×

โควิด-19 ทำอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเหนื่อย ค่ายรถทยอยพักสายพานการผลิตชั่วคราว

01.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ค่ายรถยนต์หลายแห่งที่มีฐานการผลิตในไทยออกมาประกาศชะลอสายพานการผลิตชั่วคราว เพื่อป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาด ปรับกลยุทธ์รับมือกับยอดขายและการส่งออกที่หดตัว
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์ว่า ตลอดปี 2563 ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ที่ 1.9 ล้านคัน ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 2 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1 แสนล้านบาท

ตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยได้ยกระดับความรุนแรงออกไปในวงกว้างจนทำให้ภาครัฐฯ ต้องรณรงค์การใช้มาตรการ Social Distancing และ Work from Home เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ผลที่ตามมาที่ชัดเจนที่สุดคือการสร้างแรงสั่นสะเทือนกับเศรษฐกิจไทย แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชี้วัดได้ชัดเจน แต่ก็เป็นอันทราบกันว่าเมื่อต้องปิดกิจการชั่วคราว รายได้หลักของประชาชนก็ขาดหายไปมหาศาล ซ้ำร้ายวิกฤตที่เกิดขึ้นยังไม่มีกรอบเวลาที่แน่ชัดด้วยว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

 

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันคือ ‘ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์’ เนื่องจากไทยถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ภาคการผลิตจึงชะงักลง ยอดขายหดหาย เพราะผู้คนกังวลผลกระทบจากการขาดหายไปของรายได้ ฝั่งสถาบันการเงินก็ค่อนข้างมีท่าทีที่ ‘กังวล’ ต่อการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ ประกอบกับการส่งออกก็ชะลอตัว

 

 

ค่ายรถยนต์ปาดเหงื่อ ทยอยประกาศพักสายพานการผลิตชั่วคราว

เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วที่มาตรการ Work from Home เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนกักตัวและทำงานจากบ้าน ป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19

 

ค่ายรถยนต์หลายแห่งจึงเริ่มออกมาประกาศพักสายพานการผลิต ปรับกลยุทธ์ชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน เริ่มต้นที่ ‘บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด’ ที่ได้ประกาศหยุดพักสายการผลิตรถยนต์ของโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าในประเทศไทยทั้ง 3 แห่งชั่วคราว ประกอบด้วย 

 

โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ, โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า บ้านโพธิ์ และโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า เกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงระหว่างวันที่ 7-17 เมษายน 2563 

 

บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้แจ้งหยุดการเดินสายการประกอบรถยนต์ชั่วคราวของโรงงาน 2 แห่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 โดยให้พนักงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) แทน

 

บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศหยุดสายการผลิตลงทั้ง 4 แห่งในจังหวัดชลบุรีชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1-26 เมษายน 2563 นี้ ซึ่งแต่ละโรงงานจะมีกำหนดการเปิด-ปิดแตกต่างกัน โดยระหว่างนี้จะยังคงยึดนโยบายจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน 85% ของฐานเงินเดือนปกติ

 

 

เช่นเดียวกับ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ประกาศพักสายพานการผลิตในโรงงาน 1 แห่งที่ AAT ระยอง ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2563 และบริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย ที่ได้พักสายพานการผลิตชั่วคราวทั้ง 2 แห่ง (FTM และ AAT ระยอง) ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 20 เมษายน  2563 นี้เช่นกัน

 

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (1 เมษายน) บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ได้รับแจ้งจากบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถอีซูซุในประเทศไทยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ขาดแคลนทั่วโลก 

 

รวมทั้งความต้องการของตลาดในประเทศและการส่งออกก็หดตัวลง จึงทำให้บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัดสินใจระงับการผลิตรถอีซูซุที่โรงงาน 2 แห่งชั่วคราว คือที่จังหวัดสมุทรปราการและที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายนนี้

 

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันโชว์รูมและศูนย์บริการของค่ายรถยนต์ทุกแห่งยังคงเปิดให้บริการลูกค้าทั่วไปตามปกติ

 

 

ยอดขายรถยนต์ 2 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 12.7% ปรับลดเป้าผลิตปีนี้ลง 1 แสนคัน

ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ต่อสายตรงถึง สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อสอบถามภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย หลังได้รับผลกระทบรุนแรงชัดเจนจากโรคระบาดโควิด-19

 

โดยมีการเปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 นี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์) ยอดขายรถยนต์ในประเทศมีการปรับลดลงจากปี 2562 ที่ 160,385 คัน ลงมาเหลือ 139,959 คัน หรือหายไปราว 20,426 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 12.74% 

 

“สาเหตุที่ตัวเลขดังกล่าวมีการปรับลดลงมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากประเด็นที่ผู้บริโภคขาดกำลังการซื้อ เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ความยืดเยื้อของโรคระบาดโควิด-19 จึงทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป 

 

“ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดดังกล่าวเร่ิมเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนก็เดินทางออกจากบ้านน้อยลง งดการเดินทางเข้าไปยังโชว์รูมรถเนื่องจากกังวลว่าจะติดเชื้อ ขณะที่ไฟแนนซ์ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า เพราะมีการลดเป้าการเติบโตของ GDP ทั่วโลก จึงต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น”

 

 

สำหรับภาพรวมของสถานการณ์ในระยะยาวนั้น สุรพงษ์เชื่อว่ายังไม่สามารถประเมินเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ได้ เนื่องจากยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด

 

อย่างไรก็ดี ทางสภาอุตสาหกรรมได้ปรับลดประมาณการการผลิตรถยนต์ในปีนี้ลงแล้ว จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าตลอดปี 2563 ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้สูงถึงราว 2 ล้านคัน (แบ่งเป็นสัดส่วนการส่งออกและจำหน่ายในประเทศไทยเท่าๆ กันที่ 50% : 50%) ปัจจุบันได้ปรับลดลงเหลือ 1.9 ล้านคัน หรือหายไปราว 1 แสนคัน ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินความเสียหายมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท 

 

ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราอาจจะได้เห็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวลงจากเดิมอีก

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising