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปีนี้น่าจะขาดดุลเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 มีแนวโน้มที่จะกลับไปเกินดุลได้ในปีหน้า โดยปัจจัยนี้ทำให้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา (จากความกังวลในเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น) เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น 

 

ทีนี้ถ้าเราเอาสองเรื่องนี้ มาเชื่อมโยงกัน คือเรื่องของราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งก็จะตามมาด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น (มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13-15% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด) โดยในช่วงกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมามูลค่าสินค้าเชื้อเพลิงที่นำเข้าโตขึ้นถึง 74% และ 81% ตามลำดับ ซึ่งก็เป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ในช่วงสองเดือนนี้ขาดดุล

 

คำถามการกลับมาของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงพอที่จะชดเชยมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเร็วหรือไม่ หากราคาพลังงานโลกยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปีหน้า? แม้จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เริ่มกลับเข้ามาก็ตาม เพราะถ้าลองพิจารณาดูแล้ว มูลค่าการนำเข้า สินค้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การกลับมาของดุลบัญชีเดินสะพัดแบบเกินดุล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่เร็วนัก เห็นได้จากประมาณการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาในเดือนกันยายน ที่ระบุว่า ในปี 2022 คาดว่าจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

 

โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2022 ลงเหลือเพียง 6 ล้านคน (จากประมาณการเดือนมิถุนายนที่ 10 ล้านคน) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหนึ่งของประมาณการคือเรื่องของ สมมติฐานราคาพลังงาน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าราคาเฉลี่ยของน้ำมันดูไบอยู่ที่ 65.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล (เทียบกับล่าสุดที่ประมาณ 81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล) ซึ่งถ้าหากราคาน้ำมัน ในปัจจุบัน ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่คาดไว้ และมูลค่าการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมามากพอ ก็อาจหมายถึง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะเกินดุลเพียงเล็กน้อย อาจจะมีโอกาสกลับไปติดลบในปีหน้าได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินบาท กลับมาอีกครั้ง 

 

ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 และปัจจัย Supply Disruption คงต้องยอมรับว่า การประมาณการราคาน้ำมัน รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจต่างๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก การคาดการณ์ค่าเงินบาทก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากเข้าไปอีก แต่หากพิจารณาถึงปัจจัยที่เราได้คุยกันมา สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกับค่าเงินบาทในช่วง 3- 6 เดือนข้างหน้าคือความผันผวน (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเองด้วยเนื่องจากกำลังเป็นช่วงที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินเช่น การทำ QE Tapering ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมของ Fed วันที่ 2-3 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับนโยบายดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า) 

 

แม้ SCB CIO จะยังคงมุมมองค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐในกรอบ 33-34 ในช่วงที่เหลือของปี แต่จากแนวโน้มความผันผวนของค่าเงินที่กำลังจะมาถึง เรายังคงเชื่อว่าการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการทำ FX Hedging เป็นกลยุทธ์ที่ดีที่จะช่วยลดความผันผวนให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนครับ  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising