×

“ไม่ต้องไปผลิตแข่งกับจีน เราสู้ต้นทุนเขาไม่ได้แล้ว” ไทยต้องปรับจากคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า…มองผ่านเลนส์ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน

06.04.2024
  • LOADING...
ไทย-จีน

ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงประเด็นที่รัฐบาลเตรียมจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ใครจะได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร ในระยะยาวมาตรการนี้จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน THE STANDARD WEALTH ชวนวิเคราะห์ผ่านมุมมอง ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ว่าผลกระทบเชิงบวกและลบต่อปรากฏการณ์นี้เป็นอย่างไร พร้อมฉายภาพการค้า-การลงทุนระหว่างไทยและจีน 

 

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน

 

มองเศรษฐกิจจีน ‘โต แต่โตช้าลง’

 

หากมองถึงสาเหตุหลักๆ ที่ต้องรับมือกับสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยทำให้เสียดุลการค้ามากขึ้นในระยะหลัง ต้องบอกว่าเนื่องจากเศรษฐกิจจีนในปี 2567 ยังคงมีแนวโน้ม ‘โต แต่โตช้าลง’ อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ กำลังซื้อภายในยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังมีปัญหา 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

“ส่งผลให้สินค้าที่จีนผลิตเกิดโอเวอร์ซัพพลาย อาจจะต้องหาตลาดระบายสินค้า จึงมายังประเทศอาเซียน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทยที่เจอสถานการณ์เช่นนี้ ยังมีทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ก็เจอไม่ต่างกัน”

 

ทำไมไทยยังคงขาดดุลการค้า…ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่?

 

จีนกว้างใหญ่มาก มีประชากร 1.4 พันล้านคน ใหญ่กว่าไทยหลายเท่า มณฑลต่างๆ ในจีนเทียบกับไทยได้ 20 ประเทศ หากไทยสามารถตีตลาดได้เพิ่มขึ้นเพียง 1-2% ก็ถือว่าเก่งแล้ว 

 

“ผมมองว่าหากไทยและจีนมีการค้า การลงทุน สานสัมพันธ์การค้าระยะยาว เชื่อว่าไทยจะสามารถผลักดันการส่งออกได้มากขึ้น”

 

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อยุคเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ไทยอาจจะต้องปรับแผนการผลิตจากเดิมที่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก ต้องหันมาปรับลดการผลิตและเปลี่ยนมาเป็นผู้นำเข้า   

 

“เราไม่ต้องไปผลิตสินค้าแข่งกับจีนแล้ว เพราะเราสู้ต้นทุนของจีนไม่ได้แล้วด้วยหลายๆ ปัจจัย เนื่องจากมาตรการอุดหนุนของทางภาครัฐบาลจีน อีกทั้งปริมาณการผลิตที่มีมาก ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่า ดังนั้นวันนี้อาจจะต้องปรับกลยุทธ์ไปในรูปแบบจากคู่แข่งเป็นคู่ค้า”  

 

ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับโครงสร้างโดยการลดการผลิตลง และควรจะดึงผู้ผลิตจากจีนมาเป็นพันธมิตรเพื่อผลิตแล้วลงทุน เชื่อว่าเราจะมีรายได้จากค่าที่ดิน การจ้างงาน และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี 

 

หากมองอีกแง่ก็จะสร้างรายได้ร่วมกัน และจะส่งผลให้ไทยทำกำไรกลับมาให้ประเทศ 

 

“ไทยขาดดุลการค้าจีนถึง 1.3 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ทั้งหอการค้าไทย-จีน, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการหารือกันมาโดยตลอด แต่การนำเข้าไม่ได้กระทบสินค้าทุกตัว ซึ่งหากเจาะลึกลงไปจริงๆ มีบางธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าปิโตรเคมีก็ได้ประโยชน์”

 

ไทย-จีน

 

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567) พบว่าขยายตัว 7.15% หรือประมาณ 6.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 2.9 แสนล้านบาท หดตัว 2.01% ขณะที่การนำเข้า 4.59 แสนล้านบาท ขยายตัว 10.90% ทำให้ไทยยังคงขาดดุลการค้ากับจีน 2.9 แสนล้านบาท

 

“อย่างไรก็ตาม ไทยและจีนมีกรอบข้อตกลง RCEP และอาเซียน-จีน และจีนยังให้สิทธิประโยชน์ในการลดต้นทุนขนส่งสินค้าผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว-ไทย ถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปยังจีนโดยผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ได้ด้วย”

 

รีด VAT 7% เหมาะสม

 

ส่วนมาตรการที่รัฐบาลจะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้ มองว่าเป็นอัตราที่ ‘สมเหตุสมผล’ ไม่ส่งผลกระทบต่อการค้า e-Commerce ข้ามพรมแดน สินค้าจากจีนถือว่าเป็นสินค้าที่มีราคาถูก

 

“ผมว่าการเรียกเก็บภาษีนี้ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ ซึ่งแต่เดิมทีสินค้าจีนได้เปรียบ โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทที่นำเข้ามาโดยไม่เสียภาษี ซึ่งการขึ้น VAT 7% จึงไม่กระทบ เพราะเราคุ้นเคยกับสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ว่าง่ายๆ คือสินค้าราคา 100 บาทก็จะเพิ่มขึ้น 7 บาท ซึ่งก็ถือว่าไม่มากและถือว่าแฟร์ๆ”

 

นักลงทุนจีนเชื่อมั่นไทย หวังท่องเที่ยว-ลงทุน EV หนุน GDP โต 3%

 

ณรงค์ศักดิ์กล่าวอีกว่า นักธุรกิจจีนในไทยเชื่อมั่นว่าครึ่งหลังปี 2567 จะดีกว่าครึ่งแรกของปี และมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยหรือ GDP จะโตได้ถึง 3% จากแรงหนุนหลักๆ ปีนี้จะมาจากรายได้ของการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า และอานิสงส์สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงขึ้นจากผลผลิตที่ลดลงจากปัจจัยภัยแล้ง 

 

ส่วนภาคการลงทุน ทราบว่านักลงทุนจีน โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาทำตลาดแล้วหลายค่าย และเข้ามาตั้งโรงงานแล้วในปีนี้ รวมถึงการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจยา จะหลั่งไหลเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยมากขึ้น 

 

“นักลงทุนจีนในไทยเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในไทย มีมุมมองดีขึ้นและสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง สะท้อนถึงความมั่นใจต่อการลงทุนในไทย ซึ่งไม่ใช่แค่นักลงทุนจีน แต่กำลังเห็นการเข้ามาของทุนสหรัฐฯ ยุโรป พร้อมขยายการค้าและลงทุนในอาเซียนอย่างมาก”

 

‘ฟรีวีซ่าจีน’ ไพ่ใบสำคัญของไทย 

 

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นโยบายฟรีวีซ่าทำให้ไทยได้รับอานิสงส์มาก เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้ว นักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปจีนน้อยกว่านักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาไทย เบื้องต้นประเมินว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีน 8-10 ล้านคน เดินทางมาเที่ยวไทย ดังนั้นรายได้ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยจะเป็นไปตามเป้า 30 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงเกือบเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคโควิด

 

 

อานิสงส์ที่ตามมานอกจากรายได้ ยังทำให้สายการบินมีการแข่งขันและมีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าตั๋วลดลงอีกด้วย

 

“ตอนนี้แทบไม่มีทัวร์ศูนย์เหรียญแล้ว ยุคสมัยเปลี่ยน นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะเป็นกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ จากพักโรงแรม 3 ดาว ก็เปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวด้วยตัวเองและใช้เงินต่อหัวจำนวนมากขึ้น และใช้บริการโรงแรม 5 ดาว ซึ่งปัจจัยนี้เป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเดินทางมาเยือนไทย จึงทำให้คนจีนตามรอยพักที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ และโฟร์ซีซั่นส์

 

ต่อคำถามที่ว่า มองการทำงานของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาอย่างไรนั้น ถือว่ารัฐบาลมาถูกทาง และหอการค้าไทย-จีน หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บ่อยครั้ง เพื่อร่วมกันผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้าไทยและจีน 

 

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทบทวนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ก็เป็นสิ่งที่ดี รวมถึงต้องเปิดทางให้ธุรกิจรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะสำคัญกว่าการลดดอกเบี้ย 

 

“โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่วันนี้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ต่ำมาก” ณรงค์ศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising