×

เอลนีโญทำน้ำจืดซีกโลกใต้แห้งหาย และทำให้ฤดู​หนาวในไทยเกิดช้าลง

โดย Mr.Vop
07.11.2023
  • LOADING...
พื้นดินที่แห้งแล้ง

ปี 2566 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ โลกเราได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญอย่างสมบูรณ์แบบ ประกอบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงจากภาวะโลกร้อน ผลที่เกิดคือความวิปริตแปรปรวนอย่างชัดเจนของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

 

ตามปกติในปีที่เกิดเอลนีโญ กลุ่มฝนในละติจูดเส้นศูนย์สูตรจะย้ายจากฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปฝั่งตะวันออก ผลคือมีความแห้งแล้งในกลุ่มประเทศแถบอาเซียน ตั้งแต่ทางเหนือคือประเทศไทยไปจนถึงทางใต้คืออินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย เช่น ออสเตรเลีย ที่มักจะแล้งถึงขั้นเกิดไฟป่าได้ง่ายๆ

 

อีกด้านของสภาวะเอลนีโญคือลมกรดเจ็ตสตรีมที่พัดอยู่เหนือสหรัฐฯ ไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติกจะเปลี่ยนเส้นทาง นำคลื่นความร้อน ความชื้น และฝนหนักเข้าสู่ยุโรป แอฟริกาเหนือ และอาจไปไกลถึงเอเชียตะวันออก นั่นคือจีน เกาหลี ฯลฯ

 

ก่อนหน้านี้โลกเคยเกิดสภาวะเอลนีโญรุนแรงมาแล้วในปี 2535 แต่ในปี 2566 นี้ กลับรุนแรงยิ่งกว่า ประกอบกับภาวะโลกร้อนหนุนเสริม ลมเจ็ตสตรีมที่กล่าวมาข้างต้นจึงมีความรุนแรงกว่าปกติมาก ส่งผลให้เกิดสภาพฝนตกหนักและการก่อตัวของพายุในแถบเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งในยุโรปชนิดที่ไม่พบเจอได้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

 

เริ่มจากปริมาณฝนที่ตกมากถึง 650 มิลลิเมตรในฟลอริดาเมื่อกลางเดือนเมษายน ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันไปในหลายพื้นที่ พอล่วงเข้าเดือนพฤษภาคม สภาพฝนหนักน้ำท่วมก็เริ่มเกิดในแคนาดา, อิตาลี, อังกฤษ และบอสเนีย จากนั้นในเดือนมิถุนายน ฝนรุนแรงระดับ 54 มิลลิเมตร ในชั่วโมงเดียวก็ถล่มโคโซโว นอกจากนี้ในตุรกี, เฮติ, เอกวาดอร์, คิวบา และบราซิล ก็มีฝนหนักน้ำท่วมชนิดไม่ปกติ 

 

พอเข้าเดือนกรกฎาคมก็เกิดฝนหนักทำน้ำท่วมในหลายรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ถึงระดับต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทางภัยพิบัติ ฝนหนักน้ำท่วมในจังหวัดฟุกุโอกะของญี่ปุ่นและตุรกี พอมาถึงกลางเดือนก็เกิดฝนถล่มเกาหลีใต้จนมีข่าวประชาชนติดค้างในรถบัสขณะที่เกิดน้ำท่วมในอุโมงค์

 

นอกจากฝนหนักยังมีเหตุการณ์ลูกเห็บขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 เซนติเมตรตกในเมืองอิตาลี ถือเป็นลูกเห็บขนาดใหญ่ระดับทำลายสถิติยุโรปเลยทีเดียว และพอถึงปลายเดือนก็มีฝนปริมาณ 250 มิลลิเมตรในแคนาดา เกิดน้ำท่วมในหลายรัฐจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเช่นกัน

 

ล่วงเข้าสู่ต้นเดือนสิงหาคม หลายรัฐทางตอนกลางและทางใต้ของสหรัฐฯ ก็พบกับฝนหนักน้ำท่วมอีกครั้ง ทางยุโรปก็ไม่แพ้กัน ฝนถล่มจนน้ำล้นตลิ่งในสโลวีเนีย ตามมาด้วยฝนหนักน้ำท่วมในบังกลาเทศและรัฐหิมาจัลประเทศของอินเดีย ฝนหนักน้ำท่วมในหลายมณฑลของจีนไม่เว้นแม้แต่ปักกิ่ง จากความผิดปกติของ ‘พายุทกซูรี’ ที่ปกติแล้วควรอ่อนกำลังลงเมื่อขึ้นฝั่งและเคลื่อนตัวลึกเข้าไปในแผ่นดิน แต่พายุลูกนี้กลับยังมีพลังต่อเนื่องไปอีกหลายวันจนเกิดน้ำท่วมไปทั่ว

 

เมื่อเข้าสู่เดือนกันยายน ก็มีการก่อตัวของพายุหมุนชนิดที่ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยครั้ง นั่นคือพายุหมุนคล้ายเฮอริเคนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการของพายุชนิดนี้คือ ‘เมดิเคน’ (Medicane) และในครั้งนี้ เมดิเคนที่มีชื่อว่า ‘เดเนียล’ ได้ก่อตัวขึ้น และส่งผลให้เกิดฝนหนักน้ำท่วมในประเทศทางภาคใต้ของยุโรป เช่น อิตาลี, กรีซ, ตุรกี และบัลแกเรีย จากนั้นพายุเดเนียลก็เคลื่อนตัวข้ามทะเลไปขึ้นฝั่งที่เมืองเดอร์นาของประเทศลิเบีย ก่อให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดครั้งใหญ่นั่นคือเขื่อนแตกถึง 2 แห่ง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันคน

 

อิทธิพลของสภาวะเอลนีโญในปีนี้ ยังคงส่งผลต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม ที่แม้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกเหนือแล้วก็ตาม ยังคงมีหลายประเทศต้องประสบกับฝนที่ตกหนักจนน้ำท่วมอยู่ ยกตัวอย่างเช่นรัฐสิกขิมในอินเดีย หรือแม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบียก็ไม่รอดจากฝนตกน้ำท่วมเช่นกัน 

 

ส่วนประเทศในซีกโลกใต้ก็เริ่มได้รับผลจากสภาวะฝนหนักน้ำท่วมด้วย เช่น รัฐซันตากาตารีนาในบราซิล เป็นต้น และแม้เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ก็ยังมีการ​ก่อตัวของพายุเคียรัน ซึ่งเป็นพายุ​หมุน​นอกเขตร้อนที่ก่อตัวจากกระแสลมเจ็ตสตรีมแอตแลนติก​เหนือ​ ถล่มหลายประเทศ​ในยุโรปจากการขึ้นฝั่ง​ด้วย​ความเร็ว​ลมถึง 207 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ทางด้านผลกระทบของความแห้งแล้งนั้น มีงานวิจัยที่กินระยะเวลาเก็บข้อมูลยาวนานถึง 20 ปีของ ดร.เคลวิน คอลลินส์ (Kevin Collins) นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจาก Open University ของออสเตรเลีย บ่งบอกถึงปริมาณน้ำจืดบนโลก (น้ำจืดในธรรมชาติมีเพียง 3% เท่านั้นจากปริมาณน้ำทั้งหมดในโลก ที่เหลือเป็นน้ำเค็มในมหาสมุทร และมีเพียง 1% เท่านั้นที่อยู่ในสภาพบริโภคได้ ที่เหลือเป็นน้ำจืดในรูปของน้ำแข็งตามยอดเขาหรือขั้วโลก) โดยเฉพาะในซีกโลกใต้ มีการลดลงด้านปริมาณอย่างต่อเนื่องมาตลอดช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล 

 

 

จากตัวเลขที่ทีมงานเก็บและวิเคราะห์นั้น พบว่าอิทธิพลของสภาวะเอลนีโญตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2001-2020 ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่บริโภคได้ของซีกโลกใต้เหือดแห้งไปมากกว่าซีกโลกเหนือหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในเขตอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา ออสเตรเลีย และอาเซียน และในอนาคต ผลที่เกิดนี้จะย้อนกลับไปสู่ประเทศในแถบซีกโลกเหนือด้วย เพราะจะเกิดการขาดแคลนน้ำจืดในป่าฝนขนาดใหญ่อย่างป่าแอมะซอนที่อยู่ในซีกโลกใต้ จนวันหนึ่งทั่วโลกอาจมีปัญหาวิกฤตน้ำจืดก็เป็นได้

 

 

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเรา ปีนี้ตลอดปีมีปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าปริมาณฝนปกติอย่างชัดเจนตามรายงานด้านตัวเลขที่ได้จากกรมอุตุนิยมวิทยา (ดูกราฟด้านบนประกอบ เส้นสีแดงคือปี 2566 สีเขียวเข้มคือ 2535 ที่เกิดเอลนีโญรุนแรงในรอบก่อน ล้วนอยู่ใต้เส้นเฉลี่ยปริมาณฝนปกติ) แม้ว่าเราจะพบฝนหนัก น้ำท่วมหลายครั้งตามจังหวัดต่างๆ ตลอดฤดูฝนที่ผ่านมา เช่น บางจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แต่ก็เป็นลักษณะฝนหนักในพื้นที่ไม่กว้างและตกในระยะเวลาไม่นานนัก เมื่อรวมปริมาณแล้วก็ยังคงน้อยกว่าปีก่อนๆ ที่ไม่ได้มีสภาวะเอลนีโญมาเกี่ยวข้อง และจากอิทธิพลของลมเจ็ตสตรีมของเอลนีโญ ยังส่งผลให้มวลอากาศเย็นในมองโกเลียและจีนอ่อนกำลังกว่าปกติ รวมทั้งกระแสลมตะวันออกที่ยังคงพัดแรง ทำให้ฤดูหนาวในประเทศไทยที่โดยปกติแล้วจะมาถึงในช่วงกลางเดือนหรืออย่างช้าก็ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม จะต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ตามประกาศล่าสุดของกรมอุตุฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

 

โชคยังดีที่แบบจำลองตามรายงานล่าสุดจากสถาบันวิจัยนานาชาติเพื่อสภาพภูมิอากาศและสังคมหรือ IRI มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่าสภาวะเอลนีโญครั้งรุนแรงที่เกิดในปีนี้ (สีแดงตามกราฟแท่งด้านบน) กำลังค่อยๆ บรรเทาลง และโลกจะเริ่มเข้าสู่สภาวะเป็นกลางหรือนิวทรัล (สีเทาในภาพ) ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปี 2567 เป็นต้นไป สิ่งที่เกิดในปีนี้น่าจะเป็นเหมือนคำเตือนให้โลกได้รู้ว่า สภาวะเอลนีโญที่เสริมแรงด้วยสภาพโลกร้อนนั้นสร้างความแปรปรวนให้สภาพอากาศได้มากถึงเพียงไหน บ่งบอกให้มนุษยชาติเอาใจใส่ดูแลโลกใบนี้ก่อนที่จะสายเกินไป

 

ทีมงาน ดร.เคลวิน คอลลินส์ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสาร  https://www.science.org/doi/10.1126/science.adh0716

 

ภาพ: Ethan Miller / Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising