×

ปรับธุรกิจให้รอดทุกวิกฤตด้วย Customer Insights บทวิเคราะห์จาก THE SME HANDBOOK by UOB ตอน ‘เช็กลิสต์ปรับธุรกิจให้ทันลูกค้า และบทเรียนสู้วิกฤตที่ SMEs ใช้ต่อได้จริง’ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
12.06.2021
  • LOADING...
Customer Insights

คนทำธุรกิจทุกคนรู้ดีว่า ‘ข้อมูล’ ของลูกค้าเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่จะช่วยชี้ทางสว่างให้กับธุรกิจ คำกล่าวที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ยังเป็นประโยคคลาสสิกที่ใช้ได้ดีแม้ว่าโลกการตลาดจะหมุนเร็วแค่ไหนก็ตาม ผู้ประกอบการยิ่งต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคให้มากขึ้นและเร็วขึ้นเท่าตัว

 

การทำความรู้จักลูกค้าและเทรนด์พฤติกรรมคนยุคใหม่ จึงเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งถ้าอยากเป็นผู้รอดชีวิตในโลกธุรกิจ และนี่คือบทสรุปแบบรวบย่อจากเอพิโสดที่สอง ‘เช็กลิสต์ปรับธุรกิจให้ทันลูกค้า และบทเรียนสู้วิกฤตที่ SMEs ใช้ต่อได้จริง’ จากพอดแคสต์ THE SME HANDBOOK by UOB พอดแคสต์ที่ทำหน้าที่เป็นคู่มือสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลูกค้าในวันนี้คือใคร ต้องการอะไร พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปส่งผลถึงธุรกิจ SMEs มากแค่ไหน THE STANDARD จะถอดบทเรียนสำคัญจากผู้ที่คลุกคลีอยู่กับ Customer Insights มายาวนาน สมวลี ลิมป์รัชตามร อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะมาเผยเช็กลิสต์ฉบับกะทัดรัดแต่ฮุกผู้บริโภคได้อยู่หมัดทุกธุรกิจ พร้อมถอดรหัสบทเรียนฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้งของบริษัทใหญ่ที่ทุกธุรกิจสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในช่วงโควิด-19 

 

Customer Insights

 

เผยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 และพฤติกรรมไหนมีแนวโน้มเปลี่ยนไปถาวร

จริงอยู่ที่ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และปฎิเสธไม่ได้เช่นกันว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้หลายพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากจนกลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว สมวลีวิเคราะห์ข้อมูลสรุปพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคทั้งในภาพรวมและชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมบางอย่างที่มีแนวโน้วจะเปลี่ยนไปถาวร แม้โควิด-19 จะจบแล้วก็ตาม เพราะบางพฤติกรรมเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้น เป็นอยู่ และจะอยู่ถาวร ได้แก่

 

1. Technology Adoption เทคโนโลยีจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ในอนาคตการประชุมที่ต้องบินข้ามประเทศคงมีน้อยลง เพราะโปรแกรม Zoom ทำให้ประชุมจากที่ไหนบนโลกก็ได้

 

2. Work from Home มีแนวโน้มว่าหลายบริษัทจะเปลี่ยนเป็น Home Based Office เยอะขึ้น เพราะบริษัทไม่น้อยค้นพบแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเช่าตึกหรือสำนักงานเพื่อรองรับพนักงานร้อยเปอร์เซ็นต์ 


3. E-Commerce ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย แม้แต่ผู้สูงอายุก็ซื้อของผ่านช้อปปิ้งออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ

 

4. Streaming Content เทรนด์ที่กำลังบูม และคนจะเริ่มคุ้นชินกับสิ่งนี้จนกลายเป็นพฤติกรรมระยะยาว 


5. Gaming ผลสำรวจพบว่าทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มคนเล่นเกมขยายวงกว้าง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะกลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่กลายเป็นกิจวัตรของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม 


6. Perfunctional Benefit พฤติกรรมคนยุคใหม่ จะดื่มหรือกินอะไรต้องเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง หันมาสนใจว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ป่วย เห็นได้จากเครื่องดื่มประเภท Functional Drinks ออกมาเยอะขึ้น


7. Safety ความต้องการในแง่ความปลอดภัยจะอยู่ต่อไป เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น สินค้าอย่างถุงมือยาง หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับภาคบริการจะยังคงอยู่ 


ยังมีพฤติกรรมบางส่วนที่เปลี่ยนไป น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังมองหาช่องทางทำธุรกิจ อย่าง ‘การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น’ พฤติกรรมผู้บริโภคคิดเยอะขึ้นในการจะซื้ออะไรสักอย่าง เชื่อมโยงไปกับการคิดถึงสุขภาพมากขึ้น ทำให้คนยุคนี้มีพฤติกรรม ‘การซื้อประกันเพิ่มขึ้น’

 

ด้านพฤติกรรมที่อยู่อาศัย พบว่า ในอนาคตคน Gen Y มีแนวโน้ม ‘เช่าบ้านมากกว่าซื้อ’ การผ่อนบ้าน 30 ปี ไม่ต่างอะไรกับเช่า 30 ปี และความมั่นคงก็ไม่ใช่การมีบ้านอีกต่อไป รวมถึงรูปแบบการทำงานในอนาคตของคนเจนนี้ยังย้ายงานบ่อย นั่นหมายถึงการย้ายบ้านบ่อยขึ้น 


ในขณะที่ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำให้เห็นแนวโน้มของ ‘หนี้ครัวเรือนที่จะสูงยิ่งขึ้น’ บริษัทเงินกู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบ (Non-Bank) มีมากขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับรากหญ้า ผู้ประกอบการที่มีลูกค้าอยู่ในกลุ่มนี้ดูรายได้อย่างเดียวไม่พอ ต้องดูสภาพคล่องด้วย 

 


เทรนด์อนาคตที่น่าจับตา โอกาสต่อยอดธุรกิจสำหรับ SMEs ทุกอุตสาหกรรม

สมวลีพุ่งประเด็นที่ไปกลุ่ม Urban Lifestyle เพราะเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำไปแตกยอดได้เยอะขึ้น ซึ่ง Urbanization หรือกระแสความเป็นเมืองใหญ่ เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ในประเทศก็เกิดขึ้นบ้างแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไปอีกยาวนาน ได้แก่

 

1. Gaming วงการ E-Sports เป็นตลาดที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องให้ความสนใจ ถ้าดูจากตัวเลขประชากรของประเทศไทยประมาณ 70 ล้านคน มีประชากรเล่นเกมอยู่ที่ 57% หรือ 40 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ในประเทศใกล้เคียงอย่าง อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม ก็พบการเติบโตของกลุ่มคนเล่มเกมไม่ต่ำกว่า 50% และกลุ่มคนเหล่านี้มีตั้งแต่เด็กจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ คาดการณ์ว่าเกมจะกลายเป็นไลฟ์สไตล์รูทีนของคนในอนาคต

 

2. สัตว์เลี้ยง เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น สัตว์เลี้ยงกลายเป็นเพื่อนและลูกรักเบอร์หนึ่งของบ้าน ตลาดอาหารสุนัข อาหารเสริม ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ หรือสินค้าต่างๆ รวมถึงการจัดอีเวนต์ จึงเติบโตและสามารถต่อยอดได้อีกหลายทาง 


3. Work from Home ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในอดีตจุดขายของบ้านและคอนโดคือห้องนอนและห้องรับแขก เมื่อเทรนด์ Work from Home จะคงอยู่ต่อไป จุดขายจะเปลี่ยนเป็นห้องทำงาน หรือตลาดของ Living Gadget อุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกในการ Work from Home ก็น่าสนใจ 


4. ต้นไม้ จากผู้ซื้อกลายเป็นผู้ขาย ทำให้วันนี้มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายออกจากงานประจำมาปลูกต้นไม้ขาย ทำรายได้หลักแสน 

 

5. อุปกรณ์ทำอาหาร ต่อยอดมาจากเทรนด์การอยู่บ้าน ส่งผลให้คนหันมาทำอาหารและสนใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น อุปกรณ์ทำอาหารทั้งแบบจริงจังและแบบง่ายๆ ไปจนถึงเครื่องครัวจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นต่อไป 

 

6. Self Storage ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เริ่มหันมาทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่มากขึ้น เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตต่อเนื่องและธุรกิจส่วนมากไม่มีโกดัง หรือคนที่อยู่คอนโดต้องการห้องเก็บของ ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้คอนโดอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ 


7. Plant-based Food ในอนาคตโลกจะขาดแคลนเนื้อสัตว์ เพราะประชากรโลกโตเรื่อยๆ เนื้อจะผลิตด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายมีกำหนดการขายในประเทศไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

 

3 ลิสต์ต้องเช็ก! เพื่อทำความเข้าใจ Customer Insights ในยุคนี้

 

 

1. เราขายอะไร ยุคนี้ต้องมองให้ลึกกว่าการจำกัดความว่าธุรกิจเราขายเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ หรืออาหารเท่านั้น ดูตัวอย่างร้านมัลติแบรนด์ในห้างหรือในอินสตาแกรม ไม่ได้จำกัดว่าเป็นร้านขายเสื้อผ้า แต่เอารสนิยมตัวเองเป็นตัวตั้ง จึงมีทั้งรองเท้า ของแต่งบ้าน กระเป๋า สินค้าที่เลือกมาก็เลือกด้วยรสนิยม สิ่งที่เขาขายคือรสนิยมของตัวเอง หรืออย่าง Starbucks เขาเข้าใจว่าทุกคนต้องการพื้นที่แฮงเอาต์ ยิ่งคนสมัยนี้อยู่คอนโดเยอะ Starbucks จึงวางตัวเองเป็นธุรกิจที่ขายพื้นที่พบปะ พื้นที่ส่วนกลาง ในอนาคตปั้มน้ำมัน ปตท. กำลังจะปรับตัวไปขายความเป็นคอมมูนิตี้ เลี้ยวรถเข้าปั้มมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ อีกหน่อยจะมี EV Charger 


2. เราขายใคร ไลฟ์สไตล์ลูกค้าของเราเป็นแบบไหน ทำงานอะไร อยู่บ้านแบบไหน ชอบเพลงสไตล์ไหน เลี้ยงหมาหรือเปล่า ต้องคุยกับลูกค้าให้เยอะ ยิ่งเรารู้จักบุคลิกของลูกค้าและเก็บข้อมูลเขาได้มากที่สุด มันจะพาเราเชื่อมไปทุกอย่าง เพราะเราจะรู้ว่าจะไปหาคนประเภทนี้ได้อีกที่ไหน เขาอยู่ตรงไหนกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่คุณจะต้องเปิดใจและเปิดโลกทัศน์ รับฟังสิ่งใหม่ รับฟังคนที่มีความเห็นต่าง เพราะอาจจะมีไอเดียบางอย่างซ่อนอยู่ที่เรานำไปปรับใช้กับธุรกิจได้ 


3. ขายด้วยช่องทางไหน ยุคนี้ดิจิทัลสำคัญ แต่อย่าเอะอะดิจิทัล ต้องลองทุกทาง บางธุรกิจมีทั้งหน้าร้านและออนไลน์ แต่สิ่งที่ทำให้เขา New High คือทีม Telesales ก็มี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ แอดมินหรือคนที่มาตอบคำถามให้แบรนด์ไม่ว่าช่องทางไหน ต้องดูว่าแอดมินแบบไหนจะตอบโจทย์ลูกค้าของเรา มีตัวอย่างหลายธุรกิจที่การแข่งขันสูสีแต่ชนะกันด้วยแอดมินก็มี 

 

 

มีข้อมูล Customer Insights มากมาย หยิบมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เช็กลิสต์ 3 ข้อด้านบนครบแล้ว แต่ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะนำข้อมูลในมือมาปรับใช้อย่างไรดี สมวลีบอกว่า ‘ดูลูกค้าเป็นหลัก’ พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น หากคุณทำธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มลูกค้าคือคน Gen Y ลองวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ อาจจะเกี่ยวกับสถาปนิกหรือบ้าน ก็หาข้อมูลของสิ่งนั้น เช่น ข้อมูลพบว่าคน Gen Y ตัดสินใจเช่ามากกว่าซื้อ ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ที่คน Gen Y สนใจอาจจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย หรือจะมองมุมอื่น ในเมื่ออนาคตเทรนด์เช่าบ้านจะมาแปลว่าต้องมีการย้ายบ้านก็จับตลาดรับขนย้ายบ้านเลยก็ได้ 

 

ใช้ Insights รักษาลูกค้ากลุ่มเดิม และต่อยอดลูกค้ากลุ่มใหม่ 

Insights พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่หยิบมาใช้เมื่อไรก็รอด คืออย่ามองข้ามเสน่ห์ของคนไทยเรื่องความมี Hospitality น้ำจิตน้ำใจไมตรีที่ดีจะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เสมอ อย่าขายแต่สินค้า แต่ให้ขายไมตรีจิตด้วย ทั้งการสื่อสารผ่านข้อความและทุกช่องทางการสื่อสาร แชตบอตอาจไม่เหมาะกับธุรกิจบางประเภท แอดมินหรือคอลเซนเตอร์คือตัวแทนของแบรนด์ พูดคุยกับลูกค้ากลุ่มเดิมบ่อยๆ เพื่อเก็บข้อมูลความประทับใจ จะช่วยให้เราปรับวิธีการและเรียนรู้ว่าช่องทางไหนที่สะดวกสบายกับลูกค้าเราที่สุด

 

แต่ถ้าจะต่อยอดลูกค้าใหม่ การซื้อ Google Ads อาจเป็นวิธีที่ดี แต่ยังมีวิธีอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การออกโปรโมชันที่ไม่ใช่แค่การลดราคาอย่างเดียว อาจจะเป็นการชวนเพื่อนมาเพิ่มแล้วให้ของแถมหรือลดราคาให้ ก็เป็นการเพิ่มฐานลูกค้าได้อีกทาง หรือการทำ Partnership ก็เหมาะกับการขยายฐานลูกค้าของผู้ประกอบการ SMEs ลองดูว่าสินค้าของเราสามารถพาร์ตเนอร์ทำโปรโมชันร่วมกับสินค้าของเพื่อนได้หรือไม่ 

 

‘ภาวะนี้ต้องถือเงินสด ไม่ใช่ถือกำไร’ บทเรียนจากวิกฤตของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ SMEs ต้องเรียนรู้และนำไปปรับใช้

สมวลีพาไปถอดบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ยุคที่สถาบันการเงินล้มหาย อสังหาฯ รายใหญ่ล้มตาย และนั่นทำให้วิกฤตครั้งนี้ถึงจะกระเทือนทุกคน โดนทุกธุรกิจ แต่ธุรกิจใหญ่ๆ กลับไม่เจ็บหนัก บางรายทำยอดขาย New High ไปเลย นั่นเป็นเพราะเขาซ้อมมาแล้ว ถ้าผู้ประกอบการ SMEs รายไหนนำบทเรียนเหล่านี้ไปปรับใช้ สมวลีย้ำว่า “ต่อให้เจอวิกฤตอีกรอบก็รอด!” 

 

1.ปรับตัวตลอดเวลา ไม่ใช่ปรับเพื่อรองรับวิกฤตอย่างเดียว แต่ต้องปรับเพื่อรองรับ Disruption ด้วยการ

 

  • ทบทวนเช็กลิสต์ – ขายอะไร ขายให้ใคร ด้วยช่องทางไหน 
  • สังเกตสิ่งรอบตัวตลอดเวลา – อะไรคือ New S-Curve ที่จะพาธุรกิจไปต่อได้ในระยะยาว 
  • เปิดโลกทัศน์ – พบปะคนนอกวงการให้เยอะ รู้จักคนนอกอุตสาหกรรมมาก รวมถึงการทำ Partnership 

 

2. มีวินัยทางการเงิน เพราะนี่คือตัวชี้วัดวิธีบริหารจัดการทรัพยากรของธุรกิจและความแข็งแรงของธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ นั่นคือ P&L หรือ ‘งบกำไรขาดทุน’ ต้องดูว่ากำไรที่ได้เหมาะสมและยั่งยืนหรือไม่ เช็กได้จาก

 

  • ‘หนี้’ เยอะหรือไม่? นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ปี 40 รอดมาได้ และทำ New High ได้ในปีนี้ เพราะเขาดูแลส่วนนี้อย่างดี ลองเช็กดูว่ามีอะไรบ้างที่เราลดหรือตัดได้ บางอย่างเช่าคุ้มกว่า เช่น อุปกรณ์หรือเครื่องจักร ข้อดีของการเช่าอุปกรณ์คือ เวลารายได้น้อย สามารถลดปริมาณการเช่าได้ โดยเฉพาะ SMEs ที่คิดว่าตัวเองจะเติบโตในอนาคต ต้องจัดการส่วนนี้ให้ได้

 

  • ‘รายได้’ ธุรกิจเรามีรายได้พื้นฐานหรือไม่? ในทุกธุรกิจควรจะมีรายได้ที่แน่นอนเป็นเลือดหล่อเลี้ยง เช่น รายได้ในลักษณะ Subscript Model 

 

  • ‘ค่าใช้จ่าย’ กางค่าใช้จ่ายทุกตัวและดูว่าตัวไหนตัด ลด หรือปรับเปลี่ยนได้ เพราะหนึ่งในวิธีสร้างรายได้ให้ธุรกิจก็คือการทำรายจ่ายให้ลดลง 

 

  • ‘กระแสเงินสด’ Cash is King เงินสดเป็นเส้นเลือด ดังนั้นดีที่สุดคือการขายของเป็นเงินสด หรือถ้าให้เครดิตควรให้เครดิตลูกค้าสั้นกว่าเครดิตที่เราได้รับจากเวนเดอร์ หรือเงินรับต้องเข้าเร็วกว่าเงินจ่ายออกนั่นเอง 

 

3. สำรวจเรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ ติดตามข่าวสาร นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ เช่น ปัจจุบันมีแพ็กเกจจิ้งพลาสติกห่ออาหารที่เข้าไมโครเวฟได้และยังช่วยให้เนื้อสัตว์นุ่มกว่าเดิม คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารก็ต้องคิดต่อว่า จะนำไปต่อยอดหรือเชื่อมโยงกับธุรกิจได้อย่างไร

 

4. ใช้ทุกช่องทางให้คุ้มค่า ไม่จำเป็นว่าต้องมีทุกช่องทาง แต่ต้องใช้ทุกช่องทางที่มีให้คุ้มที่สุดและต้องแอ็กทีฟช่องทางเหล่านั้นอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือต้องเก็บฐานข้อมูลลูกค้าอย่างเป็นระเบียบและนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งานเสมอ สลับสับเปลี่ยนให้ครบทุกช่องทาง เช่น ทำโปรโมชันผ่าน LINE ชิงรางวัลผ่าน SMS ทางโทรศัพท์ 

 

 

สร้างธุรกิจให้เป็น Top of Mind ของผู้บริโภคด้วยแก่น ‘4 Be’

การสร้างความเชื่อใจ ไว้ใจ จนเข้าไปอยู่ใน Top of Mind ของผู้บริโภคได้นั้น สมวลีบอกว่าถ้าทำได้ครบ 4 ข้อ ต่อให้เป็นผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กที่เพิ่งทำธุรกิจก็คว้าตำแหน่งแบรนด์ในดวงใจได้ไม่ยาก

 

Be There ต้องอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา คิดเสมือนว่าแบรนด์เป็นเพื่อนกับลูกค้า อย่าปล่อยให้ลูกค้าเรียนรู้ที่จะอยู่โดยไม่มีเรา


Be Constant ต้องมีความสม่ำเสมอในการสื่อสารกับลูกค้า ทั้งในเรื่องของความถี่ และความทั่วถึงในทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อตอกย้ำให้ลูกค้ามั่นใจว่าเขาคาดหวังอะไรจากเราได้บ้าง


Be in the Right Tone ต้องเลือกใช้โทนในการสื่อสารที่ถูกต้อง แม้ว่า Key Messages จะสำคัญ แต่คำเดียวกันแค่เติมโทนเสียงที่จริงใจเข้าไปก็อาจให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน


Be Genuine ต้องจริงใจในการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เมื่อสินค้ามีปัญหา ต้องแสดงความจริงใจที่จะแก้ไข ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญ 

 

ข้อคิดทิ้งท้าย ‘ทัศนคติสำคัญ การเปิดโลกทัศน์เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ ก็เช่นกัน’

สำหรับ SMEs ที่กำลังเผชิญวิกฤต ลองปรับทัศนคติ มองวิกฤตเป็นปัญหาชนิดหนึ่ง ถ้าบริษัทไม่มีปัญหา พนักงานบริษัทก็ไม่มีงานทำ หรือถ้าลูกค้าไม่มีปัญหา ผู้ประกอบการ SMEs จะไม่มีธุรกิจทำ ดังนั้นปัญหาเป็นสิ่งที่จะช่วยต่อยอดให้ตัวเราแข็งแรงขึ้น 

 

หากเปรียบธุรกิจเหมือนการยิงธนู วิกฤตแค่ทำให้เราต้องถอยหลังเพื่อง้างธนู แต่ถ้าฐานเรามั่นคงพอ การปล่อยลูกศรแต่ละครั้งจะแม่นยำมากขึ้น ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมักจะต้องถอยหลังเยอะมากในบ้างครั้ง แต่ถอยแล้วไม่ล้มเพราะทัศนคติในการมองปัญหา อยู่ที่ตัวเราว่าจะทำให้วิกฤตครั้งนี้มีประโยชน์หรือจะจมลงไปกับมัน อย่าลืมว่าวิกฤตเป็นสิ่งที่ต้องเกิด และมันจะเกิดอีก หน้าที่เราคือเมื่อเกิดแล้วจะทำอย่างไรต่อ หมั่นปรับตัวตามเช็กลิสต์ ขายใคร ขายอะไร ช่องทางไหน พร้อมกับเปิดโลกทัศน์ คบคนนอกวงการ เมื่อโลกเรากว้าง ทางออกเราจะเยอะขึ้น หมั่นเช็กว่าธุรกิจที่เราทำอยู่จะเกิด Disruption หรือไม่ และจะอยู่ต่อไปได้อีกกี่ปี และเตรียมหา New S-Curve อยู่เสมอ

 

และไม่ว่าอย่างไร Cash is King ต้องมีวินัยเชิงการเงิน

 

“ถ้าวันนี้คุณเลือกแล้วที่จะเป็นผู้ประกอบการ SMEs เป็นเจ้าของธุรกิจ อยากให้ทุกคนมีจิตใจที่เข้มแข็ง นี่คือกุญแจสำคัญที่สุด หากเลือกปิดกิจการแล้วออกจากตลาด คุณแพ้แน่นอน แต่ถ้าปิดแล้วเริ่มต้นใหม่ การปิดหรือการล้มครั้งนั้นจะถือว่าเป็นความสำเร็จอีกรูปแบบหนึ่ง จงมองให้ดี เลือกให้ถูก และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง”

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

FYI

THE SME HANDBOOK by UOB ดำเนินรายการโดย เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี สร้างขึ้นเพื่อเป็น ‘คู่มือเสียง’ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกำลังค้นหาวิธีเอาตัวรอดให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ โดยเนื้อหาจะให้ทั้งวิธีคิดและกรอบการลงมือทำจริงจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมยกเคสตัวอย่างที่ผู้ฟังสามารถนำไปทดลองใช้ได้กับธุรกิจของตนเอง

 

มีทั้งหมด 6 Episode

 

 

 

 

 

 

 

THE SME HANDBOOK by UOB ขอเป็นอีกหนึ่งช่องทางร่วมเดินเคียงข้างกับธุรกิจ SMEs ให้ผ่านเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising