×

มิติวัฒนธรรมใน COP28: ลดโลกร้อนด้วยมรดกวัฒนธรรมทำอย่างไร

โดย Heritage Matters
26.01.2024
  • LOADING...
COP28

จากการประชุม COP28 ไม่มีสื่อไหนที่จะพลาดรายงานเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลด ละ เลิกใช้ พลังงานฟอสซิล และข่าวดีเกี่ยวกับกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากสภาวะโลกร้อน แต่สื่อหัวใหญ่ๆ ส่วนมากพลาดแล้วที่ไม่รายงานเรื่องหมุดหมายสำคัญในมิติวัฒนธรรมใน COP28 เลย 

 

ใน COP28 นี้ เกิดการประชุมระดับรัฐมนตรีวัฒนธรรมครั้งแรกในประวัติศาสตร์การประชุม COP ว่าด้วยการดำเนินงานเรื่องสภาพภูมิอากาศโดยใช้วัฒนธรรมเป็นพื้นฐาน โดยพูดถึงบทบาทของศิลปะ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในฐานะเครื่องมืออันสำคัญสำหรับปฏิบัติการลดโลกร้อน มีการรับรองปฏิญญาเอมิเรตส์ว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานวัฒนธรรม (The Emirates Declaration on Culture-Based Climate Action) และนั่นยังส่งผลให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มเพื่อนวัฒนธรรมเพื่อรับมือโลกร้อนในกลุ่มประเทศสมาชิก UNFCCC เพื่อเสริมแรงขับเคลื่อนทางการเมือง ในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายในการใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้งในการดำเนินงานเรื่องสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนปกป้องมรดกวัฒนธรรมจากผลกระทบของโลกร้อน

 

ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์, Shaq Koyok, Dr. Catrini Pratihari Kubontubuh ในเวทีเสวนา หัวข้อ “ศิลปะและท่วงทำนองของเอเชียในการสื่อสารปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในศาลาประเทศไทยที่ COP28” (ภาพ: สยามสมาคมฯ)

 

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็น 1 ใน 11 ผู้แทนจากสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA) ที่เดินทางไปดูไบ เพื่อนำสาระด้านวัฒนธรรมเข้าไปปรากฏอยู่ใน COP28 จึงขอนำเรื่องนี้กลับมาเล่าสู่กันฟังค่ะ 

 

Le Bui Anh Tho, สุพิชชาสุทธานนท์กุล และ กมลจันทร์ โอสถานนท์ ตัวแทนเยาวชนจากประเทศเวียดนามและไทย ขึ้นเวทีเสวนาเรื่อง ‘แปลไม่ได้ไปไม่เป็น: อุปสรรคทางภาษาในการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ UNESCO Greening Education Hub ใน COP28 (ภาพ: สยามสมาคมฯ)

 

ขอปูพื้นก่อนว่า COP ที่เรากำลังพูดถึงคือ การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Change Conference of the Parties) การประชุมปี 2566 ที่ผ่านมาจัดที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นับเป็นครั้งที่ 28 ประเทศไทยเองมีความผูกพันที่จะต้องจัดทำเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามความเหมาะสม เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

โดยทั่วไปแล้วเนื้อหาสาระของการสนทนาในการประชุม COP ก็จะเป็นเรื่องของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งต่างๆ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต และมรดกทางวัฒนธรรม หนทางแก้ไขที่อยู่ในการสนทนามาโดยตลอดก็คือ การสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การหันมาใช้พลังงานสะอาด การปรับตัวในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น 

 

มิติวัฒนธรรมที่มีปรากฏอยู่อย่างชัดเจนใน COP ที่ผ่านๆ มารวมถึงครั้งล่าสุดก็คือ เรื่องของผลกระทบต่อแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและผลกระทบจากโลกร้อนที่มีต่อชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และชุมชนท้องถิ่น พวกเขามักตกเป็นกลุ่มแนวหน้าที่ได้รับผลกระทบด้วยเหตุว่า ต้องหาเลี้ยงชีพโดยอิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก 

 

ในความเป็นจริงแล้วนอกจากมิติทางด้านผลกระทบ คณะของเราซึ่งรวมถึงสยามสมาคมฯ, SEACHA, องค์กร Climate Heritage Network และองค์กรเครือข่ายในต่างประเทศที่รวมตัวกันเป็นคณะทำงาน Culture@COP28 ได้เสนอว่า มรดกวัฒนธรรมสามารถเป็นเครื่องมือเพื่อรับมือและปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ด้วยวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่ถูกกระทำจากภาวะโลกร้อนเท่านั้น มิติทางด้านวัฒนธรรมจึงควรถูกรวมอยู่ในนโยบายเพื่อปฏิบัติการลดโลกร้อน และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ใช้ประเมินความก้าวหน้าโดยรวมของโลกจากความตกลงปารีส (Global Stocktake) 

 

การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์การประชุม COP (ภาพ: Climate Heritage Network)

 

เราได้นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบใน COP28 เช่น มีผู้แทนของคณะทำงานเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีวัฒนธรรมครั้งแรกในประวัติศาสตร์การประชุม COP ได้แก่ เจ้าหญิงดานา ฟิราส แห่งจอร์แดน ที่ได้ขึ้นกล่าวในการประชุมครั้งนี้ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการนำมิติวัฒนธรรมเข้าเป็นหัวใจของการรับมือและปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ที่มีการจัดประชุมครั้งนี้ขึ้น มีผู้นำด้านวัฒนธรรมของภาคประชาสังคมจากหลายประเทศที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้มาเป็นปีแล้ว 

 

บรรยากาศในงาน COP28 (ภาพ: สยามสมาคมฯ)

 

การประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีจาก 24 ประเทศเข้าร่วม แต่น่าเสียดายที่ 4 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย ได้รับเชิญ แต่ไม่มีประเทศใดที่มีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมเลย แม้จะสามารถเข้าร่วมทางออนไลน์ได้ก็ตาม

 

นอกจากการประชุมระดับสูงแล้ว เรายังได้นำเสนอมิติวัฒนธรรมเพื่อปฏิบัติการเรื่องโลกร้อนในกิจกรรมคู่ขนานอีกหลายเวที มีทั้งเยาวชนจากประเทศไทย สปป.ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีศิลปินจากไทยและมาเลเซีย รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านมานุษยวิทยาและสถาปัตยกรรม 

 

เราใช้ความพยายามกันอย่างหนักเพื่อระดมทุนพาคณะมาเข้าร่วมงานนี้ แต่เราก็พบว่ากิจกรรมคู่ขนานที่เราจัดเป็นเพียงจุดเล็กๆ ท่ามกลางรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันนับร้อยพันในสถานที่อันแสนกว้างใหญ่ หวังเพียงว่าจะมีคนได้ยิน ได้ฟัง และเก็บไปคิดบ้าง 

 

หอดักลมที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านเก่าของดูไบ (ภาพ: สยามสมาคมฯ)

 

มาถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านอาจจะยังมองไม่เห็นภาพว่า มิติวัฒนธรรมเพื่อปฏิบัติการเรื่องโลกร้อนนี้จะหมายถึงอะไรได้บ้าง จึงขอยกบางตัวอย่างมาให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น จากการที่ได้เดินชมย่านเก่าแถว Deira และ Alfahidi ในดูไบ สังเกตได้ว่ามีหลายอาคารทั้งเก่าและใหม่จำนวนไม่น้อยจะมีหอดักลมเป็นองค์ประกอบโบราณที่น่าสนใจ สะท้อนการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมและการปรับตัวต่อสภาพอากาศของคนในแถบทะเลทราย แต่ปรากฏว่าภายในอาคารเหล่านั้นเองก็มีเครื่องปรับอากาศแทบทั้งหมด ราวกับว่าหอดักลมนั้นทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกลักษณะพิเศษของความเป็นย่านเก่าเพียงเท่านั้น ไม่แน่ใจว่ามีอาคารเก่ากี่มากน้อยที่หอดักลมนั้นยังทำหน้าที่ของมันจริงๆ 

 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนสะท้อนวิธีคิดและความพยายามที่จะรับมือกับสภาพอากาศเขตร้อนชื้นอย่างชาญฉลาดไม่แพ้กัน เช่น ความรู้เกี่ยวกับทิศทางของแสง การถ่ายเทอากาศ การหมุนเวียนของลม และความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นแต่ละประเภท บางอย่างก็ต้องประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่อภูมิอากาศแบบนี้โดยเฉพาะ เช่น ปูนตำ ที่ช่วยให้ความชื้นในอาคารระเหยออกไปได้ หากเราถอดรหัสภูมิปัญญาความรู้ของคนรุ่นก่อน นำมาเยียวยาแหล่งมรดกที่ทรงคุณค่าที่ต้องการอนุรักษ์ หรือนำมาประยุกต์ใช้กับอาคารสมัยใหม่ ผสานเข้ากับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การรีไซเคิลอาคารเก่าเพื่อใช้ประโยชน์ในปัจจุบันอย่างถูกวิธี ก็น่าจะถือว่าเป็นปฏิบัติการรับมือกับภาวะโลกร้อนด้วยภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้ 

 

ดร. สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ Dr.Johannes Widodo, Ms. Moe Moe Lwin, Dr. Catrini Pratihari Kubontubuh, คุณกชกร วรอาคม และสุพิชขา สุทธานนท์กุล ในเวทีเสวนาหัวข้อ ‘สภาพอากาศและวัฒนธรรมเมือง: มุมมองจากเอเชีย (ภาพ: สยามสมาคมฯ)

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง เราพูดถึงความสัมพันธ์ที่ไม่อาจจะแยกขาดจากกันได้ของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอกับธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนในรูปแบบที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลต่อการเพาะปลูกและการประกอบประเพณีพิธีกรรม 

 

การที่พวกเขาใช้ประโยชน์และดูแลรักษาความสมดุลและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติมาได้นับร้อยๆ ปีต้องอาศัยภูมิปัญญาความรู้ที่สะสมมา อย่างเช่น ความรู้เรื่องการทำไร่หมุนเวียน หรือการบริหารจัดการป่าชุมชน การจัดการดิน น้ำ ลม ไฟ ป่า และสัตว์ป่า ที่ถูกกำกับไว้ด้วยความเชื่อและแนวคิดที่ว่า คนกับธรรมชาติคือลมหายใจของกันและกัน ความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหารและการบริโภคตามฤดูกาล เหล่านี้คือสิ่งที่นำพาความยั่งยืนมาให้ชุมชนและธรรมชาติ ความรู้ทั้งหมดที่พวกเขามีดังที่ยกตัวอย่างมาอาจถูกถ่ายทอดในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน 

 

ส่วนความรู้ในเรื่องสภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกภาษาหนึ่งที่ใช้ทับศัพท์กันอยู่มาก และการแปลเป็นภาษาถิ่นยังไม่แพร่หลาย จะดีแค่ไหนหากมีการเชื่อมความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่อธิบายเรื่องภาวะโลกร้อนกับความรู้ของชาวบ้านเข้าด้วยกัน และชี้ให้เห็นว่า บทบาทของชุมชนในการสังเกตการณ์ บอกเล่า หรือให้ความรู้ กับผู้ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศนั้นสำคัญอย่างไร

 

การดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติยังคงดำเนินไปอยู่ในหลายๆ สังคมของโลกใบนี้ พร้อมๆ กับการดำรงอยู่ของการผลิตและการบริโภคที่มากเกินพอดี การใช้สอยทรัพยากรที่เราไม่รู้ที่มาที่ไป ตัดขาดตัวเองจากธรรมชาติ บางคนอาจย้อนกลับไปหาวิถีดั้งเดิมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุดไม่ได้ ทุกคนจะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าวันนั้นจะมาถึงช้าหรือเร็ว 

 

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าจะในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง บริษัท ห้างร้าน สถาบันการศึกษา วงการบันเทิงและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภาครัฐ หรือแม้แต่สื่อ ทุกคนบนโลกนี้ล้วนเป็นผู้บริโภค เราสามารถปรับวิธีคิด พฤติกรรมการบริโภค และการใช้สอยทรัพยากรของตัวเราเองได้ เพราะนั่นทำให้วันหนึ่งภาคการผลิตจะต้องปรับตัวตามอุปสงค์หรือความต้องการของตลาด 

 

และเราเลือกได้ว่าการบริโภคของเราจะไปสนับสนุนใครหรืออะไร เสียงของเราสามารถส่งเสริมให้ชุมชนที่มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนร่วมกับธรรมชาติต่อไปได้

 

สองตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นเพียงผลจากการเริ่มต้นมองหาความเป็นไปได้ที่จะใช้ภูมิปัญญาความรู้ดั้งเดิม ซึ่งผ่านการคิดตกตะกอนจากคนรุ่นก่อนมาปรับใช้รับมือกับปัญหาโลกร้อน ที่นำเสนอโดยนักวิชาการและเยาวชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งบนเวทีของสยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น มิใช่งานวิจัยของผู้เขียนเองแต่อย่างใด คงจะดีไม่น้อยถ้ามีการเปิดวงสนทนาเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะมีตัวอย่างที่คิดไม่ถึงอีกมากมายที่ผู้กำหนดนโยบายในประเทศสามารถเอาไปใช้เป็นนโยบายทางวัฒนธรรม เพื่อการรับมือและปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้ 

 

ยังไม่สายที่คนในระดับผู้นำของประเทศจะตื่นตัวเรื่องนี้ การที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ภาครัฐของไทยต้องหาแนวร่วมในทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องทลายกรอบการทำงานที่อาจจะแข็งทื่อและแยกส่วนเกินไป เพิ่มหุ้นส่วนในการแก้ปัญหา เปิดรับโอกาสและความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น 

 

บทความโดย จารุณี คงสวัสดิ์ ผู้จัดการแผนกพิทักษ์มรดกสยาม สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising