×

โควิด-19 กับหญิงตั้งครรภ์ และข้อมูลที่คุณแม่ต้องศึกษา

14.04.2021
  • LOADING...
โควิด-19 กับหญิงตั้งครรภ์ และข้อมูลที่คุณแม่ต้องศึกษา

 

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนครอบครัวว่าจะมีบุตรในช่วงนี้อาจมีความกังวลว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เดือนเมษายน 2564 จะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะทารกในครรภ์ รวมถึงการฉีดวัคซีน ผู้เขียนจึงรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

ความรุนแรง: โดยรวมแล้วความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ‘ต่ำ’ แต่หญิงตั้งครรภ์ผู้ป่วยเป็นโควิด-19 มีโอกาสเกิดอาการรุนแรง เช่น ความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล การนอนในห้องไอซียูสูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป และหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เหมือนกับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ 

 

อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลของกรมอนามัย (นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อ้างถึงในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564) พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโควิด-19 ในประเทศไทยจำนวน 60 ราย ไม่มีอาการป่วยรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ บางมีรายมีภาวะปอดอักเสบ แต่ไม่มีรายใดเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา

 

ผลต่อการตั้งครรภ์: หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์ก่อน 37 สัปดาห์) สำหรับสัดส่วนของการเกิดภาวะนี้ในหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโควิด-19 อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา เช่น

 

  • สหราชอาณาจักร: 12% เทียบกับ 7.5% ในหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป 
  • สหรัฐอเมริกา: 15.7% เทียบกับ 10% จากการคาดการณ์ในหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป

 

ผลต่อทารกในครรภ์: การถ่ายทอดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จากมารดามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่น้อย (2-5%) โดย

 

  • ขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการรุนแรง เพราะจะมีภาวะไวรัสในกระแสเลือด และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหลอดเลือด ทำให้ไวรัสสามารถเข้าถึงทารกในครรภ์ได้
  • ภายหลังคลอด เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ โดยทารกน่าจะติดเชื้อจากแม่หรือผู้อื่นที่ป่วยเป็นโควิด-19 หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ ส่วนการให้นมบุตรยังสามารถทำได้ 
  • เพราะจากการศึกษาไม่พบไวรัสในน้ำนมของผู้ป่วย ดังนั้นทารกจะไม่ติดโควิด-19 หากมารดาป้องกันด้วยการสวมหน้ากากและล้างมือก่อนอุ้มทารก อีกทั้งน้ำนมยังมีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่จำเป็น

 

วัคซีน: ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปลอดภัย โดย CDC ของสหรัฐฯ แนะนำว่า “ถ้าท่านตั้งครรภ์และอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการแนะนำให้ฉีดวัคซีน ท่านอาจเลือกที่จะรับวัคซีน ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน” 

 

ซึ่งแพทย์จะให้คำปรึกษาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่ฉีดหรือฉีดแล้วมีผลข้างเคียง แล้วให้ท่านเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะฉีดหรือไม่

 

แต่ถ้ากำลังวางแผนครอบครัวว่าจะมีบุตร ท่านยังสามารถรับวัคซีนได้ เพราะไม่มีหลักฐานในปัจจุบันว่าทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก และไม่จำเป็นต้องเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไปหลังได้รับวัคซีน สำหรับวัคซีนที่ต้องฉีดให้ครบสองโดส หากตั้งครรภ์หลังฉีดโดสแรก ท่านยังควรได้รับวัคซีนเข็มที่สองอยู่

 

การป้องกัน: การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และล้างมือบ่อยๆ ยังคงเป็นวิธีการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ซึ่งถ้าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้ออาจจะมีอาการรุนแรงกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป ที่สำคัญควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และฝากครรภ์ตามนัด

 

ตารางแสดงความเสี่ยงต่ออาการต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างหญิงตั้งครรภ์ปกติ และหญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นโควิด-19   

 

คำอธิบาย:

  • สีส้ม = หญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นโควิด-19, สีฟ้า=หญิงตั้งครรภ์ปกติ  
  • Maternal mortality = การเสียชีวิตของมารดา 
  • Intensive-care = การรักษาในห้องไอซียู 
  • Preterm birth = การคลอดก่อนกำหนด 
  • Stillbirth = ทารกเสียชีวิตในครรภ์ 
  • Neonatal death = การเสียชีวิตของทารก 
  • Admission to neonatal unit = การรักษาในหออภิบาลทารกแรกเกิด

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising